เฮฮา ภาษาถิ่น
“สวัสดีค่ะ/ครับ” “สวัสดีเจ้า” “ไปไส” “พรือ” คำทักทายน่ารักๆ ที่มักพบเจอเวลาไปเที่ยวจังหวัดต่างๆ สร้างความประทับใจแรก ได้เสมอ น่าแปลกที่ภาษาถิ่นเหล่านี้กลับมีคนพูดลดน้อยลงไป สังเกตได้จากคนรุ่นใหม่ที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดนอกเขตบางกอก เลือกใช้ภาษากลางในการสื่อสาร หรือพูดภาษาถิ่นที่หลงเหลือเพียงสำเนียง แต่ศัพท์และรูปประโยคกลายเป็นภาษากลางไปหมดแล้ว
ผู้ใหญ่อาจจะตำหนิว่าสาเหตุหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมใช้ภาษาถิ่นในต่างถิ่น เช่น พอย้ายมาเรียนมาทำงานต่างบ้านเจอคนบ้านเดียวกันกลับไม่กล้าพูดภาษาถิ่น อาจเป็นเพราะอายหรือกลัวการดูถูกว่าเป็นคนบ้านนอก แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาษาไม่ว่าภาษาใดๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เพราะ “ภาษาเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง” ที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ จึงไม่ค่อยเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร
สำหรับภาษาถิ่นที่มีหลากหลายภาษา หลากหลายสำเนียงก็หนีไม่พ้นกฎแห่งการเปลี่ยนแปลง การขาดการติดต่อของคนที่พูดภาษาเดียวกัน ยิ่งโอกาสติดต่อกันน้อยก็ยิ่งทำให้พูดภาษาต่างกันมากขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการออกเสียงที่เพี้ยนไปตามกาลเวลา ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้แต่ละถิ่นมีภาษาเป็นของตัวเองและภาษาเหล่านั้นก็ไม่คงทนถาวร
ภาษาถิ่นไม่ได้มีความสำคัญเพียงการสื่อสาร แต่ยังบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของ ท้องถิ่นและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ถือเป็นมรดกทางภาษาใน แต่ละภาคที่ควรภาคภูมิใจ เราจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์และรักษาเอกลักษณ์ของภาษาถิ่นนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลง
ภาษากลาง | ภาษาเหนือ | ภาษาใต้ | ภาษาอีสาน |
คิดถึงมาก | กึดเติงแต้ๆ เน้อ | หวังเหวิดจังฮู้ | คิดฮอดหลายหลายเด้อ |
กลับบ้าน | ปิ๊กบ้าน | หลบบ้าน | เมียบ้าน |
ไม่รู้อะไรกันนักหนา | อะหยังปะล้ำปะเหลือ | หม้ายรู้ไอไหรกันนักหนา | จั๊กอิหยัง กะด้อ กะเดี้ย |
รถชน | รถจน | รถชน | รถต๋ำ |
ราคาเท่าไร | เต๊าใด | เถ่าไหร๊ | ราคาจั๊กบาท |
ส้มตำ | ต๋ำส้ม | ส้มตำ | ตำบักหุ่ง |
อย่ารีบ | บ่าดีฟั่ง | อย่าแขบ | อย่าฟ่าว |
หิวข้าวหรือยัง | อยากข้าวยัง | เนือยแล้วม๊าย | หิวเข่าบ่ |
ไปดูหนังกันไหม | ไปผ่อหนังตวยกั๋นก่อ | ไปแลหนัง กันหวา เอาม่าย | ไปเบิ่งหนังนำกันบ่ |
ถ่ายรูปกันนะ | ถ่ายฮูปกั๋น | ถ๊ายรูปกั๋นมาต๊ะ | มาถ่ายฮูปกัน |
ไปเที่ยวกันไหม | ไปแอ่วกั๋นบ๋อ | ไปเที่ยวกันหว่า | ไปเลาะนำกันบ่ |
ฝรั่ง | บะหมั้น, บะกล้วยก๋าชมพู่ | ชมพู่ | บักสีดา |
อร่อย | ลำแต้ แต้ | หรอยจังฮู้ | แซ่บอีหลี |
มะละกอ | บะกล้วยเต้ด | ลอกอ | บักหุ่ง |
อ้ายขออู้
“ก๋านอู้กำเมืองของเฮามีเอกลักษณ์ เป๋นภาษาตี้อ่อนช้อย งดงาม แสดงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของคนเมือง ตี้ฮักความสงบ เรียบง่าย สันโดษ คนบ้านเฮาจิตใจ๋ดี เป๋นปี้เป๋นน้อง ผู้ใดมาพบมาปะก็ฮักก็ชอบ นี่คือความภูมิใจ๋ของหมู่เฮาคนเมืองแสดงถึงความเป๋นเอกลักษณ์ของคนเมือง ไปอู้ตี้ไหนตางใดคนเขากะฮู้ว่าเป๋นคนเมือง ประก๋านตี้สองยะหื้อหมู่เฮาตี้เป๋นคนเมืองฮักกั๋นมากขึ้น มีความสนิทสนมกลมเกลียวสามัคคีในหมู่เปื้อนฝูง ประก๋านตี้สามจ่วยสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของคนเมืองหื้อเป๋นตี้ฮู้จักทั่วไป”
- พิษณุกรณ์ เต็มปัน จ.น่าน
สาวใต้ขอแหลง
“ภาษาใต้เวลาแหลง โคนเท่เขาฟังไม่ออกก็รู้สึกพรือโฉ้ คิดว่าโคนใต้หน้าขลาด ชอบแหลงกันฉาวเทือน เหมือนนักเลง จริงๆ ก็หาหม้ายไหร้ เป็นเรื่องปกติ ภาษาใต้ถ้าได้ลองฟังแลเป็นภาษาเท่หนุก แลจริงใจ ตรงๆ เพราะโค่นใต้เวลาคิดพรือก็แหลงพันนั้นทำให้เป็นเสน่ห์ของภาษาใต้เท่ฟังแล้วจริงใจ”
- ปิยนุช ไชยสุวรรณ จ.พังงา
ผู้บ่าวขอเว่า
“ภาษาอีสานหรือภาษาลาวที่เค้าพากันเอิ้นกันน่ะ มันบ่แม่นภาษาลาวเด้อ มันเป็นภาษาอีสาน เว่าคือกันซือๆ ภาษาอีสานหนิมนต์เสน่ห์หนิคักเติบเด้ เว่าหนิโป้กๆ โล้ดแต่ว่าจริงใจหนิที่หนึ่ง ด่าเป็นด่า ป้อยเป็นป้อย แต่คำด่าคำป้อยหนิคือออกมาจากความหวังดี คั่นสิให้สาทะยายหนิคือสิบ่เมิ้ดดอกมื่อนี้น่ะ แต่อยากสิบอกว่าภาษาอีสานหนิสวยงามคักแห่งไปเว่าในเมืองกรุงเทพเด้อบร๊ะคนเหลียวมองตระหน่าย เค้าคือสิว่าบ้านนอกละตี้แต่บ่เป็นหยังข่อยภูมิใจในภาษาอีสานบ้านเกิดข่อย แต่มันกะมีข้อดีเด้ลองขึ้นแท๊กซี่แล้วเว่าอีสานเด้อ ลางเถื่ออาจได้ลดสิบบาทซาวบาทเด้ ”
- ณัฐภูมิ นรินทร์ จ.อุดรธานี
ภาษาถิ่น คืออะไร
ภาษาที่ใช้อยู่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศ ในประเทศไทยมีภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ และภาษาถิ่นเหนือที่เรียกว่าภาษาล้านนา ภาษาถิ่นมีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากภาษากลาง แต่แตกต่างอย่างเป็นระบบ เช่น คำที่ภาษากลางใช้ ร ภาษาเหนือจะเป็น ฮ เช่นคำว่า รัก เป็น ฮัก คำว่า เรือน เป็น เฮือน คำว่า ร้อง เป็น ฮ้อง
ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตประเภทวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ ให้ทรรศนะในการเสวนาทางวิชาการ "รู้รักภาษาไทยสัญจร" ว่า ภาษาไทยกรุงเทพมี 5 เสียงวรรณยุกต์ แต่ภาษาเหนือมี 6 เสียงวรรณยุกต์ ส่วนภาษาอีสานและภาษาใต้มีถึง 7 เสียงวรรณยุกต์
สำหรับคนภาคตะวันออกและภาคตะวันตก มีวิธีการพูดที่คล้ายๆกับคนภาคกลาง ภาษาที่ใช้คล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่สำเนียงการพูดและภาษาท้องถิ่นจะมีสร้อยคำท้าย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
ข้อมูลอ้างอิง
บทความวิจัย “ความแตกต่างระหว่างภาษาถิ่น” โดย วิจินตน์ ภาณุพงศ์, www.human.cmu.ac.th
ภาษาถิ่น มรดกที่ต้องหวงแหน, www.dailynews.co.th
แผนที่ประเทศไทย แบ่งตามภูมิภาคตามภูมิศาสตร์ของคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,
https://academic.obec.go.th
เนื้อหาที่น่าสนใจ
ภูมิใจฮัก รักษ์ภาษาถิ่น เรียนภาษาถิ่นกับ รร.พุทธจักรวิทยา
หนังสั้นเล่าอีสาน ม่วนหลาย ความหมายดี เรื่อง โฮม | Home