ลักษณนาม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ระบุไว้ว่า
ลักษณนาม (ไว) น. คำนามที่แสดงลักษณะของสิ่งต่างๆ เช่น คน ๓ คน แมว ๒ ตัว ขลุ่ย ๓ เลา ลูกคนโต หมวกใบใหญ่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้จะจัดไว้ว่าเป็นคำนาม แต่ในด้านลักษณะไวยากรณ์ไทย ลักษณนามอยู่หลังตัวเลขหรือคำบอกจำนวน หรืออยู่หลังคำนามอีกหนึ่งเพื่อเป็นการย้ำ ดังจะเห็นได้จากคำที่ขีดเส้นใต้ นอกจากนี้ คำลักษณนามก็อาจจะเป็นอีกคำหนึ่งที่ไม่เหมือนกับคำนามที่นำหน้า หรืออาจจะใช้คำนามนั้นซ้ำอีกทีหนึ่งก็ได้ ด้วยเหตุฉะนี้เองนักไวยากรณ์บางคนจึงจัดให้ลักษณนามเป็นคำอีกประเภทหนึ่ง
ลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่ในกลุ่มภาษาที่เรียกว่าภาษาคำโดด เช่น ภาษาไทย จีน มาเลย์ และอีกหลายๆ ภาษาในแอฟริกา บางภาษาที่มีหลายลักษณะปะปนกันก็อาจจะมีลักษณนามได้ เช่น ภาษาญี่ปุ่น คำว่า "nin" เป็นลักษณนามสำหรับคน เมื่อพูดว่า "๔ คน" ก็พูดได้ว่า "yo nin" (yo = ๔, nin = คน)
ในปัจจุบันภาษาไทยมีคำลักษณนามอยู่มากมาย ทั้งๆ ที่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะมีปรากฏอยู่เพียง ๓ คำ เท่านั้น คือ คน ใช้สำหรับ คน ตัว ใช้สำหรับ สัตว์ และ อัน ใช้กับสิ่งไม่มีชีวิตได้ทั้งใหญ่และเล็ก
คำลักษณนามที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนี้แสดงว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ภาษากำหนดขึ้นตามกาลเวลาและความจำเป็น ในยุคสมัยที่คำบางคำใช้น้อยลงหรือมิได้ใช้อีกเลยผู้ใช้ภาษาก็เริ่มจะไม่รู้จัก ด้วยเหตุฉะนี้เอง ราชบัณฑิตยสถาน จึงได้รวบรวมคำเหล่านี้ไว้ เพื่อให้ผู้ใช้ภาษาได้ทราบว่าคำเหล่านี้มีที่ใช้หรือเคยมีที่ใช้อย่างไรในภาษา
ราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดพิมพ์หนังสือ ลักษณนาม ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๘ และได้พิมพ์เพิ่มขึ้นอีกจนถึงครั้งที่ ๕ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๔ บัดนี้เมื่อ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้พิมพ์เผยแพร่ออกมาแล้ว ลักษณนาม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จึงได้รับการแก้ไข และจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ ๖ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ เพื่อให้สอดคล้องกับพจนานุกรมเล่มใหม่
ตัวอย่าง คำนามที่ใช้ลักษณนามต่างกันออกไปตามสถานภาพ เช่น
- ช้าง (ช้างขึ้นระวาง) -ช้าง
- ช้าง (ช้างบ้าน) -เชือก
- ช้าง (ช้างป่า) -ตัว
ตัวอย่าง คำนามที่ใช้ลักษณนามซ้ำกับคำนาม เช่น
กล้อง -กล้อง ครอบครัว -ครอบครัว
นิ้ว -นิ้ว หุ้น -หุ้น
ตัวอย่าง คำลักษณนามสำหรับคำที่มีที่มาจากภาษาอังกฤษ
- กาแล็กซี -กาแล็กซี คอมพิวเตอร์ -เครื่อง
- ทรานซิสเตอร์ -ตัว ฟาร์ม -ฟาร์ม
- ปาร์เกต์ -ชิ้น, แผ่น ลิฟต์ -ตัว
ข้อสังเกตก็คือ ก่อนที่จะใช้คำลักษณนามว่า "ตัว" กับคำนามคำใดก็ตามน่าจะได้ลองเปิดหนังสือเล่มนี้ดูก่อน ถ้ามีเก็บไว้ให้แล้วก็น่าจะลองใช้ตาม แต่ถ้าผู้ใช้ภาษาส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้ ในที่สุดหนังสือเล่มนี้ก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยตามไปเอง
แต่ที่ไม่น่าจะทำก็คือ การนำคำนามที่มีลักษณนามมากกว่าหนึ่งคำมาตั้งเป็นคำถาม แล้วเลือกเอาคำใดคำหนึ่งมาเป็นคำตอบ ดังเช่นที่รายการ "เกมโชว์" รายการหนึ่งเคยตั้งคำถามว่า "ลักษณนามของคำว่าค้อนคืออะไร"
เมื่อผู้เล่นเกมตอบว่า "อัน" พิธีกรก็ตัดสินว่าผิด แล้วเฉลยว่า ต้องใช้ว่า "เต้า" ซึ่งทุกคนก็พากันงงไปหมด รวมทั้งผู้เขียนด้วย เมื่อเปิดดูหนังสือเล่มนี้จึงได้รู้ว่า มีระบุไว้ดังนี้คือ
ค้อน -เต้า, อันแบบนี้เรียกว่าเลือกปฏิบัติได้หรือไม่
ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน