Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รากฐานทางภาษา ภาษาบาลีและสันสกฤตกับภาษาไทย

Posted By naminmin273 | 06 ม.ค. 68
37 Views

  Favorite

ภาษาไทยได้รับอิทธิพลจากทั้งภาษาบาลีและสันสกฤต อาทิด้านโครงสร้าง คำศัพท์ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับศาสนา พิธีกรรม และวิถีชีวิตในอดีต

 

เหตุที่คำภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาปะปนในภาษาไทย

1. ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา 

เมื่อศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย   ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต และศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ในการเผยแผ่ศาสนา   ไทยได้รับศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และรับคติของศาสนาพราหมณ์มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะในลัทธิธรรมเนียมประเพณีต่างๆ  เราจึงรับคำในลัทธิทั้งสองเข้ามาใช้ในลักษณะของศัพท์ทางศาสนา และใช้เป็นศัพท์สามัญทั่วไปในชีวิตประจำวัน

 

2. ความสัมพันธ์ทางด้านประเพณี 

เมื่อชนชาติอินเดียได้เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย  ก็นำเอาประเพณีของตนเข้ามาปฏิบัติ ทำให้มีคำที่เนื่องด้วยประเพณีเข้ามาปะปนในภาษาไทย  และนานเข้าก็ได้กลายเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย เช่น  ตรียัมปวาย มาฆบูชา  ตักบาตรเทโว  ดิถี กระยาสารท เทศน์มหาชาติ กฐิน จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฉัตรมงคล พืชมงคล เป็นต้น

 

3. ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม  

อินเดียเป็นประเทศที่เจริญทางด้านวัฒนธรรมมานาน  อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของอินเดียมีต่อนานาประเทศทางภาคพื้นตะวันออกก่อนที่วัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามา  ไทยได้รับอิทธิพลของอินเดียทุกสาขา เช่น

- ศิลปะ ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  เช่น ทางดนตรีและนาฏศิลป์   ภาษาที่ใช้เนื่องด้วยเป็นศิลปะจึงเข้ามาปะปนในภาษาไทย เช่น มโหรี ดนตรี ปี่พาทย์

- ดาราศาสตร์ อินเดียมีความเจริญทางด้านดาราศาสตร์มาช้านานจนมีตำราเรียนกัน  เมื่อวิชานี้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย  ทำให้คำต่างๆที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น สุริยคติ จันทรคติ จันทรคราส

- การแต่งกาย ศัพท์ทางด้านวัฒนธรรมการแต่งกายที่ได้รับมาส่วนใหญ่เป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เช่น มงกุฎ ชฎา สังวาล

- สิ่งก่อสร้าง คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นศัพท์ที่เรียกชื่อสิ่งก่อสร้างทางศาสนาและราชวัง เช่น นภศูล ปราสาท เจดีย์

- เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ชาวอินเดียนำเข้ามาในประเทศไทย  ทำให้เราได้รับคำที่เรียกเครื่องมือเครื่องใช้นั้นๆเข้ามาใช้ด้วย เช่น อาวุธ ทัพพี คนโท

- การใช้ราชาศัพท์  การใช้ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย  ที่ต้องการแยกศัพท์ของคนสามัญชนออกจากศัพท์ที่ใช้กับพระราชาและเชื้อพระวงศ์  เป็นเหตุให้เรารับคำบาลีและสันสกฤต  ซึ่งถือว่าเป็นภาษาที่สูงเข้ามาใช้ เช่น พระเนตร พระบาท พระกรรณ บางคำก็รับเข้ามาเป็นคำสุภาพ เช่น บิดา มารดา ฯลฯ

 

4. ความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการ  

เนื่องจากวิทยาศาสตร์และวิทยาการเจริญกว้างขวางขึ้น ทำให้คำที่เราใช้อยู่เดิมแคบเข้า  จึงจำเป็นต้องรับคำบาลี สันสกฤต เข้ามาใช้ เพื่อความเจริญและความสะดวก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แพทย์ เภสัช ฯลฯ

 

5. ความสัมพันธ์ทางด้านวรรณคดี  

วรรณคดีอินเดียมีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งวรรณคดีสันสกฤต และวรรณคดีที่เนื่องมาจากชาดกในพระพุทธศาสนา  เมื่อเรารับเอาวรรณคดีเหล่านี้เข้ามา  จึงมีศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวกับวรรณคดีเหล่านี้เข้ามามากมาย เช่น ครุฑ สุเมรู หิมพานต์ ฯลฯ

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • naminmin273
  • 0 Followers
  • Follow