คำว่า ศีรษะ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12.8K views



 

            คำในภาษาไทยที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีคำหนึ่ง แต่ก็มักเขียนผิดอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะตามรถโดยสารประจำทาง มักจะพบว่าเขียนผิดเป็นประจำ นอกจากนั้นก็พบตามประกาศโฆษณาสินค้าอาหารและยา และตามนิตยสารนวนิยายทั่ว ๆ ไป ก็คือคำว่า “ศีรษะ” ซึ่งมักเขียนเป็น “ศรีษะ”อยู่เป็นประจำ ตามรถโดยสารประจำทางมักจะมีข้อความขอร้องไม่ให้ยื่นศีรษะออกนอกรถ เป็นต้น แต่คำว่า “ศีรษะ” มักจะเขียนเป็น “ศรีษะ”ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างมากเช่นกัน เพราะคำ “ศร” (ศ ศาลา ร เรือกล้ำ) นั้น เรามักออกเสียงเป็น “ส” โดยไม่ออกเสียงตัว ร กล้ำเสมอ เช่น “ศรี (สี) เศร้า (เส้า) ศรัทธา (สัด-ทา) ปราศรัย (ปรา-ไส) ฯลฯ” ดังนั้นคำว่า “ศีรษะ” จึงน่าจะเขียนเป็น “ศรีษะ” ด้วย เพราะออกเสียงว่า “สี-สะ” ไม่ใช่ “สี-ระ-สะ”

          อย่างไรก็ตาม คำนี้ต้องเขียนเป็น “ศีรษะ” เพราะมาจากคำสันสกฤตว่า “ศีรฺษ” อ่านว่า “สี-ระ-สะ” แต่ตัว ร ออกเสียงนิดเดียว เพียงกึ่งเสียง ที่เราเรียกว่า “อรรธสระ” เท่านั้น เพราะเราออกเสียงอย่างแขกไม่ได้ จึงออกเสียงเป็น “สี-สะ” ไป ทำให้ผู้ที่ไม่เคยเรียนภาษาสันสกฤตหรือไม่ใช่คนช่างสังเกต เข้าใจว่าคงจะมีลักษณะแบบเดียวกับคำว่า “ศรี ปราศรัย ศรัทธา” เป็นต้นนั่นเอง คือ สระไปอยู่ที่ตัว ร คำนี้ตรงกับคำ บาลีว่า “สีส” (สี-สะ) แต่เราไม่นิยมเขียนในรูปบาลีกัน ทั้ง ๆ ที่ความจริงเขียนง่ายกว่า เมื่อไปเขียนในรูปสันสกฤตจึงทำให้ผิดพลาดได้ง่าย ทั้งนี้เพราะมีคำอื่น ๆ เป็นแนวเทียบอยู่หลายคำดังกล่าวแล้ว

          นอกจากนั้นก็มีจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่จังหวัดหนึ่ง ซึ่งออกเสียงว่า “สี-สะ” เหมือนกัน คือ จังหวัด “ศรีสะเกษ” คำว่า “ศรีสะ” ในที่นี้หาได้หมายความว่า “หัว” ไม่ คำว่า “ศรี” ท่านใช้ ศ ศาลา ร เรือ สระอี “สะ” ก็ใช้ ส เสือ สระอะ ธรรมดา และคำว่า “เกษ” ท่านใช้ สระเอ ก ษ ฤๅษีสะกด คำว่า “เกษ” ที่ใช้ ษ สะกดนั้น จะเป็นรูปบาลีก็ไม่ใช่ จะเป็นรูปสันสกฤตก็ไม่เชิง เพราะถ้าเป็นรูปบาลีจะต้องเขียนเป็น “เกส” ส สะกด ถ้าเป็นรูปสันสกฤต ก็ต้องเขียนเป็น “เกศ” ใช้ ศ สะกด คำว่า “เกษ” ที่ใช้ ษ สะกดนี้จึงเป็นการเขียนแบบไทย ๆ ที่มีรูปร่างคล้ายแขก แต่ไม่ใช่แขก เช่นเดียวกับคำว่า “เกสร” คนเก่า ๆ ท่านนิยมเขียนเป็น “เกษร” แทนที่จะเป็น “เกสร” ซึ่งเป็นรูปบาลี

          คำว่า “ศรีสะ” ที่เป็นคำนำหน้าของจังหวัด “ศรีสะเกษ” จึงน่าจะไม่ได้หมายความว่า “หัว” เป็นแน่ ท่านจึงเขียนเป็น “ศรีสะเกษ”

          เมื่อพูดถึงคำว่า “ศีรษะ” แล้วก็นับว่าแปลกอยู่มาก เพราะคำว่า “ศีรษะ” ตามปรกติเราก็แปลว่า “หัว” แต่บางทีก็แปลว่า “ผม” เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงหัวทั้งหมด เช่น “ปลงศีรษะ” ภาษาพระท่านหมายถึง “ปลงผม” บางทีคำว่า “ศีรษะ” ก็หมายถึง “หัว” ซึ่งรวมทั้ง “ผม” ด้วย เช่น “ตัดศีรษะ” ก็คือ “ตัดหัว” นั่นเอง มีความหมายเท่ากัน

          คำว่า “หัว” กับคำว่า “ผม” บางทีก็ใช้แทนกันได้ เช่น “โกนหัว” กับ “โกนผม” ก็มีความหมายเท่ากัน “สระหัว” กับ “สระผม” ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ “ตัดหัว” กับ “ตัดผม” มีความหมายไปคนละทางเลย ใช้แทนกันไม่ได้ เราสามารถจะไป “ตัดผม” ได้เสมอ เดือนละ ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้งหรือมากกว่านั้นก็ได้ชั่วชีวิต เราไป “ตัดผม” คือไปให้เขาตัดผมได้หลายร้อยหลายพันครั้ง แต่ “ตัดหัว” นั้น ในชั่วชีวิตหนึ่ง ตัดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ภาษาไทยเรามีอะไรแปลก ๆ น่าสนใจอยู่มากเช่นนี้แหละ จึงควรที่เราจะได้สนใจและศึกษาภาษาไทยของเราให้มาก ๆ หน่อย.


 

ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๑๖๖-๑๖๗.