ไซอิ๋ว ของดีที่สอดแทรก ไม่ใช่แค่นิทานปราบมาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 100K views



           เรื่องราวการเดินทางของพระรูปหนึ่งบนม้าขาวและสัตว์สามตัว ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีป เป็นสิ่งที่อยู่ในการจดจำของเด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียเกือบทุกประเทศ อันเนื่องมากจากความสนุกสนาน อิทธิฤทธิ์ การปราบปีศาจ และเรื่องราวการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของเหล่าลูกศิษย์ทั้งสามของพระถังซัมจั๋ง คือ เห้งเจีย (ลิง) ตือโป๊ยก่าย (หมู) และซั่วเจ๋ง (ปิศาจปลา) ซึ่งเรื่องราวของพวกเขาถูกทำซ้ำและดัดแปลงเป็นทั้งในรูปภาพยนตร์ ละคร และการ์ตูนมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน


           ไซอิ๋วเป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมจากหมู่เยาวชนมากที่สุดในวรรณกรรมเอกทั้ง 4 เรื่อง เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับสามก๊ก ความฝันในหอแดง และซ้องกั๋ง
 

ผู้แต่งไซอิ๋ว

     ไซอิ๋ว (西遊記, 西游记;Journey to the West, แปลตามตัวว่า การเดินทางสู่แดนตะวันตก) เป็นนิยายคลาสสิคของจีน แต่งขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1590 ช่วงราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน ชาวไฮ้อัง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลกังโชว) เกิดราว ค.ศ.1500 และมรณะราว ค.ศ.1582 เป็นผู้มีพรสวรรค์ทางวรรณศิลป์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สันนิษฐานว่าท่านเขียนเรื่องไซอิ๋วในช่วงบั้นปลายของชีวิต
 

         ไซอิ๋วถูกแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกก่อน พ.ศ. 2349 มีความยาว 17 เล่มสมุดไทย แต่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2417 โดยโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์



 

เรื่องย่อไซอิ๋ว

          พระถังซำจั๋ง และศิษย์ 3 คน คือ เห้งเจีย โป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง (และมีม้าอีก 1 ตัว) มีภาระกิจต้องเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฏกจากพระพุทธเจ้าที่ชมภูทวีป  เพื่อนำธรรมะมาเแพร่ให้ผู้คนพ้นจากความทุกข์ ระหว่างทางต้องผ่านเคราะห์กรรมอุปสรรคตลอดทาง ต้องเจอกับปีศาจมากมาย 
       
          ลูกศิษย์ของพระถังล้วนมีบุคลิกแตกต่างกันออกไป เห้งเจียเป็นลิงที่ฉลาดแต่ขี้โมโห หมูตือโป๊ยก่ายมีความโลภและมักมากในทางกามและกิน ส่วนซัวเจ๋งจิตใจดีแต่โง่ มีพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นผู้มีเมตตาคอยชี้แนะช่วยเหลือ

            การเดินทางไปพบพระพุทธเจ้าและอัญเชิญพระไตรปิฏก เปรียบเสมือนการเดินทางเพื่อลดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง การเดินทางผจญภัยนี้เต็มไปด้วยแง่คิด ผู้ประพันธ์ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสนุกสนานและได้สาระประโยชน์

 

มากกว่าแค่นิยายหรรษา

         แต่ในความสนุกหรรษา เรื่องราวการเดินทางปราบปีศาจเรื่องนี้กลับมีเรื่องในวงเล็บให้รู้ไม่น้อยเลยทีเดียว

          หลายๆ คนคงพอจะทราบว่า เรื่องไซอิ๋วต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เพราะเป็นการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก แต่ไม่ใช่แค่เท่านั้น อันที่จริงแล้ว ไซอิ๋วเป็นเรื่องราวที่สะท้อนปรัชญาของพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง สอดแทรกแก่นของพุทธศาสนาได้อย่างแยบยลมาก

           ตัวของผู้เขียน อู๋เฉิงเอิน เกิดในตระกูลพ่อค้า ช่วงราชวงศ์หมิงของจีน เป็นคนรอบรู้ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งการเขียน การแต่งกาพย์กลอน การเล่นหมากรุก การวาดภาพ แต่เขาก็ไม่เคยสอบได้จอหงวนสักครั้งในชีวิต ทำให้ชีวิตของเขายากจนและลำบากมาก อู๋เฉิงเอิน เดินทางไปทั่วประเทศจีน จดบันทึกเรื่องราว นิทานของแต่ละท้องถิ่น พร้อมๆ กับศึกษาจนแตกฉานในพุทธศาสนานิกายมหายาน เต๋า และมหากาพรามายณะ ซึ่งภายหลังสิ่งเหล่านี้คือวัตถุดิบในการประพันธ์มหากาพย์ไซอิ๋วซึ่งมีทั้งสิ้น 100 ตอน

           ใน เค้าขวัญวรรณกรรม หนังสือของ เขมานันทะ ปราชญ์ชาวสุราษฎร์ธานี ชี้ให้เห็นรหัสบางอย่างในเรื่องไซอิ๋ว ว่าแม้เนื้อเรื่องไซอิ๋วจะเป็นการเดินทางของพระถังซัมจั๋งกับเหล่าลูกศิษย์ แต่จริงๆ แล้วเป็นการเดินทางภายในจิตใจของชาวพุทธผู้ปฏิบัติธรรม โดยแทนเป้าหมายคือ นิพพาน (ความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน, สุญญตา) และแทนบรรดาปีศาจที่เห้งเจียปราบคือ กิเลส ตัณหาและอวิชชาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางของจิตใจสู่นิพพาน นั่นคือคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า การละวางกิเลส อันทำให้เกิดทุกข์ เพื่อบรรลุสู่การหลุดพ้น นั่นคือนิพพาน

          ตัวละครแต่ละตัวในไซอิ๋วยังแอบซ่อนสัญลักษณ์ไว้อย่างน่าทึ่ง เช่น

  • พระถังซัมจั๋ง แทน “ขันติธรรม” (สังเกตว่าในเรื่องจะใจเย็น และอดทน)

     

     
  •  ม้าขาว แทน “ความวิริยะอุตสาหะ”
  •  
  • ส่วนลูกศิษย์ทั้งสามเป็นสัญลักษณ์ของไตรสิกขา คือ 
     
  • เห้งเจียหรืออีกชื่อคือ หงอคง ในภาษาจีนจะแปลว่า “ปัญญาเห็นสุญญตา” เป็นสัญลักษณ์ของปัญญาอันฉลาด ว่องไว แต่ซุกซน ฟุ้งซ่านได้ จำต้องมีการบังคับให้อยู่ในร่องในรอย ซึ่งก็แทนด้วยห่วงรัดเกล้า
     
  • เจ้าหมูจอมตะกละและบ้าผู้หญิง ตือโป๊ยก่าย ในภาษาจีนแปลตรงๆ ว่า “ศีลแปด” นั่นคือศีลเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมและขัดเกลาเสมอๆ เพราะง่ายที่จะหลุดไปทำผิดพลาด
     
  • ซัวเจ๋ง แปลจีนเป็นไทยว่า “ภูเขาทราย” เป็นสัญลักษณ์ของสมาธิ ซึ่งต้องมีความหนักแน่น สงบจึงจะคงรูปอยู่ได้

           ธรรมชาติของทั้งสามสิ่งนี้คือ จะไม่อยู่กับร่องกับรอย แต่เมื่อทั้งสามมาอยู่ร่วมกันแล้วจึงจะเสถียร นั่นคือการจะบรรลุถึงนิพพานได้ ต้องใช้ทั้งปัญญา ศีล และสมาธิ ควบคู่กัน
 

           นอกจากนี้ ยูไล พระพุทธองค์ตามวิถีของพุทธนิกายมหายาน แปลตามตัวว่า “เช่นนั้นเอง” เป็นคำแทนการเห็นแจ้งแล้วทุกสิ่ง นั่นคือนิพพานนั่นเอง

         ในส่วนเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่สะท้อนคำสอนของพุทธศาสนาได้แก่ ตอนที่เห้งเจียตีลังกาไปถึงพระยูไลได้ก่อนที่คณะเดินทางจะไปถึง แต่ก็ไม่สามารถนำพระไตรปิฎกกลับมาได้สะท้อนหลักธรรมที่ว่า ลำพังปัญญา (แทนโดยเห้งเจีย) สามารถเข้าถึงพุทธะได้ แต่ไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ จำต้องผ่านการเดินทางตามท้องเรื่อง แต่การที่เห้งเจียเจอพุทธองค์แล้ว ทำให้เห้งเจียรู้สิ่งที่ถูกต้องแล้ว จึงไม่อาจหลงกลปีศาจหน้าไหนได้ เหตุการณ์ตอนนี้ยังโยงไปถึงมหากาพย์ของฮินดูคือ รามายณะ (รามเกียรติ์) ตอนหนุมานถวายแหวน (หนุมานเหาะไปช่วยนางสีดาได้ แต่ก็ไม่สามารถนำตัวนางกลับมาได้ ด้วยกลัวนางมีมลทิน ทำให้พระรามต้องจองถนนไปเมืองลงกาด้วยตัวเอง)

           ไซอิ๋วจึงได้รับอิทธิพลมาจากรามายณะด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่รามายณะเป็นสอดแทรกหลักธรรมคำสอนของฮินดู แต่ไซอิ๋วสอดแทรกหลักธรรมของพุทธศาสนา สิ่งที่บอกให้เห็นชัดเลยคือ ในรามายาณะ ตอนที่หนุมานแหวกอกให้ทศกัณฑ์ดู ในใจของหนุมานมีแต่สีดา (อาตมัน) และ พระราม (สัจจะ) เท่านั้น สอดคล้องกับหลักความเชื่ออาตมันหรือตัวตนสูงสุดของฮินดู แต่ในไซอิ๋ว เมื่อเห้งเจียแหวกอก ในอกของเห้งเจียกลับไม่มีหัวใจอยู่ นั่นคือหลักความว่างเปล่าหรือสุญตา ของพุทธศาสนา

            ทั้งหมดทั้งปวงที่เล่ามานี้ ไม่ใช่จะชี้ช่องให้ไปดูไซอิ๋ว แต่ต้องการจะบอกถึงกลยุทธ์แยบคายที่ศาสนิกอื่นพยายามอย่างมากมายในการเผยแผ่คำสอน แนวคิดของสิ่งที่ตนเชื่อและถือมั่น อีกทั้งที่เล่ามานี้ ก็ต้องการจะเปิดวงเล็บให้ท่านๆ เห็นว่า แค่นิทานสอนเด็กอย่างไซอิ๋ว ก็มีเรื่องสอดใส้ไว้ไม่ใช่น้อยๆ การแยกแยะและมองให้ลึกกว่าที่ตาเห็น หูได้ยินมา ย่อมเป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ สมควรกระทำ ก่อนที่จะซึมซับแนวคิดที่ไม่ใช่อิสลามไปโดยไม่รู้ตัว

          อ้อ ของแถมประจำฉบับนี้คือ การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “ดราก้อนบอล” ก็เป็นหนึ่งในงานที่ได้รับอิทธิพลจากไซอิ๋วนะครับ

 

 

 

ข้อมูลจาก

สฤณี อาชวานันทกุล(2551). อู๋เฉิงเอิน ผู้ประพันธ์มหากพย์สอนธรรมะที่คนสำคัญผิดว่าเป็นนิทาน ในหนังสือ “คน(ไม่)สำคัญ” สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊ก

ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์อะซาน ฉบับที่ 11

ภาพประกอบและที่มา เรียบเรียงจาก  :
 https://n0tebook.wordpress.com/2008/08/13/journey-to-the-west/
https://stimapanyamee.org/node/18
https://www.thaisamkok.com/category-109-%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%8B%E0%B8%A7.html