ตำนานครุฑ - นาค
ในปัจจุบันครุฑเป็นเครื่องหมายตราแผ่นดินของประเทศไทย ทั้งยังสามารถพบเห็นได้ตามสิ่งต่างๆที่เนื่องในพระมหากษัตริย์ สถานที่ราชการ ธนาคาร องค์กรร้านค้าที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานตราครุฑ วัดวาอารามฯลฯ
ลักษณะของครุฑที่พบเห็นในปัจจุบันมักจะเป็นรูปครุฑพ่าห์ นารายณ์ทรงสุบรรณ(นารายณ์ทรงครุฑ) และครุฑยุดนาคซึ่งต่างสร้างขึ้นตามประวัติความเป็นมาจากเทพปกรณัมนั่นเอง
พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ฉิม" ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือ พญาครุฑซึ่งในเทพนิยายเทวักำเนิด เป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่ง แต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติอยู่ที่วิมานฉิมพลี ดังนั้นทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ แทนพระบรมนามาภิไธย
ตำนานครุฑ-นาค
ครุฑเป็นบุตรของฤาษีกัศยปะซึ่งเป็นหนึ่งในสัปตฤาษีหรือฤาษีเจ็ดตนกำเนิดจากดวงจิตของพระพรหม(พระผู้สร้างโลกตามคติพราหมณ์) เพื่อช่วยพระองค์ขยายเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตในโลก หนึ่งในบุตรของฤาษีกัศยปะซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั้นมีสุริยเทพ และพระอินทร์ เป็นอาทิ ฤาษีกัศยปะมีเทวีมากมายแต่มีอยู่สองศรีพี่น้องที่กัศยปมุนีโปรดปรานเป็นพิเศษ
ครั้งหนึ่งกัศยปะฤาษีให้นางทั้งสองขอพรได้คนละข้อ โดยฝ่ายนางผู้น้องซึ่งมีนามว่ากัทรุได้ขอพรให้ตนมีลูกหลานมากมายและขอให้ลูกๆเหล่านั้นมีอิทธิฤทธิ์แปลงกายได้ ด้วยผลแห่งสัมฤทธิพรนางจึงให้กำเนิดลูกเป็นนาคหนึ่งพันตัวซึ่งเหล่านาคเลือกที่จะอาศัยอยู่ใต้บาดาล
ข้างนางผู้พี่มีนามว่าวินตาขอพรให้ตนมีลูกเพียงสองก็พอ แต่ขอให้ลูกทั้งสองนั้นเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มากเหนือผู้ใดรวมทั้งลูกๆทั้งหมดของนางกัทรุ กัศยปะฤาษีเห็นว่านางวินตาขอพรด้วยความริษยาเช่นนี้จะบังเกิดโทษต่อนางเองในกาลภายหน้าแต่ก็ต้องให้พรตามที่นางปรารถนา
ต่อมาไม่นาน นางวินตาได้ให้กำเนิดไข่สองฟองตามพรที่ขอไว้ แต่กาลเวลาผ่านไปกว่า 500 ปีก็ไม่มีวี่แววว่าไข่ทั้งสองจะฟักออก ด้วยจิตที่ร้อนรุ่มอยากจะทราบว่าสิ่งใดกันแน่ที่อยู่ภายใน นางจึงตัดสินใจแกะเปลือกไข่ฟองหนึ่งออกดูก็ปรากฏเป็นร่างของเด็กชายที่ครึ่งบนของลำตัวใหญ่โตแต่ส่วนล่างลงไปยังไม่ปรากฏแข้งขาแต่อย่างใด
ด้วยแรงโทสะที่รู้ว่าต้นเหตุแห่งทุพพลภาพแห่งตนเกิดจากมารดาที่ไร้ความมานะอดทน บุตรนั้น(นามว่าพระอรุณ) จึงสาปมารดาให้ตกเป็นทาสของนางกัทรุและเหล่านาค นางวินตาเมื่อได้ยินดังนั้นก็ตระหนกตกใจแทบสิ้นสมประดี พระอรุณเห็นเช่นนั้นก็เกิดเมตตาจริต แต่เมื่อเอ่ยคำสาปไปแล้วจะแก้ไขก็ไม่ได้จึงบอกแก่นางวินตาเพิ่มเติมว่า เมื่อใดก็ตามที่บุตรของนางซึ่งอยู่ในไข่อีกฟองถือกำเนิดขึ้น เมื่อนั้นบุตรดังกล่าวจะช่วยนางจากคำสาปเอง
จากนั้นพระอรุณจึงถลาขึ้นฟ้าและต่อมากลายไปเป็นสารถีชักรถม้าให้แก่สุริยเทพ(พระอาทิตย์) ด้วยความที่พระอรุณมีร่างกายที่ใหญ่โตจึงไปบดบังแสงอาทิตย์ในยามเช้าและเย็นจนไม่สว่างจ้านักจึงเป็นที่มาของคำว่า "แสงอรุณ"
กาลเวลาผ่านไปสัมฤทธิผลแห่งคำสาปก็บังเกิดขึ้นโดยวันหนึ่งนาง กัทรุและนางวินตาถกเถียงกันด้วยเรื่องสีของม้าเทียมราชรถของพระอาทิตย์ (บ้างว่าถกกันเรื่องม้าอุจเจศรวัสซึ่งเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร) ว่ามีกายหรือขนสีอะไร
ฝ่ายนางวินตาเชื่อว่าม้านั้นมีขนขาวบริสุทธิ์ แต่ฝ่ายนางกัทรุเชื่อว่ามีขนสีขาวแซมเทา การโต้เถียงกลับกลายไปสู่การท้าพนันให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องตกเป็นทาสของฝ่ายที่ชนะ
นางกัทรุทราบดีว่าม้านั้นมีขนสีขาวแต่ด้วยมิจฉาทิฐิมานะจึงสั่งให้บรรดาลูกๆแปลงกายไปแซมเป็นขนม้า ดังนั้นจึงดูเสมือนหนึ่งม้ามีขนสีขาวแซมเทา ด้วยอุบายนี้ทำให้นางวินตาต้องตกเป็นทาสลงไปรับใช้ฝ่ายนาคอยู่ใต้บาดาล
ห้าร้อยปีต่อมา ไข่อีกฟองของนางวินตาจึงเริ่มปริออกให้ประจักษ์เห็นเป็นครึ่งคนครึ่งนกที่มีร่างกายสูงใหญ่เสียดฟ้า สำแดงฤทธาปาฏิหารย์บินไปยังยอดแห่งเขาพระสุเมรุบดบังแสงแห่งพระอาทิตย์จนผู้คนพากันสับสนพากันเข้าใจว่ากลางวันเป็นกลางคืน
กัศยปะฤาษีผู้พ่อเห็นดังนั้นจึงไปหาครุฑและบอกกล่าวให้ไปช่วยมารดาซึ่งยังจำต้องเป็นทาสทนทุกข์จากเหล่านาคอยู่ใต้บาดาล แรกทีเดียวนั้นครุฑมีนามว่า "เวนไตร" ซึ่งแปลว่าเผ่าพงศ์ของนางวินตา เมื่อครุฑลงไปพบมารดาแล้วจึงแจ้งในเพทุบายของเหล่านาค ด้วยกตัญญุตาธรรม ครุฑจึงเจรจาต่อรองขอให้นาคปล่อยตัวมารดาของตน ฝ่ายนาครับคำโดยยินดีจะปล่อยนางวินตาหากครุฑนำน้ำอมฤตมาแลก
เมื่อทราบดังนั้นครุฑจึงถลาขึ้นสู่สวรรค์เพื่อไปนำน้ำอมฤต ระหว่างทางบังเกิดความหิวและพบเต่ากับช้างกำลังต่อสู้กัน เต่าตัวนั้นยาวได้ 8 โยชน์ ช้างนั้นยาวได้ 16 โยชน์ จึงใช้กรงเล็บจิกสัตว์ทั้งสองแล้วบินมาเกาะบนต้นไม้ใหญ่หมายจะกิน ความที่ทั้งสามคือ ครุฑ ช้าง และเต่ามีน้ำหนักมากทำให้กิ่งไม้หัก เผอิญบนกิ่งไม้นั้นมีพราหมณ์กำลังนั่งร่ายพระเวทอยู่ ครุฑเห็นดังนั้นจึงใช้จะงอยปากคาบกิ่งไม้แล้วค่อยๆวางกิ่งไม้ลงบนพื้นดินจนสามารถช่วยชีวิตพราหมณ์ไว้ได้ก่อนที่กลับไปจิกกินช้างและเต่า พราหมณ์พึงใจที่ครุฑช่วยชีวิตตนแม้อยู่ในความหิวจึงเรียกเวนไตยว่า "ครุฑ" หมายถึงผู้แบกรับภาระหนัก ทั้งยังให้พรว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดให้สำเร็จตามประสงค์ และให้มีพละกำลังมหาศาล ไม่มีผู้ใดต้านทานได้
ครั้นบินไปถึงสวรรค์ ครุฑก็กระพือปีกพัดให้ฝุ่นตระหลบไปทั้งอากาศ แล้วเข้าต่อสู้กับเหล่าทวยเทพที่นำโดยสวรรคาธิบดีอินทรา(พระอินทร์) เหล่าเทพไม่สามารถต่อสู้กำลังของครุฑซึ่งได้รับพรให้มีอิทธิฤทธิ์มากเหนือผู้ใด แม้แต่สายฟ้าซึ่งเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ยังไม่สามารถทำอันตรายครุฑได้ แต่ด้วยความต้องการแสดงคารวะต่อพระอินทร์ผู้เป็นพี่ ครุฑจึงแสดงความเคารพโดยบันดาลให้ขนร่วงจากกายหนึ่งเส้นเพื่อให้เห็นว่าเทพศาสตราของพระอินทร์มีฤทธานุภาพพอที่จะสร้างอันตรายแก่ตนได้ ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งแปลว่า"ขนวิเศษ หรือผู้มีปีกอันงาม"
เหล่าทวยเทพเมื่อไม่เห็นทางที่จะต้านฤทธิ์ได้จึงจำต้องเปิดทางให้ครุฑเข้าไปเอาน้ำอมฤต ก่อนถึงที่เก็บน้ำอมฤตมีกองเพลิงร้อนขนาดที่เผาดวงอาทิตย์ให้เป็นจุลได้ ครุฑจึงแปลงกายให้มีปากเก้าสิบเก้าสิบปากหรือ 8100 ปากแล้วจึงบินไปอมน้ำจากแม่น้ำ 8100 สายมาดับกองเพลิงนั้น กองเพลิงก็มอดไป ต่อเข้าไปด้านในมีจักรที่คมมากรอตัดร่างผู้ที่จะเข้าไปลักน้ำอมฤต ครุฑเห็นดังนั้นจึงแปลงกายให้เล็กเท่าธุลีบินลอดผ่านดุมจักรนั้นไปได้ ด้านในสุดยังมีนาคสองตนที่ดวงตาไม่กระพริบ มีพิษพ่นออกมาจากปากได้ หากนาคมองเห็นผู้ใดเข้ามาลักน้ำอมฤตย่อมพ่นพิษร้ายออกสังหารผู้นั้น ครุฑเห็นเช่นนี้จึงกระพือปีกให้เกิดฝุ่นตลบขึ้นในอากาศทำให้นาคมองไม่เห็นแล้วจิกนาคทั้งสองออกเป็นชิ้นๆ
กำเนิดครุฑยุดนาค - ครุฑพ่าห์
ข้างพระนารายณ์(พระวิษณุ) เห็นครุฑกำลังจะเข้าไปนำน้ำอมฤตออกมาได้จึงเข้าขัดขวาง ทั้งสองต่อสู้กันอย่างเป็นสามารถแต่ไม่มีผู้ใดแพ้หรือชนะจึงตกลงที่จะหย่าศึก โดยครุฑขอพรให้ตนเป็นอมตะโดยไม่ต้องดื่มน้ำอมฤทธิ์หนึ่ง ขอให้มีสิทธิ์จับนาคกินได้หนึ่ง (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า"ครุฑยุดนาค")
ข้อสังเกตลักษณะ ครุฑยุดนาค
1. การจับนาค จะจับตรงบริเวณต้นกับเกือบถึงปลายหาง เพื่อป้องกันการเหนี่ยวรัด และแว้งกัด
2. กรงเล็บจะขย้ำลงที่ใต้ท้องนาค ไม่ใช่ในแบบลักษณะจับรวบตัว เพราะเกล็ดนาคนั้นแข็งและลื่น
3. ครุฑจะไม่ยอมให้ลำตัวของนาคพันลำตัวและคอ เพราะนั้นหมายถึงหายนะ (สัตว์ตระกูลงูตามสัญชาตญาณ เมื่อรัดตัวเหยื่อจะค่อยๆ บีบรัดแน่นขึ้นๆ ตามจังหวะการหายใจออกของเหยื่อ จนกว่าจะขาดใจตาย)
ครุฑได้ขอพรให้อยู่สูงกว่าพระนารายณ์เป็นข้อสุดท้าย พระนารายณ์อนุญาตให้พญาครุฑสามารถอยู่เหนือเศียรตนได้ และพญาครุฑก็นอบน้อมโดยการยินยอมให้พระนารายณ์สามารถนำตนเป็นพาหนะไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้เช่นกัน เป็นที่มาของคำว่า "ครุฑพ่าห์"
กำเนิดนารายณ์ทรงสุบรรณ(นารายณ์ทรงครุฑ)
ในทางกลับกันพระนารายณ์ต้องการให้ครุฑเป็นเทพพาหนะของพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการใช้ธงมหาราช (ธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พื้นสีเหลืองตรงกลางเป็นรูปพระครุฑพ่าห์) ประดับอยู่บนยอดเสาธงเหนือที่ประทับ หน้ารถยนต์พระที่นั่ง เครื่องบินพระที่นั่ง ฯลฯ เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์
พระนารายณ์ต้องพระประสงค์อยากทราบว่าเหตุใดครุฑจึงต้องขึ้นมาลักน้ำอมฤต ครุฑกราบทูลว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะต้องการช่วยมารดาให้เป็นอิสระ เมื่อแจ้งดังนั้นพระนารายณ์จึงตรัสว่าน้ำอมฤตนี้ไม่สามารถเอาไปได้ ครุฑจึงออกอุบายขอนำน้ำอมฤตไปให้พวกนาคก่อนแล้วให้พระนารายณ์ตามมานำกลับไป
ครุฑนำน้ำอมฤตมาประพรมลงบนยอดหญ้าคา ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ถือว่าใบหญ้าคาเป็นสิ่งมงคลใช้ประพรมน้ำมนต์ ด้านเหล่านาคเห็นครุฑนำน้ำอมฤตมาได้จึงยอมปล่อยนางวินตาเป็นอิสระ ด้วยความรีบร้อนอยากลิ้มรสน้ำอมฤตบนใบหญ้าคา เหล่านาคไม่ทันได้สัมผัสน้ำอมฤตก็ถูกใบหญ้าคาบาดลิ้นเป็นเหตุให้นาคและงูมีลิ้นสองแฉกมาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างนั้นเองพระนารายณ์จึงเสด็จลงมานำน้ำอมฤตกลับคืนสู่สรวงสวรรค์
ที่อยู่ของครุฑ
ครุฑในตำนานสันสกฤตนั้นมีเพียงตนเดียวและไม่มีที่อยู่แน่นอนเพราะต้องย้ายตามพระนารายณ์ (พระวิษณุ) ต่างกับครุฑในคติพุทธศาสนาที่มีหลายตนทั้งตนใหญ่ตนเล็ก ตนที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่าพญาครุฑ และมีที่อยู่เป็นวิมานฉิมพลีหรือวิมานต้นงิ้วอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ
ดังนั้นในพระที่นั่งหรือพระแท่นต่างๆจึงมักปรากฏรูปแกะสลักนาคอยู่ที่ชั้นฐานตามความเชื่อที่ว่านาคอาศัยอยู่ชั้นล่างสุดของเขาพระสุเมรุ ถัดมาเป็นชั้นของครุฑ ตามด้วยกุมภัณฑ์ ยักษ์ และจตุโลกบาล แบกเขาพระสุเมรุโดยมีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่บนยอดของพระที่นั่งนั่นเอง
นามของครุฑ
ครุฑหรือเวนไตยนั้นมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา มีโอรสชื่อสัมพาทีและสดายุ
ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น กาศยปิ ผู้สืบพงศ์แห่งกัศยปะ ครุตมาน เจ้าแห่งนก รักตปักษ์ มีปีกแดง เศวตโรหิต มีสีขาวและแดง สุวรรณกาย มีกายสีทอง สิตามัน มีหน้าสีขาว คคเนศวร เจ้าแห่งอากาศ ขเคศวร ผู้เป็นใหญ่แห่งนก นาคนาศนะ ศัตรูแห่งนาค สุเรนทรชิต ผู้ชนะพระอินทร์ เป็นต้น
ลักษณะของพญานาค
พญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี 7 สี
ที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียณสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศรีษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม
พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฎเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อนๆ กัน ชั้นสูงๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้นๆ
จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี
พบเรื่องราวดีๆ วิชาการสนุกๆ สาระความรู้รอบตัว หัวข้อรายงาน คลังข้อสอบ ได้ที่ www.trueplookpanya.com
ติดตามสาระความรู้ใกล้ตัว ข้อสอบ ทุนต่างๆ ติวฟรี ได้ที่ www.facebook.com/trueplookpanya.com
ภาพประกอบและเรื่องราวเรียบเรียงจาก:
https://www.oknation.net/blog/nun2504/2010/02/12/entry-5
https://www.oknation.net/blog/print.php?id=43415
https://planxfile.blogspot.com/2012/09/blog-post_23.html
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=allstory&date=09-08-2006&group=4&blog=3
https://www.roigoo.com/board/index.php?topic=10529.0