ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๑)
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ระบุไว้ว่า
ลหุ [ละ-] ว. เบา; เร็ว, ฉับไว; ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น จะ มิ ดุ
ครุ [คะรุ] ว. หนัก, ใช้ในตําราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวและสระเกินทั้ง ๔ คือ สระอำ ใอ ไอ เอา เช่น ตา ดำ (สระอำถือเป็น ครุ ก็ได้ ลหุ ก็ได้) และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น หัด เรียน
คำว่า ลหุ มาจากภาษาบาลี ในภาษาสันสกฤตคือ ลฆุ ส่วนคำว่า ครุ หรือ คุรุ มาจากภาษาบาลี ในภาษาสันสกฤตคือ คุรุ ในภาษาไทยเราได้นำคำว่า ลหุ ครุ มาสร้างคำใหม่ขึ้นใช้อีกหลายคำ เช่น ลหุโทษ ครุกรรม ครุภัณฑ์ ครุศาสตร์ คุรุสภา ฯลฯ
ที่กล่าวว่าคำว่า ลหุ กับ ครุ ใช้ในตำราฉันทลักษณ์นั้น ก็คือฉันทลักษณ์ประเภทฉันท์ ซึ่งเป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่วางคำ ครุ ลหุ เป็นแบบต่างๆ ถึงแม้ว่า คำประพันธ์ชนิดนี้จะปรากฏอยู่ในภาษาไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังที่ปรากฏอยู่ใน สมุทรโฆษคำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ ฯลฯ แต่รูปแบบที่ได้รับการยอมรับในวงการประพันธ์นั้นปรากฏอยู่ใน ตำราฉันท์วรรณพฤติ และ ตำราฉันท์มาตราพฤติ พระนิพนธ์ของ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ในสมัยรัชกาลที่ ๓
คำประพันธ์ประเภทฉันท์นี้ถือว่าแต่งได้ยากในภาษาไทย เพราะภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด ซึ่งแตกต่างจากภาษาสันสกฤต จึงหาคำลหุครุให้ตรงตามแบบแผนได้ยาก นอกจากนี้สระสั้นสระยาวของไทยนั้น หากพิจารณาลักษณะทางภาษาศาสตร์แล้วหาใช่ลหุครุ ตามความหมายที่ปรากฏในตำราและพจนานุกรมไม่
ทำไมจึงกล่าวว่า สระสั้นสระยาวของไทยไม่ตรงกับลหุ (เสียงเบา) ครุ (เสียงหนัก) เสมอไป
ขอให้ลองพิจารณารูปการเขียนสระยาวและสระสั้นของไทยดูดังต่อไปนี้
เริ่มต้นจากคู่แรกคือ สระอา กับ สระอะ เพื่อความสะดวกในการพิมพ์ จำเป็นต้องวางรูป อ อ่าง ไว้ให้สระเกาะ แต่รูปที่ต้องการกล่าวถึงก็คือ รูปที่โบราณเรียกว่า "ลากข้าง" กับ "วิสรรชนีย์" ที่วางอยู่ข้างหลัง อ อ่าง ในที่นี้ "ลากข้าง" แสดงเสียงยาว ส่วน "วิสรรชนีย์" แสดงเสียงสั้น
ขอให้สังเกตว่า "วิสรรชนีย์" เป็นเครื่องบอกเสียงสั้น ดังนี้
สระยาว สระสั้น
- เอ เอะ
- แอ แอะ
- โอ โอะ
- ออ ออะ (รูปโบราณ)
- เอีย เอียะ
- เอือ เอือะ
- อัว อัวะ
สำหรับ ออะ ที่เป็นรูปแสดงเสียงสั้นของ ออ นั้น ปรากฏอยู่ใน จินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ดังนี้
"...ผู้มีปัญาพึงรู้ว่ามีสิ้นทงง ๑๕ เหล่านั้น คือ กิ กึ กุ กะ กก กด กบ เกิย เกอะ กวู เกะ แกะ โกะ กอะ นี้แล ฯ ฯ เอกโทบูรานบังคับไว้นั้นจำเภาะ..."
ในตัวอย่างข้างต้นนี้ มีการเขียนรูปสระเอาะเป็น ๒ รูปแบบ ดังปรากฏในคำว่า "กอะ" กับ "จำเภาะ" จะเห็นได้ว่า รูป "ออะ" เป็นรูปที่เป็นไปตามเกณฑ์มากกว่า "เอาะ" แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ยังทรงนำมาใช้ในอักขรวิธีแบบใหม่ ดังในคำว่า "โคพลอะ" (โคเพลาะ) กับ "หอะ" (เหาะ) แต่รูป "ออะ" ก็มิได้รับความนิยม จนเลิกใช้ไปในที่สุด
เมื่อสำรวจดูวิธีการเขียนของไทย ปรากฏว่า ในสมัยสุโขทัยมี สระเอีย กับ สระเอือ ซึ่งเขียนต่างๆ กันดังนี้ คือ
๑. เมื่อ "เอีย" มีเสียงสะกด ไม่ปรากฏรูปเอ กับ อี คำว่า "เดียว" จึงเขียนว่า "ดยว"
๒. เมื่อ "เอีย" ไม่มีเสียงสะกด จึงใช้รูปเอีย ดังในคำว่า "เมีย" (ในรูปเดิม สระอี วางอยู่หน้า สระเอ)
๓. เมื่อ "เอือ" มีเสียงสะกด คงรูป "เอือ" เช่น "เมือง" (ในรูปเดิม สระอื วางอยู่หน้า สระเอ)
๔. เมื่อ "เอือ" ไม่มีเสียงสะกด มีตัวออ เติมข้างท้ายอีกตัวหนึ่ง ดังในคำว่า "เมื่ออ" (เมื่อ) (ในรูปเดิม สระอื วางอยู่หน้า สระเอ)
ถึงแม้ว่า ในสมัยสุโขทัยจะมีเสียงยาวอย่าง สระเอีย และ สระเอือ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสระสั้นที่เข้าคู่กัน สระสั้นที่เข้าคู่กับสระยาวมาปรากฏในสมัยอยุธยา เมื่อต้องติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น
วิธีการสร้างสระสั้นก็คือ นำวิสรรชนีย์ของภาษาสันสกฤตเข้ามาประกบท้าย ถึงแม้จะบอกว่าเป็นสระสั้น แต่การออกเสียงกลับลงเสียงเน้นหนัก เช่น เหมาะเจาะ เฉอะเฉะ เละเทะ เกะกะ ผัวะเผียะ ขาวจั๊วะ ฯลฯ ในทางภาษาศาสตร์กล่าวว่า เสียงหนักเหล่านี้ก็คือ เสียงหยุดที่ช่องเส้นเสียง ที่เรียกว่า glottal stop
สำหรับ สระโอะ และ สระโอะลดรูป นั้น จะออกเป็นเสียงหนักหรือเสียงเบาก็ได้ ดังในคำว่า "ชม-เชย" หรือ "ชมเชย" ส่วน สระอะ นั้นจะสังเกตได้ว่า เมื่ออ่านอย่างชัดเจนจะลงเสียงหนัก เช่น "มะนาว" พยางค์แรกลงเสียงหนัก มีเสียงหยุดที่ช่องเส้นเสียงประกบท้าย และเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงตรี แต่เมื่อพูดหรืออ่านแบบเสียงพูด เสียงพยางค์แรกจะเบาลง เสียงหยุดที่ช่องเส้นเสียงหายไป และเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนเป็นเสียงสามัญ ซึ่งไม่มีรูปการเขียน ถ้าพยายามจะเขียนก็จะได้คล้ายๆ กับ "มนาว"
ฉะนั้น สระสั้นยาวในภาษาไทยจึงมิใช่เสียงลหุครุเสมอไป แต่จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเน้นเสียงหนักเบามากกว่า
ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
https://www.school.net.th/schoolnet/directory/elearning.php?cat_id=9&lv_id=3