วันพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 30.6K views



วันพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
๑๘ สิงหาคมของทุกปี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

 
เนื่องในพุทธศักราช ๒๕๔๗ เป็นมหามงคลสมัยครบ ๒๐๐ ปี แห่งการพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระ-จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถปรับปรุงสยามประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงนำบ้านเมืองให้พ้นภยันตรายจากลัทธิจักรวรรดินิยม ทรงรับเอาศิลปะวิทยาการและความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ เช่น การใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับงานด้านดาราศาสตร์ และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หรือเจ้าฟ้าบุญรอด พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๔๗ ได้ทรงรับสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔ ขณะมีพระชนมายุ ๔๖ ปี ๕ เดือน กับ ๑๖ วันและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ เป็นระยะเวลาครองราชสมบัติ ๑๗ ปี ๕ เดือน ๒๙ วัน สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๓ ปี ๑๑ เดือน กับ ๑๔ วัน หรือคำนวณทางจันทรคติได้ ๖๔ พรรษาบริบูรณ์

 เมื่อมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ก็ได้ทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุตามโบราณราชประเพณี แต่เมื่อทรงพระผนวชได้ไม่กี่วัน พระราชบิดาคือรัชกาลที่ ๒ สวรรคตอย่างไม่มีใครคาดฝัน และมิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่ผู้ใด ถ้าว่าตามหลักการแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า เป็นพระราชโอรสที่ทรงอิสริยศักดิ์สูงสุดควรจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบราชสมบัติ แต่ที่ประชุมเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่มีความเห็นว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ มีพระปรีชาสามารถเป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั่วไป ประกอบกับบ้านเมืองก็ยังมีภัยคุกคามจากภายนอก จึงเห็นสมควรถวายราชสมบัติแก่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎจึงทรงดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดรัชกาลที่ ๓ เป็นเวลา ๒๗ ปี

ในระยะเวลานั้นทรงศึกษาหาความรู้ด้านพระศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง ทรงเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์ สมัยนั้นส่วนใหญ่ยังประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จึงทรงกวดขันพระภิกษุที่ใกล้ชิด พระองค์ให้ปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัยของพระพุทธเจ้า และมีผู้เห็นด้วยปฏิบัติตามมากขึ้น ตามลำดับจนเป็นหมู่คณะที่เรียกว่า คณะธรรมยุต พร้อมกันนั้นก็ทรงสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ และปรับปรุงการเผยแผ่คำสั่งสอนให้ทันสมัย เหตุนี้เองทำให้ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทยที่จะบอกวันเดือนปีที่ถูกต้องตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พระภิกษุได้เรียนรู้ไว้เพื่อตอบประชาชนได้ถูก

ในที่สุดได้ทรงคิดค้นวิธีคำนวณปักข์ (คือครึ่งเดือนทางจันทรคติ) โดยอาศัยหลักตำราสารัมภ์ของมอญ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะคือวันพระ ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ ที่เรียกว่า ปฏิทินปักขคณนา ยิ่งกว่านั้น ได้ทรงคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเครื่องหมายเรียงเป็นแถว ๑๐ แถว แต่ละแถวมีจำนวนต่างกันแล้วมีเครื่องหมายแทนดวงดาว ๕ ดวง เดินเคลื่อนไหวเหนือแถวเหล่านั้นคล้ายกับเดินตัวหมากรุก ก็จะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ เรียกว่ากระดานปักขคณนา

ที่คณะธรรมยุตยังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่านี่คงเป็นจุดประกายให้ทรงเริ่มสนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์ อันทำให้เกิด “วันวิทยาศาสตร์ไทย” และพระองค์ได้รับการถวายพระเกียรติว่าเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

         เรื่องการกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาตินั้น ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านดาราศาสตร์ ได้คิดกันมาหลายปีแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงคำนวณล่วงหน้ามาถึง ๒ ปีแล้วว่า วันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย และจะเห็นชัดเจนที่สุดที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรที่นั่น พร้อมกับเจ้าเมืองสิงคโปร์และนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส หลายคน เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว จึงน่าจะถื่อว่าวันนี้ควรเป็นวันวิทยาศาสตร์ของไทย ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พร้อมกับกำหนดให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

           เคยมีผู้สนใจตั้งคำถามว่า วิชาดาราศาสตร์ที่ทรงประสบความสำเร็จนี่เป็นวิชาของชาวตะวันตกแล้วทรงเข้าถึงวิชาเหล่านี้ได้อย่างไร คำตอบคือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทรงพระผนวชหรือที่ชาวบ้านขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมพระ ทรงโปรดสมาคมกับชาวต่างประเทศ เช่นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสหรือพวกมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เรียกหมอสอนศาสนา คือ เป็นแพทย์ด้วยเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาด้วยแล้วก็ทรงศึกษาวิชาภาษาละติน และภาษาอังกฤษจากท่านเหล่านี้เป็นทำนองแลกเปลี่ยนความรู้กัน จนทรงมีความรู้แตกฉานในภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านตำราต่างๆ ได้ด้วยพระองค์

            เรามีเอกสารของชาวต่างประเทศที่เคยติดต่อสัมพันธ์กับพระองค์ท่าน แล้วเขาบันทึกอะไรไว้เกี่ยวกับพระองค์ท่าน เช่น บันทึกของ ดร.เรโนลด์ เฮาส์ เป็นศัลยแพทย์ที่คนไทยรู้จักในนามหมอเหา ได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชันนารีอเมริกันเมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๐ เล่าเรื่องเมื่อครั้งไปเฝ้าเจ้าฟ้าพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหารไว้แปลเป็นไทยได้ว่า

            “ข้าพเจ้าได้เหลียวมองไปรอบๆ ห้อง แลเห็นพระคัมภีร์ไบเบิลของสมาคม เอ.บี. และพจนานุกรมเวบสเตอร์ตั้งอยู่เคียงกันบนชั้นที่โต๊ะเขียนหนังสือ นอกจากนี้ยังมีตารางดาราศาสตร์และการเดินเรือวางอยู่ด้วย ส่วนข้างบนอีกโต๊ะหนึ่งมีแผนผังอุปราคาที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปมีรายการคำนวณเขียนไว้ด้วยดินสอ นอกจากนี้ยังมีแบบลอกแผนที่ของนายชานด์เลอร์วางอยู่ด้วย...”

           นอกจากวิชาดาราศาสตร์แล้ว พระองค์ท่านยังสนพระราชหฤทัยตำราภาษาอังกฤษวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น วิชารัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์โบราณคดี ส่วนพวกตำราและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆ นั้น เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วก็มีเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยทรงสั่งซื้อมาบ้าง ได้รับถวายเป็นราชบรรณาการบ้างยังมีปรากฏอยู่หลายอย่างที่น่าสนใจมากคือโต๊ะทรงคำนวณเป็นโต๊ะไม้สักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๙๐ เซนติเมตร สูง ๗๕ เซนติเมตร มีลิ้นชัก ๒ ตัว ด้านบนของโต๊ะมีบานเปิด พื้นด้านในของบานเปิดนี้เป็นกระดานชนวนอันเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทรงใช้เขียนคำนวณทางดาราศาสตร์ต่อไปก็เป็นกล้องโทรทัศน์ประเภทหักเหแสงมีกำลังขยายสูงสุด ๑๘๐ เท่า แล้วก็มีแผนที่ดาวบอกตำแหน่งของดาวณ ละติจูด ๓๕ องศาใต้ ทำด้วยกระดาษหนา ๒ แผ่น หนังสือดาราศาสตร์ที่ทรงศึกษา ๕ เล่ม อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สำคัญมากอีกชิ้น คือ

เซกส์แทนต์เป็นเครื่องมือวัดมุมในวิชาดาราศาสตร์การเดินเรือทรงใช้กล้องเซกส์แทนต์นี้วัดเส้นรุ้งเส้นแวงของที่ตั้งค่ายหลวงหว้ากอ และทรงตรวจสอบเวลา ณ สถานที่แห่งนั้น เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ นอกจากนั้นยังมีลายพระหัตถ์ทรงพิจารณาเกี่ยวกับวันขึ้นต้นของปักษ์ต่างๆ ตามปฏิทินจันทรคติของไทยพร้อมกับกระดานปักขคณนา เป็นสูตรสำเร็จในการหาวันธรรมสวนะที่ถูกต้องกับการโคจรของดวงจันทร์

    ความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งคือ ในพระราชฐานของพระองค์ทั้งที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจะมีหอดูดาวอยู่ด้วยเสมอ เช่น

  หอชัชวาลเวียงไชย ที่พระราชวังพระนครคีรี บนเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี สร้างเป็นรูปกลมคล้ายกระโจมไฟ มีบันไดเวียนภายในขึ้นข้างบน หลังคาทำเป็นรูปโดมมุงด้วยกระจกโค้งภายในโดมห้อยโคมไฟกลางคืนจุดโคมแล้วก็จะเป็นประภาคารที่หมายนำเรือเข้าอ่าวบ้านแหลม  ชาวบ้านเรียกว่ากระโจมแก้วเป็นประโยชน์แก่ชาวเรือมาก

    ความจริงหอชัชวาลเวียงไชยนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์วิชาดาราศาสตร์ของไทยเพราะมีลักษณะเป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในการรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทยต่อไป ดังนั้นหอนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งสัมฤทธิผลในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบเวลา ตามที่พระองค์ทรงสถาปนาเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศาตะวันออกผ่านใกล้พระนครคีรีขึ้นใช้เป็นเส้นแวงหลักของระบบเวลามาตรฐานของประเทศไทยขณะนั้น

              ระบบเวลามาตรฐานนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์คือการดำเนินงานทางวิทยาศาสตร์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยพื้นฐาน ๓ อย่าง คือระยะทาง(แอล) มวลสาร (เอม) และเวลา (ที) ในสองหน่วยแรกนั้น ทุกชาติสามารถจะให้คำจำกัดความได้ตามที่ตนต้องการไม่ว่าจะพิจารณาจากประเพณีนิยมหรือจากหลักการทางวิทยาการแผนใหม่ แต่สำหรับหน่วยที่สามคือเวลานั้น ทุกชาติเห็นพ้องต้องกันว่า ควรใช้หน่วยของวินาทีโดยถือเอาอัตราเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในรอบปีเป็นหลักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๕ โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เป็นหอสูง ๕ ชั้นยอดบนสุดติดนาฬิกาใหญ่ ๔ ด้าน ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทย สมัยนั้น โดยมีเจ้าพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์ จึงถือได้ว่าเป็นพนักงานทางวิทยาศาสตร์ของไทยรุ่นแรก หอนาฬิกาดังกล่าวได้จำลองมาสร้างที่หน้าวัดรพระเชตุพนในโอกาสฉลองกรุงเทพมหานคร ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕

                  ที่น่าอัศจรรย์ในพระอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ท่านคือ รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายเวลามาตฐานของอังกฤษในคริสต์ศักราช ๑๘๘๐ และที่ประชุมนักดาราศาสตร์ในกรุงวอชิงตันได้ตกลงให้เส้นเมอริเดียนที่ผ่านเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ เป็นเมอริเดียนหลักในการเทียบเวลาของโลก แต่พระองค์ท่านทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานของไทยในคริสต์ศักราช ๑๘๕๓ ก่อนประเทศอังกฤษถึง ๒๗ ปี และทรงใช้เวลามาตรฐานของพระองค์ เป็นหลักในการทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอได้อย่างถูกต้องทั้งในลักษณะของการเกิด เวลาที่จะเกิด และตำบลที่จะสังเกต

                  ส่วนพระราชกรณียกิจอื่นๆ ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ นอกเหนือไปจากการที่ทรงรักษาเอกราชของชาติพ้นจากภัยของลัทธิล่าอาณานิคมมาได้ด้วยการดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างสุขุมรอบคอบ ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไว้ได้แล้ว

                  กล่าวโดยสรุปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับความรู้และเทคโนโลยีของตะวันตกเข้ามาใช้ในการบริหารประเทศอย่างระมัดระวัง และดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพของบ้านเมืองในรัชสมัยทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาสำรวจทำแผนที่ชายแดนพระราชอาณาเขตมาเป็นครูฝึกหัดทหารแบบใหม่มีการต่อเรือกลไฟสีข้าวด้วยเครื่องจักรเปิดการค้าเสรี และส่งเสริมการลงทุนการนำวิชาการทันสมัยของชาวต่างประเทศมาใช้ บ้านเมืองจึงเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในรัชกาลนี้ ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่ชาวไทยจักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและดำเนินตามรอยพระยุคลบาทช่วยกันสร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราทุกคนสืบไป
 

ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี