พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพระโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระมารดาคือ พระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 และทรงเป็นต้นราชสกุล “จิตรพงศ์” ในด้านหนึ่ง ทรงเป็นเจ้าฟ้าฯผู้เชี่ยวชาญศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งวิจิตรศิลป์ สถาปัตยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์ ในช่วงเวลาที่กระแสอารยธรรมตะวันตกถาโถมเข้าใส่สยาม ศิลปะของเราซึ่งมีระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมเคร่งครัด ต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายจากอิทธิพลของศิลปะตะวันตก พระองค์ทรงประยุกต์ปรับปรุงวิจิตรศิลป์ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติไทยด้วยการศึกษาเชิงลึกถึงรากเหง้า และคลี่คลายรูปแบบทางศิลปะให้มีความเป็นสากลจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก อันเป็นการประกาศถึงความเป็นอารยประเทศที่มีรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดในโลก
ตลอดพระชนม์ชีพทรงอุทิศเวลาให้แก่การสร้างสรรค์ “งานช่าง” หลากสาขา ผลงานที่ทรงรังสรรค์ไว้นับเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจที่สำคัญให้แก่ช่างและศิลปินในยุคหลัง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์มรดกศิลปกรรมไทย และทรงส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถให้เป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดมรดกงานช่างศิลป์ไทยจนได้รับยกย่องให้เป็น “ สมเด็จครู “ ของช่างทั้งปวง
** ตราประจำพระองค์ รูปราชสีห์ถือดาบ บริเวณขอบมีอักษรภาษาบาลี “กตัสส นัตถิ ปฎิการํ ปเควตํปริกันตํ”แปลว่า สิ่งที่ทำแล้ว จะทำคืนมิได้ จงพิจารณาสิ่งที่จะทำนั้นก่อน ตราดวงนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ และทรงยืดเป็นหลักธรรมประจำพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพ
** อักษรพระนาม “น ในดวงใจ” อักษร “น” ย่อมาจากพระนาม “นริศ” ส่วนรูปหัวใจหมายถึงพระนามเดิม “พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจิตรเจริญ” ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระราชบิดา (รัชกาลที่ 4)
อีกด้านหนึ่ง ทรงเป็นเสนาบดีสี่กระทรวง ผู้นำทางทหาร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ และรัฐบุรุษผู้ทรงพระปรีชา และมีคุณูปการต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่มีการจัดตั้งกรมโยธาธิการขึ้นในปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมหรืออธิบดีกรมฯ พระองค์แรก ด้วยทรงมีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำหน้าที่สนองพระบรมราโชบาย และเมื่อกรมฯแห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง ก็ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานโยธาและงานก่อสร้างทั่วประเทศ พระองค์ทรงอุตสาหะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งงานช่างแผนเก่าและแผนใหม่ ทั้งวิทยาการด้านการก่อสร้าง การรถไฟ และการสื่อสารโทรคมนาคม จนได้รับพระสมัญญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” อีกทั้งยังได้บริหารงานราชาการโดยทรงกำหนดนโยบายการทำงานที่ว่า “...กิจการของรัฐบาล ควรแบ่ง เป็น 3 ข้อ คือปกครองฝ่ายหนึ่ง ป้องกันฝ่ายหนึ่ง ทะนุบำรุงฝ่ายหนึ่ง...” และวางรากฐานงานใหม่ๆ อันเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นปฏิบัติสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีผลงานออกแบบซ่อมสร้างอีกมากมาย อาทิ หมู่พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และปราสาทเทพบิดร ออกแบบพระที่นั่งราชฤดี ประตูและกำแพงวังท่าพระ รวมถึงงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกอีกหลายแห่ง อาทิ วัดเบญจมบพิตร อุโบสถวัดราชาธิวาส ออกแบบพระเมรุมาศในงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ และทรงทูลขอปรับปรุงพื้นที่สนามหลวงให้เป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ จัดงานสำคัญ รวมถึงเป็นศูนย์รวมให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ร่วมชุมชน จัดกิจกรรม การแสดง และการละเล่นมหรสพต่างๆ ดังที่ได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ 2 วาระ ครั้งแรกเมื่อกรมฯ ยกฐานะเป็นกระทรวงในปี พ.ศ. 2435 และทรงกลับมาบริหารกระทรวงแห่งนี้อีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2442-2448
ส่วนมูลเหตุที่ต้องทรงเปลี่ยนไปบริหารส่วนราชการหลายกระทรวงนั้น สะท้อนให้เห็นได้จากความในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “...การที่ต้องทรงย้ายรับราชการเป็นหลายกระทรวงนั้น เพราะทรงพระปรีชาสามารถอาจวางเนติแบบอย่างในราชการให้เป็นบรรทัดฐานมั่นคงดำเนินในทางที่ควรที่ชอบได้มีพระอัธยาศรัยมั่นคงองอาจมิได้หวาดไหว ดำรงอยู่ในความสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง... ”
ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างคุณูปการต่อประเทศชาติ ทั้งในงานด้านช่างและศิลปะทุกแขนง การพัฒนาเพื่อความเจริญมั่นคงของชาติและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คน แม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ด้วยพระชันษา 83 ปี 10 เดือน 12 วัน แต่ในวาระ 100 ปีพระชาตกาลของพระองค์ ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ในฐานะที่เป็น “ บุคคลสำคัญของโลก” และได้จัดตั้ง “ทุนนริศรานุวัดติวงศ์” สำหรับบำรุงและสนับสนุนการศึกษาด้านศิลปะ
และในปี พ.ศ.2550 หากยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ จะเป็นปีครบรอบ 12 นักษัตรของพระองค์ กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้หน้าอาคารที่ทำการของกรมฯ ถนนพระราม 6 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในพระเกียรติคุณ และเป็นต้นแบบอันดีของข้าราชการและประชาชนทั่วไปในอันที่จะทำคุณงามความดีเพื่อส่วนรวมโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2550
ที่มา : https://www.dpt.go.th/index.php?option=com_flexicontent&view=items&cid=4:2011-07-05-09-42-39&id=80:2011-08-27-04-20-34&Itemid=101