Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ใบกว. หรือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

Posted By naminmin273 | 03 ก.ย. 67
483 Views

  Favorite

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับวิศวกรในประเทศไทย การมีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการขอใบอนุญาต ข้อกำหนด และการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ จะช่วยให้คุณสามารถประกอบอาชีพวิศวกรรมได้อย่างถูกต้องและมั่นคง

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม คืออะไร

การทำงานในสายวิศวกรรมบางสาขาจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพด้วย เรียกว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือที่เรียกกันว่าใบกว. ซึ่งเรียนจบก็ต้องไปสอบอีกที แต่ละสาขาก็จะมีประเภทของใบอนุญาตฯ ต่างกัน สาขาที่สอบได้มีดังนี้

- สาขาวิศวกรรมโยธา

- สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง

- สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร

- สาขาวิศวกรรมเครื่องกล

- สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ

- สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่

- สาขาวิศวกรรมเคมี

- สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

 

ความสำคัญของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เป็นใบอนุญาตให้บุคคลประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ออกโดยสภาวิศวกร จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพวิศวกรนั้น สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มตัว และได้มาตรฐานตามที่สภาวิศวกรกำหนด อันจะสร้างความน่าเชื่อถือในหน้าที่การงานตามมาด้วย

 

ปัจจุบันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมมี 4 ระดับ ตามขอบเขตของงานและความรับผิดชอบ

1. วุฒิวิศวกร สำหรับวิศวกรผู้มีประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไปยื่นผลงาน และผ่านการทดสอบและสัมภาษณ์ สามารถเป็น ที่ปรึกษาโครงการได้

2. สามัญวิศวกร สำหรับวิศวกรผู้มีประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไปยื่นผลงาน ผ่านการทดสอบและสัมภาษณ์

3. ภาคีวิศวกร คือผู้ที่ผ่านการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วศ.บ. คอ.บ. และ อศ.บ. (อุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต) สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ หากสถาบันการศึกษาได้รับการรับรองของสภาวิศวกร

4. ภาคีวิศวกรพิเศษ ผู้ที่ขอใบอนุญาตระดับนี้ เป็นผู้ที่อาจเรียนมาน้อยแต่ประสบการณ์สูงมีความถนัดงานก่อสร้างด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรพิเศษนี้จะอนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาตทำการก่อสร้างได้แค่ด้านใดด้านหนึ่งที่ขอไปเท่านั้น เช่น สร้างสะพาน ถนน หรืออาคารขนาดเล็ก

 

ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบใบอนุญาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

ผู้ที่จะสมัครสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้จะต้องเป็นสมาชิกของสภาวิศวกรก่อน โดยผู้ที่จะสามารถสมัครสมาชิกดังกล่าวได้นั้นจะต้อง มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย ได้รับปริญญาประกาศนียบัตรหรือเทียบเท่า ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่สภาวิศวกรรับรอง ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ ไม่เคยต้องโทษจำคุก และไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดตามข้อบังคับสภาวิศวกรว่าด้วยโรคต้องห้าม พร้อมทั้งมีค่าจดทะเบียนสมัครสมาชิกจำนวน 1,500 บาท โดยจะต้องมีเอกสารประกอบการสมัครสมาชิกแนบด้วย เอกสารที่จะต้องใช้ ได้แก่ วุฒิการศึกษา รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี แบบฟอร์มคำขอสมัครเป็นสมาชิกสภาวิศวกรและใบรับรองแพทย์ ที่ออกไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่ระบุในใบรับรองแพทย์

 

การสมัครสมาชิกสภาวิศกร สามารถสมัครผ่านทางเว็บไซค์ www.coe.or.th และส่งเอกสารการสมัครสมาชิกสภาวิศวกรมาทางไปรษณีย์ ก่อนถึงวันกำหนดทดสอบความรู้ และการสมัครได้ด้วยตนเองที่สำนักงานสภาวิศวกรในเวลาทำการ วันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.30-16.00 หรือสถานที่จัดสอบส่วนภูมิภาค หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานครบถูกต้องแล้ว จะออกใบเสร็จและบัตรสมาชิกให้ เมื่อได้บัตรสมาชิกเรียบร้อยแล้วจึงจะสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้

 

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมใบแรกที่ต้องมีเลยคือ ระดับภาคีวิศวกร โดยจะต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นสมาชิกสามัญวิศวกร จบการศึกษาในระดับปริญญาที่สภาวิศวกรรับรอง
ทั้งนี้จะต้องมีเอกสารและหลักฐานประกอบการยื่นขอใบอนุญาตฯด้วย เอกสารดังกล่าวคือ

- หลักฐานแสดงผลการเรียน (Transcript) ตัวจริงซึ่งเป็นฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งระบุวันที่สำเร็จการศึกษา หากยังไม่ได้รับตัวจริงให้ใช้หนังสือรับรองการสำเร็จการศึกษาที่ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และให้ยื่น Transcript ตัวจริงภายหลัง

- สำเนาใบปริญญาบัตรหรือสำเนาหนังสือรับรองการศึกษาที่ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ให้ระบุวิทยาเขต ฉบับภาษาไทย

- รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นดำ 1 รูป (เขียนชื่อ-นามสกุล หลังรูป) ใบรับรองแพทย์ที่ออกไม่เกิน 30 วัน

- คำรับรองคุณสมบัติ โดยผู้ลงนามต้องเป็นผู้ที่ถือใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกร สามัญวิศวกร หรือวุฒิวิศวกร สาขาใดก็ได้

- สำเนาใบอนุญาตฯ ของผู้รับรองคุณสมบัติ โดยเจ้าของใบอนุญาตฯ จะต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องด้วยตนเอง

- ใบคำขอสมัครสมาชิกพร้อมขอรับใบอนุญาตภาคีวิศวกร
 

ข้อสอบที่ใช้สำหรับการทดสอบความรู้ระดับภาคีวิศวกร
มีทั้งหมด 2 หมวดวิชา แต่ละหมวดวิชาจะประกอบด้วย 4 วิชาย่อย แต่ละวิชาย่อยนั้นจะมีข้อคำถามวิชาละ 25 ข้อ คะแนนรวมทั้งหมดในแต่ละหมวดวิชาจึงเป็น 100 คะแนน ให้เวลาในการทำข้อสอบทั้งหมด 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่ถือว่าสอบผ่านจะต้องได้คะแนนในแต่ละหมวดวิชาไม่ต่ำกว่า 60% การทดสอบความรู้ระดับภาคีวิศวกรมีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 1,500 บาท

 

สิ่งที่ต้องนำไปด้วยในวันสอบจริง คือ บัตรสมาชิกสภาวิศวกร ปากกา ดินสอ ไม้บรรทัดยาว ยางลบ วงเวียน เครื่องคิดเลขแบบธรรมดา (ที่มีฟังก์ชั่นเสริมทางเลขาคณิตเท่านั้น) เมื่อสอบข้อเขียนผ่านทั้ง 2 หมวดวิชา อันดับต่อไปจะเป็นการอบรมเพื่อทดสอบความรู้เกี่ยวกับความพร้อมในการประกอบวิชาชีพ โดยมีค่าใช้จ่ายในการอบรม จำนวน 1,500 บาท หลังจากชำระเงินค่าอบรมฯ ทางสภาวิศวกรจะเป็นผู้กำหนดวันอบรมให้เองโดยอัตโนมัติ (ไม่สามารถเลือกรอบอบรมเองได้) แต่หากไม่สะดวกตามรอบทีได้รับเลือกจากทางสภาวิศวกร สามารถทำการเลื่อนรอบได้ทันทีด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งสามารถทำการเลื่อนรอบได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

 

การอบรมมีทั้งหมด 2 ครั้ง โดยการอบรมรอบแรกจะประกาศผล ประมาณ 2 ทุ่มของวันนั้น หากสอบรอบแรกไม่ผ่านก็สามารถสอบซ่อมได้ในวันถัดไป แต่หากสอบผ่านตั้งแต่รอบแรกเราสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้เลย โดยมีค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตใหม่ประมาณ 1,000 บาท ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาและออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประมาณ 1 เดือน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซค์ www.coe.or.th หรือเบอร์โทร 1303

 

ข้อควรปฏิบัติเพื่อเข้ารับการอบรม และทดสอบความรู้เกี่ยวกับความพร้อมในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
นอกจากจะต้องเตรียมบัตรสมาชิก บัตรประชาชน บัตรข้าราชการ หรือบัตรที่หน่วยงานราชการออกให้ และเครื่องเขียนต่างๆแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงเรื่องการแต่งกายด้วย โดยเน้นให้การแต่งกายของเรามีความสุภาพ ผู้ชายสวมเสื้อคอปก-กางเกงขายาว สอดชายเสื้อไว้ในกางเกง สวมรองเท้าหุ้มส้น ส่วนผู้หญิงให้สวมเสื้อ-กระโปรงหรือกางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น ห้ามใส่กางเกงขาสั้น กางเกงยีนส์ขาด เสื้อไม่มีแขน รองเท้าแตะทุกชนิด และผู้อบรมต้องเข้าห้องอบรมภายใน 45 นาที นับจากเวลาที่เริ่มต้นเปิดพิธีการอบรม และต้องเข้ารับการอบรมครบทุกรายวิชาที่มีการทดสอบความรู้ สำหรับผู้ที่ทุจตริต หรือทำผิดกฎกติกาการสอบ จะถูกปรับตก โดยต้องเว้นระยะเวลา 6 เดือน จึงจะสอบซ่อมครั้งต่อไปได้ และทางสภาวิศวกรจะทำหนังสือแจ้งรายงานความผิดกับต้นสังกัดด้วย เอกสารที่ใช้ประกอบการอบรมและทดสอบความพร้อมจะประกอบไปด้วย วิชากฎหมาย วิชาจรรยาบรรณ วิชาสิ่งแวดล้อม และวิชาความปลอดภัย

 

สำหรับกรณีที่เราไม่สามารถเข้าร่วมการอบรมได้ เราสามารถทำการเลื่อนด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซค์ได้ และต้องมีหลักฐานประกอบด้วย นั่นคือ ใบคำร้องแจ้งรอบที่ต้องการเลื่อน รอบที่ต้องการเข้าอบรม โดยระบุวันชัดเจนพร้อมเหตุผล โดยแนบเอกสารประกอบการเลื่อน เช่น ใบรับรองจากหน่วยงาน รับรองแพทย์ หรือเอกสารรับรองอื่นๆ และสำเนาใบเสร็จค่าอบรม จากนั้นให้ส่งเอกสารทั้งหมดผ่านทางโทรสารมายังสภาวิศวกร หมายเลข 02-9356695 หรือ 02-9356697 สามารถโทรสอบถามผลการยื่นคำร้องได้ที่ 1303 ต่อฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรม

 

การสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับสามัญวิศวกร มีขั้นตอนการพิจารณา ดังนี้

เจ้าหน้าที่สภาวิศวกรตรวจรับคำขอรับใบอนุญาต (เลื่อนระดับ) พร้อมเอกสารประกอบ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาผลงานและปริมาณ และรายงานผลงาน

บัญชีแสดงผลงานและปริมาณงานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและได้รับการเสริมสร้างประสบการณ์ (ถ้าผลงานไม่ผ่านยื่นได้ใหม่หลังจากได้รับหนังสือแจ้งผล) แต่หากผลงานผ่านจะมีสิทธิ์ทดสอบความรู้ ด้วยการสอบสัมภาษณ์ เกณฑ์คะแนนการสอบสัมภาษณ์ มีดังนี้ ได้คะแนน 70 คะแนนขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาต ผลคะแนน 50-69 เข้าฝึกอบรมเฉพาะด้าน หรือ ทำรายงานทางวิชาการ หรือสามารถใช้สิทธิ์สอบข้อเขียนแทนได้ ผลคะแนนน้อยกว่า 50 คะแนน ต้องทำการสอบข้อเขียน

 

การสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับวุฒิวิศวกร มีขั้นตอนการพิจารณา ดังนี้

เจ้าหน้าที่สภาวิศวกรตรวจรับคำขอรับใบอนุญาตเลื่อนระดับ พร้อมเอกสารประกอบ

คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาผลงานและปริมาณ พร้อมทั้งทดสอบความรู้ในประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบวิชิชีพและสอบสัมภาษณ์ การสอบสัมภาษณ์ หากสอบครั้งแรกไม่ผ่านสามารถสอบครั้งที่2 ภายใน 30 วัน หลังประกาศผลสอบ

นอกจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมทั้งสามระดับที่เป็นระดับหลักๆแล้ว ยังมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ระดับภาคีวิศวกร (หลักสูตรต่างประเทศและหลักสูตรสองสถาบัน) และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพข้ามชาติ ซึ่งจะมีรายละเอียดคุณสมบัติและขั้นตอนการขอที่แตกต่างกันไป เราสามารถศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.coe.or.th

 

ตารางสอบและสถานที่จัดสอบทั้งภาคีวิศวกร ระดับสามัญวิศวกร และระดับวุฒิวิศวกร

ตารางสอบจะมีเปิดตลอดทั้งปี โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ WWW.COE.OR.TH

ส่วนสถานที่จัดสอบและอบรม โดยปกติจะจัดที่ สภาวิศวกร เลขที่ 487/1 ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา1) แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง สายด่วน 1303

 

 

แหล่งข้อมูล

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • naminmin273
  • 0 Followers
  • Follow