โรคเบาหวาน (diabetes mellitus)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 12K views



โรคเบาหวาน (diabetes mellitus)

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการสำคัญ คือ มีความกระหายน้ำ และดื่มน้ำปริมาณมาก มีปัสสาวะจำนวนมาก หากเจาะเลือดก็จะพบว่า มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้ 

โรคเบาหวานประเภทที่ ๑

มักพบในเด็ก จึงเรียกว่า โรคเบาหวานในเด็ก (juvenile diabetes) เกิดจากมีแอนติบอดีมาทำลายบีตาเซลล์ในตับอ่อน ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา โดยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญกลูโคสเป็นพลังงานได้ เมื่อบีตาเซลล์ถูกทำลาย ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุการเกิดแอนติบอดียังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางตัว หรือมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ เนื่องจากจะพบโรคนี้ ในสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน

โรคเบาหวานประเภทที่ ๒

พบในผู้ใหญ่ สาเหตุไม่ได้เกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน แต่เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้ ทั้งๆ ที่มีอินซูลินอยู่ในระดับสูง โรคเบาหวานชนิดนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า เบาหวาน ชนิดดื้อกับอินซูลิน (insuline resistant diabetes) เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรม 

โรคเบาหวานทั้ง ๒ ประเภท หากเป็นในระยะเวลานาน โดยไม่มีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายๆ อย่าง เช่น ปลายประสาทอักเสบเกิดแผลที่เท้า ซึ่งอาจลุกลามจนต้องตัดขา การอักเสบของหลอดเลือดฝอยที่ตา (diabetic retinopathy) ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ นอกจากนี้ยังมีการอักเสบของหลอดเลือดที่ไต สมอง และหัวใจ ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ 

สถานการณ์ของโรคเบาหวาน

สถิติของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกพบว่า ขณะนี้มีประมาณ ๑๘๐ ล้านคน ซึ่งคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๓๒๔ ล้านคน ใน พ.ศ. ๒๕๖๘ สำหรับประเทศไทยพบว่า มีอัตราการตายจากโรคเบาหวานปีละ ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน จากการศึกษาของนายแพทย์วิชัย  เอกพลากร และคณะ พบว่า ความชุกของเบาหวานมีร้อยละ ๙.๖ ในประชากรอายุตั้งแต่ ๓๕ ปี ขึ้นไป และครึ่งหนึ่งของประชากรเหล่านี้ ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน จึงทำให้สูญเสียโอกาส ในการเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

การประเมินความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

มีการศึกษาวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศ ที่พยายามหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของโรคเบาหวาน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคของประชากร ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ และความตระหนักในการป้องกันโรค ก่อนที่จะลุกลาม และเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่เป็นอันตรายได้

สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาติ  โลจายะ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย  ตันไพจิตร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการศึกษาวิจัย พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีชื่อว่า EGAT ๑ เป็นการติดตามศึกษาพนักงาน อายุระหว่าง ๓๕ - ๕๔ ปี จำนวน ๓,๔๙๙ คน เป็นระยะเวลา ๑๒ ปี โดยใน พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นการตรวจร่างกาย มีผู้มารับการตรวจทั้งสิ้น ๒,๙๖๗ คน ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิชัย  ตันไพจิตร และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร  ศรีธรา ได้ศึกษาวิจัย พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อีกกลุ่มหนึ่ง โดยใช้เวลาติดตามศึกษา ๕ ปี มีการตรวจร่างกายล่าสุด พ.ศ. ๒๕๔๖ การศึกษานี้ชื่อว่า EGAT ๒

จากการศึกษาทั้ง ๒ ครั้ง ได้วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โดยการคำนวณ และให้น้ำหนักแต่ละปัจจัยเสี่ยงเป็นคะแนน ซึ่งพบว่า ความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ที่เหมาะสม น่าจะสามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ให้กับประชากรทั่วไปได้ ดังแสดงในตารางที่ ๒ คะแนนความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน (diabetes risk score) ส่วนการแปลผลคะแนนความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และข้อแนะนำ สำหรับความเสี่ยงระดับต่างๆ แสดงไว้ในตารางที่ ๓ 

ตารางที่ ๒ คะแนนความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน (diabetes risk score) ของแต่ละปัจจัย

 

ตารางที่ ๓ การแปลผลคะแนนความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และข้อแนะนำ สำหรับความเสี่ยงระดับต่างๆ


การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน


เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง การดูแลรักษาต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือดูแลรักษาตนเองในการรับประทานยา และอาหาร รวมทั้งการปฏิบัติตัว เพื่อสุขภาพที่ดี และมาตรวจติดตามผล กับแพทย์ผู้ดูแลเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ

หลักสำคัญในการดูแลรักษา คือ

๑. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป
๒. รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
๓. ควบคุมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างเคร่งครัด โดยกินอาหารมื้อหลักทุกมื้อให้ตรงเวลา และกำหนดปริมาณของอาหาร ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชไม่ขัดสี ลดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล น้ำอัดลม ขนมหวานต่างๆ นอกจากนี้ควรกินผักและผลไม้ให้มาก แต่ผลไม้ต้องมีรสไม่หวานจัด 

 
เครดิต : https://kanchanapisek.or.th