"ครุฑ" ตราแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย
ครุฑยังมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการถือว่า ครุฑเป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์
ในสมัยโบราณนั้น พระมหากษัตริย์ไทยจะมี ธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ ไปพร้อมกับพระองค์ในราชการศึกสงครามด้วยเช่นกัน ....เสมือนรถศึกของอวตารพระนารายณ์
ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น ซึ่งจากการที่เราใช้ “ตราครุฑ” เป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วๆไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ
ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า “ธงมหาราช” เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ธงมหาราชนี้ เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่า พระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น
สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ ๓ ลำคือ เรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักร เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน
นอกเหนือจากการที่ “ตราครุฑ” ปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์มโดยมีข้อความประกอบว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต”
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้ แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูปเป็นต้นแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน
ปัจจุบันการขอพระราชทานตราตั้งนี้ต้องยื่นคำขอต่อสำนัก พระราชวัง เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวัง เรียกคืนเนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานฯตาย หรือเลิกประกอบกิจการหรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ
หมายเหตุ
"ครุฑ"นั้นตามตำนานแล้ว มีกำลังมหาศาล บินได้เร็ว สติปัญญาเฉียบแหลม และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่มาเป็นพาหนะของพระนารายณ์เพราะรบกันทีไรก็เสมอกันทุกที ก็เลยเจรจากันว่า พระนารายณ์จะให้พรครุฑเป็นอมตะและใช้รูปครุฑเป็นโลโก้อยู่เหนือรถศึกพระนารายณ์ ครุฑก็เลยยอมเป็นพาหนะให้ (เป็นที่มาของคำว่า "ครุฑพ่าห์")
กำลังของพญาครุฑนั้นได้ชื่อว่ามหาศาล ขนาดที่ในไตรภูมิพระร่วงนั้นพูดถึง ศูนย์กลางของจักรวาลคือ "เขาพระสุเมรุ" มีทิวเขาล้อมอยู่ 7 ชั้น และระหว่างทิวเขานั้นเป็นทะเลชื่อ สีทันดร ซึ่งวรรณคดีไทยเรื่องกากีได้พรรณาไว้ว่าไกลสุดลูกหูลูกตาขนาด
".....ผู้ใดข้ามนทีสีทันดร ม้วยมรณ์เป็นเหยื่อแก่สัตว์สิ้น แสนมหาพระยาครุฑยังเต็มบิน กว่าจะไปถึงถิ่นวิมานทอง....”
พบเรื่องราวดีๆ วิชาการสนุกๆ สาระความรู้รอบตัว หัวข้อรายงาน คลังข้อสอบ ได้ที่ www.trueplookpanya.com
ติดตามสาระความรู้ใกล้ตัว ข้อสอบ ทุนต่างๆ ติวฟรี ได้ที่ www.facebook.com/trueplookpanya.com
ภาพประกอบและเรื่องราวเรียบเรียงจาก:
https://www.web-pra.com
https://student.swu.ac.th/fa471010204/jenawat.htm
https://www.siamganesh.com/garuda.html