พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 18.3K views



ประวัติพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ

กองทัพอากาศ ได้เริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ โดยมุ่งหมายรวบรวมยุทธภัณฑ์และสันติภัณฑ์ ทุกประเภทตามยุคตามสมัยเป็นลำดับ จัดแสดงเพื่อเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง

เดิมจัดแสดงอยู่ที่ โรงเก็บเครื่องบินด้านทิศตะวันตกของสนามบินดอนเมือง แต่ยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม เมื่อรวบรวมพัสดุพิพิธภัณฑ์ได้มากขึ้นจึงทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๐๒ ต่อมากองทัพอากาศ ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ เมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๑ แล้วเสร็จเมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๒เป็นต้นมา

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวม อากาศยานที่ปลดประจำการแล้วไว้หลายแบบซึ่งหาดูได้ยาก บางแบบเคยเข้าร่วมปกป้องอธิปไตยจนนักบิน ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญมาแล้วหลายท่าน และกองทัพอากาศได้พยายามปรับปรุงและ พัฒนาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาด้านประวัติของกองทัพอากาศต่อไป

พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ
เลขที่ ๑๗๑ ถนนพหลโยธิน เขตดอนเมือง กรุงเทพ ฯ ๑๐๒๑๐
โทร. ๐- ๒๕๓๔- ๑๘๕๓, ๐- ๒๕๓๔- ๒๑๑๓ โทรสาร ๐- ๒๕๓๔- ๑๗๖๔

กำหนดเวลาเข้าชม
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น.เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
รถประจำทางที่ผ่าน รถธรรมดา ๓๔, ๓๙, ๑๑๔, ๓๕๖
รถปรับอากาศ ๓, ๒๑, ๒๒, ๒๔, ๒๕, ๓๔, ๓๙, ๑๑๔, ๓๕๖

 

อาคารหมายเลข ๑๐๐๙ (ห้องโถงกลาง) จัดแสดงประวัติกองทัพอากาศและกิจการบิน

พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

องค์ผู้ทรงบังคับบัญชา แผนกการบินตั้งแต่สมัยเริ่มแรก

 จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

องค์ผู้ทรงเร่งทำนุบำรุง กรมอากาศยาน

 จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

องค์ผู้ทรงริเริ่มสร้างกำลังทางอากาศ

 จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ

องค์ผู้ทรงทะนุบำรุงกำลังทางอากาศตั้งแต่เริ่มต้น


ลานจอดเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์และแบบอื่นๆ จัดแสดงกลางแจ้ง

 

อาคารหมายเลข ๑๐๑๑ จัดแสดงพัสดุพิพิธภัณฑ์ (อาวุธยุทโธปกรณ์-อุปกรณ์ต่างๆ)

 
 


อาคาร ๑๐๑๐ จัดแสดงอากาศยานหลังสงครามโลก จนถึงยุคไอพ่น


ลานจอดเครื่องบินลำเลียง จัดแสดงกลางแจ้ง

บ.ล.๒ (C-47 ดาโกต้า) หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ทอ.ได้รับเครื่องบิน C-47 ตามโครงการ ช่วยเหลือทางทหารจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องบิน ลำเลียงเอนกประสงค์ที่มีจำนวนสร้างมากที่สุดในโลก และเป็น เครื่องบินที่มีอายุการใช้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน ด้วย ทอ.ได้กำหนดแบบเป็น บ.ล.๒ และใช้งานต่อเนื่องมา จนถึงปัจจุบันนับเป็นเครื่องบินที่ใช้งานยาวนานที่สุดของ ทอ. ไทย ได้เคยทำเกียรติประวัติให้กับ ทอ.มาแล้วอย่างมากมาย โดยเข้าร่วมกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลีและสงคราม เวียดนาม บ.ล.๒ ยังใช้ปฏิบัติภารกิจตามโครงการ พระราชดำริสนับสนุนทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ทำฝนเทียม) เคยประจำการในกองบินน้อยทื่ ๒ รร.การบิน และกองบิน ๖ ประจำการใน ทอ. พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๕๓๔ บ.ล.๒ ที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ของ ทอ.เป็นเครื่องบิน ลำเลียงเครื่องแรกที่ ทอ.จัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในทุกภาคของประเทศ และปลดประจำการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔

บ.ล.๑ (BEECHCRAFT C-45) ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ทอ.ได้ซื้อเครื่องบินบีชคราฟท์ ซี-๔๕ จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาใช้งานในกองทัพอากาศ โดยกำหนดสัญลักษณ์ เป็น บ.ล.๑ นับเป็นเครื่องบินลำเลียงขนาดเบาที่ ๑ ของ ทอ.ไทย เป็นเครื่องบินขนส่ง ขนาดเบาที่ใช้งานแพร่หลายและยาวนาน ทั้งทางทหารและพลเรือน เคยประจำการใน กองบิน ๖ ประจำการใน ทอ. พ.ศ.๒๔๙๐-๒๕๑๔ บทบาทของ บ.ล.๑ เคยเข้าร่วม แสดงบินถ่ายรูปในงานแสดงการบินครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕

บ.ล.๔ (C-123B) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทอ.ได้รับ บ.ล.๔ (C-123B) ตามโครงการช่วยเหลือทาง ทหารจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องบินลำเลียงขนาด กลางที่สามารถปฏิบัติการได้ในสนามบินชั่วคราว และสามารถ ดัดแปลงเป็นเครื่องบินลำเลียงทหาร เครื่องบินโดดร่ม เครื่องบินพยาบาล เครื่องบินลำเลียงทหาร เครื่องบิน ลำเลียงพัสดุภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป เคยประจำการในกองบิน ๖ ประจำการใน ทอ.ปี พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๓๒ ภารกิจและบทบาท ของ บ.ล.๔ ปฏิบัติภารกิจทหารเมื่อยามที่ประเทศแวดล้อม อยู่ด้วยภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทอ.สหรัฐ ฯ ให้เป็น เครื่องบินลำเลียงในสงครามเวียดนาม


อาคารหมายเลข ๑๐๐๙ (ด้านซ้าย) จัดแสดงอากาศยานแบบต่างๆ และที่สร้างขึ้นเอง

บ.ท.๒ (บริพัตร) ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ น.ท.หลวงเวชยันต์รังสฤษฎ์ (อดีต ผบ.ทอ.) ได้ออกแบบและสร้างเครื่องบินขึ้นในราชการ เป็นเครื่องบิน ประเภททิ้งระเบิด ทอ.กำหนดแบบว่า บ.ทอ.๒ ผลการทดลองประสบ ผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "บริพัตร" นับว่าเป็นการออกแบบและสร้างเครื่องบินใช้ในราชการได้เป็นครั้งแรกโดยคนไทย เคยประจำการในกองบินน้อยที่ ๒ ประจำการใน ทอ. พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๘๓ บทบาทของ บ.ท.๒ (บริพัตร) เคยเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ไปเยือนประเทศอินเดียตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย กรมอากาศยาน ได้ส่ง บ.ท.๒ ไปในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ครั้งที่ ๒ ไปเยือนอินโดจีนฝรั่งเศส กรมอากาศยานส่ง บ.ท.๒ ไปฮานอยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และนำพวงมาลา ไปวางที่อนุสาวรีย์ทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๔๗๓

บ.ต.๒ (CESSNA O-1 BIRD DOG) ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ทอ.ได้รับเครื่องบิน O-1A ตามโครงการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องบินประเภท สื่อสาร, ตรวจการณ์, ควบคุมอากาศยานหน้า - ชี้เป้า ที่นั่งเรียงกัน และเป็นเครื่องบินฝึก นักบินด้วย ทอ.กำหนดแบบเป็น บ.ต.๒ เคยประจำการในกองบิน ๒๓ และกองบิน ๕๓ ประจำการใน ทอ.ปี พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๓๓ บทบาทของ บ.ต.๒ เป็นเครื่องบินที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมาแล้วมากมายผ่านสมรภูมิการรบ มาแล้วโชกโชนโดยทำหน้าที่ในการสื่อสารตรวจการณ์ควบคุมอากาศยานหน้าและชี้เป้าให้เครื่องบิน ขับไล่ในการโจมตีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมดำเนินการถวายราชสดุดีแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาโดยทำการบินปล่อยควันสีและ โปรยข้าวตอกดอกไม้บริเวณท้องสนามหลวง ใน ๕ ธ.ค.๒๕๒๙


สวนหย่อมเครื่องบิน จัดแสดงกลางแจ้ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ 
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rtaf.mi.th/rtaf-travel/museum.htm