รู้รอบโลก ตอน เรื่องของดาวเคราะห์ และพลูโตมีเคราะห์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 13.1K views



          “ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรามีทั้งหมดกี่ดวง”

          เชื่อไหมคะว่าแปดในสิบคนที่อายุไล่เลี่ยกันกับผู้เขียนตอบคำถามนี้ผิดกันเป็นแถว นี่ไม่ได้เป็นเพราะตอนเด็กๆเราไม่สนใจเรียนหรอกนะคะ แต่เป็นเพราะว่าเราตกข่าวต่างหาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์อย่างเป็นทางการเพียงแปดดวงเท่านั้น คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวโลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน

          แล้วพลูโตล่ะ? พลูโตหายไปไหน? ดาวเคราะห์อยู่ดีๆก็หายไปจากอวกาศได้ด้วยเหรอ?

          พลูโตไม่ได้หายไปไหนหรอกค่ะ แค่ “ถูกปลด” เท่านั้นเอง

          ดาวพลูโตถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักดาราศาสตร์ชื่อ ไคลด์ ทอมบอกจ์ เมื่อปี พ.ศ. 2473 และได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ของระบบสุริยะตั้งแต่นั้นมา อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่พลูโตเป็นดาวเคราะห์นั้น นักดาราศาสตร์หลายคนยังสงสัยอยู่ตลอดว่ามันสมควรได้รับสถานะนั้นหรือไม่ เหตุผลแรกนั้นเป็นเพราะว่า วงโคจรของพลูโตดูแปลกๆ คือระนาบการโคจรที่เป็นรูปวงรีของมันเอียงทำมุมประมาณ 17 องศากับระนาบการโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆทั้งหมด แถมยังไปตัดกับวงโคจรของเนปจูนอีกต่างหาก อีกเหตุผลก็คือเราได้ค้นพบภายหลังว่าจริงๆแล้ว พลูโตขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเสียอีก คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ประมาณ 2,390 กิโลเมตรเท่านั้นเองค่ะ

          ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา นักดาราศาสตร์ได้เริ่มค้นพบวัตถุอื่นๆที่คล้ายกับพลูโตอีกหลายดวงในบริเวณ “ไคเปอร์ เบลท์” ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่นอกวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป บางดวงมีขนาดและลักษณะใกล้เคียงกับพลูโตมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2548 นักดาราศาสตร์ชื่อ ไมค์ บราวน์ และทีมของเขาก็ได้ค้นพบ “อีรีส” ซึ่งเป็นวัตถุที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำแข็งและหินเหมือนพลูโต แต่ขนาดใหญ่กว่าเสียอีก

          เมื่อมีวัตถุที่มีลักษณะเหมือนกันแต่ขนาดใหญ่กว่าปรากฏขึ้นมา สถานะ “ดาวเคราะห์” ของพลูโตก็เริ่มสั่นคลอนแล้วค่ะ นักดาราศาสตร์ต้องมาหาคำนิยามแล้วว่าจริงๆแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่า “ดาวเคราะห์” นั้นมันคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าจัดให้ “อีรีส” เป็นดาวเคราะห์ดวงที่สิบด้วย วัตถุขนาดใหญ่ในบริเวณ “ไคเปอร์ เบลท์” อีกมากมาย ทั้งที่ถูกค้นพบแล้ว และที่ยังไม่ถูกค้นพบก็อาจเข้าข่ายเป็นดาวเคราะห์ได้เช่นกัน

          ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ IAU (International Astronomical Union) ได้จัดประชุมขึ้นเพื่อหาข้อสรุปให้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า จริงๆแล้ว “ดาวเคราะห์คืออะไร” และข้อสรุปที่ได้ออกมาก็ทำให้พลูโตถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์ และจัดเป็นดาวดวงแรกในประเภทใหม่ที่เรียกว่า “ดาวเคราะห์แคระ” (Dwarf Planet)

          ตามข้อสรุปของ IAU วัตถุที่จะเป็นดาวเคราะห์ได้นั้นต้องมีคุณสมบัติสามข้อค่ะ ข้อแรกคือ มันต้องเป็นวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ข้อสอง วัตถุนั้นต้องมีมวลมากพอที่แรงดึงดูดของมันจะสามารถคงให้รูปร่างของมันเป็นทรงกลมได้ และข้อสุดท้ายคือ วัตถุนั้นต้องกำจัดวัตถุอื่นให้ออกไปจากวงโคจรของมันได้แล้ว ซึ่งคุณสมบัติข้อสุดท้ายนี่เอง ที่ทำให้พลูโตถูกลดระดับลงไป เนื่องจากในวงโคจรเดียวกับพลูโตนั้น ยังคงมีวัตถุที่มีมวลใกล้เคียงกับมันใช้วงโคจรเดียวกันอยู่ ตราบใดที่พลูโตยังไม่ได้ปะทะเข้ากับวัตถุเหล่านั้นแล้วรวมตัวจนมีมวลมากขึ้น หรือมีแรงดึงดูดมากพอที่จะขจัดวัตถุเหล่านั้นออกไปจากวงโคจรได้ พลูโตก็จะยังเป็น “ดาวเคราะห์แคระ” อยู่ตามเดิมค่ะ

          เพื่อนๆคนไหนสนใจอยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนิยามของ “ดาวเคราะห์” และ “ดาวเคราะห์แคระ” เว็บไซท์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมของเรามีคลิปดีๆจากยูทูปพร้อมคำแปลมาแนะนำค่ะ สามารถคลิ๊กเข้าไปดูได้ที่
(https://www.trueplookpanya.com/plook/www_05_1) ค่ะ

          แล้วคราวหน้าถ้าใครถามว่าระบบสุริยะมีดาวเคราะห์กี่ดวง เพื่อนๆคงตอบได้อย่างมั่นใจ ไม่แพ้เด็กป.4 แล้วนะคะ

จากนิตยสารปลูก โดย www.trueplookpanya.com ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554