สิงโต (Lion)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 74.1K views



สิงโต (Lion) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในวงศ์ Felidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมว สิงโตมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera leo มีขนาดลำตัวใหญ่ ขนาดไล่เลี่ยกับเสือโคร่งทั่วไป จัดเป็นสัตว์ในวงศ์ Felidae ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองมาจากเสือโคร่งไซบีเรีย (Panthera tigris altaica) พื้นลำตัวสีสีน้ำตาล ไม่มีลาย ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ขนปลายหางเป็นพู่ ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง มีน้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม (550 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า มักทำหน้าที่ล่าเหยื่อ มีน้ำหนักประมาณ 180 กิโลกรัม (400 ปอนด์) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดีย ในป่าธรรมชาติ สิงโตมีอายุขัยประมาณ 10-14 ปี ส่วนสิงโตที่อยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุยืนถึง 20 ปี

ถิ่นกำเนิด
สิงโตในอดีตพบกระจายอยู่ตามทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก มีสายพันธุ์มากมาย แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ปัจจุบันพบเพียงแค่ในทวีปแอฟริกา ในทวีปเอเชียยังคงมีอยู่บ้าง เช่น บางแห่งในประเทศอินเดียแถบตะวันตก มี 6 สายพันธุ์ย่อย พบในทวีปแอฟริกา 5 สายพันธุ์ คือ สิงโตเซเนกัล (Panthera leo senegalensis) พบในประเทศเซเนกัลและไนจีเรีย, สิงโตมาไซ (Panthera leo nubica) พบในเอธิโอเปีย, โมซัมบิก, เคนยา, แทนซาเนีย, สิงโตคองโก (Panthera leo azandica) พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, สิงโคกาทังกา หรือ สิงโตแองโกลัน(Panthera leo bleyenbergh) พบในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ในประเทศนามิเบีย, แองโกลา, บอตสวานา, ซาอีร์, แซมเบีย, ซิมบับเว และสิงโตขาว หรือ สิงโตทรานเวล (Panthera leo krugeri) พบในทวีปแอฟริกาตอนใต้บริเวณอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ย่อยอีกชนิดของสิงโตแอฟริกา ซึ่งมีสีขาวตลอดทั้งลำตัว แต่ไม่ใช่สิงโตเผือก เพิ่งมีการค้นพบและศึกษาเมื่อไม่นานมานี้

       

                                         สิงโตตัวผู้                                                        สิงโตตัวเมีย

และในทวีปเอเชีย คือ สิงโตอินเดีย หรือสิงโตเอเชีย (Panthera leo persica) ซึ่งตัวเล็กกว่า สิงโตในทวีปแอฟริกา พบในภูมิภาคตะวันออกกลางจนถึงอินเดียตอนเหนือและภาคตะวันตก

สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
สิงโตอเมริกาเหนือ (Panthera leo atrox) พบในทวีปอเมริกาเหนือจนถึงอเมริกาใต้ มีความยาวลำตัวถึง 3.5 เมตร นับว่าใหญ่ที่สุดในบรรดาสิงโตทั้งหมด มีอายุอยู่เมื่อราว 10,000 ปีก่อน ก่อนจะสูญพันธุ์ไปในยุคน้ำแข็ง
สิงโตยุโรป (Panthera leo spelaea) หรือ สิงโตถ้ำยุโรป พบในทวีปยุโรปทางตอนเหนือไปจนถึงไซบีเรีย สูญพันธุ์ไปในยุคน้ำแข็งเช่นเดียวกัน สิงโตถ้ำยุโรปกลาง (Panthera leo fossilis) พบในทวีปยุโรปตอนกลาง บริเวณประเทศเยอรมนีและอิตาลี มีอายุฟอสซิลเก่าแก่ที่สุด คือ 500,000 ปีก่อน

สิงโตไซบีเรียตะวันออก (Panthera leo vereshchagini) พบในไซบีเรียตะวันออกจนถึงอลาสกา มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าสิงโตถ้ำยุโรป แต่เล็กกว่าสิงโตอเมริกาเหนือ มีกะโหลกศีรษะที่ได้สัดส่วน
สิงโตบาร์บารี (Panthera leo leo) พบในทวีปแอฟริกา เป็นสิงโตที่เพิ่งสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบันนี้ จากการล่าของมนุษย์ นับเป็นสิงโตสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา มีความยาวลำตัวถึง 3-3. เมตร พบในอียิปต์จนถึงโมร็อกโก มีแผงคอที่ใหญ่และยาวที่สุด มีสีดำปนอยู่ สิงโตบาร์บารีตัวสุดท้ายถูกฆ่าตายเมื่อ ปี ค.ศ. 1922 ในโมร็อกโก ปัจจุบันมีสิงโตบางตัวที่ถูกสันนิษฐานว่าอาจเป็นสิงโตบาร์บารีในสวนสัตว์บางแห่ง แต่ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดว่าใช่หรือไม่ สิงโตถ้ำแอฟริกา (Panthera leo melanochaita) พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน สูญพันธุ์ราวปี ค.ศ. 1860 แต่จากการศึกษาดีเอ็นเอในปัจจุบัน พบว่ามีความใกล้เคียงกับสิงโตขาวหรือสิงโตทรานเวล

ลักษณะ
สิงโตแอฟริกา และสิงโตอินเดียไม่มีลักษณะที่แตกต่างกันไม่มีลายตามตัวอย่างเสือ ตัวผู้โตเต็มที่ขนคอยาวรอบคอ ดูสง่าน่าเกรงขามจนมีสมญาว่าเป็น "เจ้าแห่งสัตว์ป่า" ตัวเมียไม่มีขนรอบคอ ปลายหางขนเป็นพู่ คำรามมีเสียงดังมากได้ยินไปไกล การคำรามเป็นการช่วยเรียกตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ด้วย

นิสัย
ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง ขนาดของฝูงขึ้นอยู่กับปริมาณของเหยื่อ ถ้าเหยื่อมีมากและขนาดใหญ่มากและขนาดของเหยื่อใหญ่ก็จะอยู่รวมกันเป็นฝูง นิสัยของมันไม่กล้าหาญนัก ใช้เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวันเพื่อนอนพักใต้ร่มไม้ ล่าเหยื่อเมื่อหิว หน้าที่ล่าเหยื่อจะเป็นของตัวเมียเป็นส่วนใหญ่ มันชอบกินซากสัตว์ที่เน่าแล้วด้วย ตัวผู้มักไม่ล่าเหยื่อเอง ตัวผู้จะคอยกันตัวเมียออกจากซากเหยื่อเพื่อกินอาหารก่อนในฐานะจ่าฝูง สิงโตออกหากินกลางคืน ตั้งแต่มืดไปจนถึงเที่ยงคืนเมื่อกินเหยื่อเสร็จ แล้วต้องกินน้ำ นอนพัก ตอนเช้าจึงจะกลับที่อยู่ ลักษณะการล่าเหยื่อของมันมีหลายวิธี เช่น ซุ่มซ่อนตัวตัวตามพุ่มไม้สูงๆ การล่าเหยื่อทั้งแบบไล่เดี่ยวและเป็นกลุ่ม ฯลฯ แต่ไม่ว่าวิธีใดก็ตามมันจะพยายามเข้าไปใกล้เหยื่อให้มากที่สุดก่อนที่จะกระโดดเข้าตะครุบเหยื่อหรือออกล่าเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อมีเวลาหนีน้อยที่สุด เพราะสิงโตจะวิ่งได้เร็วในช่วงสั้นๆ เท่านั้น

การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ไม่แน่นอนมีได้ทุกเวลาตลอดปี ระยะของการเป็นสัดนาน 4-16 วัน ตัวเมียเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 3 ปี ตัวผู้ประมาณ 4-6 ปี เคยมีรายงานอายุ 2 ปี ก็ผสมพันธุ์ได้ ตั้งท้องนานราว 100 วัน ตกลูกครั้งละ 3-5 ตัว เคยมีรายงานได้ลูกถึง 7 ตัว ลูกอดนมเมื่ออายุ 3-6 เดือน อายุยืนประมาณ 30-60 ปี

อาหาร
สิงโตกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มันกินสัตว์ได้แทบทุกชนิด เช่น กระต่าย ไก่ป่า จระเข้ ลิง เม่น กวาง ม้าลาย ควายป่า เป็นต้น แม้แต่ซากสิงโตด้วยกันเองก็กิน ลูกสิงโตที่อ่อนแอจะถูกกินเพื่อให้ตัวที่แข็งแรงกว่าได้อยู่รอด

สิงโตกับมนุษย์
สัญลักษณ์ Three Lionsสิงโตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและความแข็งแกร่งมาตั้งแต่โบราณ มนุษย์ในทุกภาษา ทุกวัฒนธรรมล้วนแต่ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ในเชิงนี้ทั้งนั้น เช่น ในปรัมปราของศาสนาฮินดู พระนารายณ์เคยอวตารลงมาเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงโต ชื่อว่า "นรสิงห์" เพื่อปราบมาร ในวัฒนธรรมไทย เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จออกยังมุขหรือบัญชร จะเรียกว่า "สีหบัญชร" (หมายถึง หน้าต่างสิงโต) และเรียกพระบรมราโชวาทในครั้งนี้ว่า "สีหนาท" (หมายถึง เสียงคำรามของสิงโต) เป็นต้น

ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีคำศัพท์เรียกสิงโตในเชิงยกย่องซึ่งเป็นคนที่คนไทยรู้จักกันดี คือ "ราชสีห์" หมายถึงพญาสิงโต หรือราชาแห่งสิงโต ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานถือว่าดุร้ายและมีพละกำลังมาก

ในประเทศจีน ซึ่งไม่มีสิงโตเป็นสัตว์พื้นเมือง แต่ก็รับเอาสิงโตมาจากเปอร์เซีย ก็มีการเชิดสิงโต เป็นการละเล่นประกอบในพิธีมงคลหรือรื่นเริงต่าง ๆ เพราะมีความเชื่อว่า สิงโตเป็นสัตว์ใหญ่ที่สัตว์ต่าง ๆ เกรงขาม จึงมีพลังอำนาจในการขับไล่สิ่งอัปมงคลได้

ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ในภาคพื้นยุโรป ที่ก็ไม่มีสิงโตเป็นสัตว์พื้นเมืองเช่นกัน แต่ก็ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ใช้สิงโต 3 ตัวเป็นสัญลักษณ์และใช้เป็นสัญลักษณ์ของทีมชาติด้วยเรียกว่า "Three Lions" และกษัตริย์อังกฤษหลายพระองค์ก็ถูกขนานพระราชสมัญญานามเปรียบเทียบกับสิงโตด้วยเช่นกัน เช่น พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 มีพระราชสมัญญานามว่า "พระเจ้าริชาร์ด ใจสิงห์" (Richard the Lionheart) เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย สิงโตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานกระทรวงมหาดไทยและใช้เป็นสัญลักษณ์ของคณะรัฐศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยมีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ ตามสีของสิงโต เช่น "สิงห์ดำ" หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, "สิงห์แดง" หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, "สิงห์ทอง" หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก https://th.wikipedia.org/