คือการรักษาสุขภาพช่องปากในเด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้นมา ในช่วงอายุประมาณ 6 – 8 เดือน ไปจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนกลางอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันแท้ขึ้นมาแทนฟันน้ำนมทั้งหมดแล้ว (ยกเว้นฟันกรามซี่ในสุด 4 ซี่ ที่จะขึ้นมาในช่วงอายุประมาณ 18 ปี)
การดูแลสุขภาพฟันตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันปัญหาทางช่องปากในอนาคต และช่วยเสริมสร้างสุขภาพฟันที่แข็งแรง ทันตกรรมเด็ก จึงเน้นไปที่การดูแลฟันน้ำนมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการแนะนำในการดูแลฟันน้ำนม การทำทันตกรรมเพื่อป้องกันฟันน้ำนมผุ และรักษาฟันผุ
1. ทำฟันเด็กเล็ก
เด็กเล็ก หมายถึง เด็กในช่วงอายุประมาณ 6 เดือน – 2 ปี เป็นช่วงที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นและขึ้นจนครอบ เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก ทันตกรรมในช่วงนี้จึงจะเน้นเรื่องการแนะนำในการดูแลฟันน้ำนมให้กับคุณพ่อคุณแม่
ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำในเรื่องการทำความสะอาดฟันน้ำนม พฤติกรรมการกินนมหรือใช้ขวดนมที่ดีต่อฟันน้ำนม การเลิกนมมือดึก การเลิกขวดนม การเลือกอาหารว่างที่เหมาะสมกับฟันของเด็ก
2. ทำฟันเด็กวัยอนุบาล
เด็กวัยอนุบาล เป็นเด็กในช่วงอายุประมาณ 3 – 6 ปี เป็นช่วงของการดูแลฟันน้ำนมเมื่อขึ้นครบแล้ว เด็กในวัยนี้เริ่มดูแลรักษาฟันด้วยตัวเองได้แล้ว และเป็นวัยที่เริ่มพบฟันผุจนมีอาการปวดฟันได้เช่นกัน
การทำฟันเด็กในวัยนี้จะเน้นที่การแนะนำให้เด็กรู้จักกับเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ดูแลรักษาฟัน และวิธีการดูแลช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำทันตกรรมให้เด็ก
โดยสิ่งที่แนะนำจะมีตั้งแต่การแปรงฟัน ขัดฟัน ตรวจฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ไปจนถึงทันตกรรมเด็กอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเด็กๆ เริ่มคุ้นเคย และในการทำฟันแต่ละครั้ง ทันตแพทย์จะไม่ทำฟันนาน แต่จะนัดพบหลายครั้งแทน เพื่อไม่ให้เด็กวัยนี้เครียดจนเกินไป เมื่อเด็กคุ้นเคยมากขึ้นจึงจะเริ่มเพิ่มเวลา
3. ทำฟันเด็กโต
เด็กโต คือเด็กในช่วงอายุประมาณ 7 – 12 ปี เป็นช่วงที่ฟันแท้เริ่มขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนม และเป็นช่วงที่เด็กโตพอที่จะดูแลตัวเองได้อย่างดี และสามารถควบคุมตนเองได้ระหว่างการทำฟัน
ทันตกรรมเด็กที่จะทำในเด็กโต จะเน้นไปที่การแนะนำเกี่ยวกับการดูแลฟันแท้ อย่างข้อควรระวังเกี่ยวกับการดูแลฟันหน้า การป้องกันฟันแท้ผุโดยเฉพาะที่ฟันกรามแท้ เป็นต้น
หมอฟันเด็กจะ X-ray เพื่อตรวจเช็คสุขภาพช่องปากภายในที่ไม่สามารถตรวจได้ด้วยตา ซึ่งจะเห็นความเป็นไปได้ของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในช่องปากของเด็กในอนาคต
หากเด็กมีอายุ 6 เดือน – 2 ปี หมอฟันเด็กจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำความสะอาดช่องปากตั้งแต่การใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดฟัน เหงือกและลิ้น การเลือกแปรงสีฟันและไหมขัดฟัน การเลิกขวดนมมื้อดึก รวมถึงการเลือกอาหารว่างที่เหมาะสมกับวัย
หากเด็กมีอายุ 3 – 6 ปี หมอฟันเด็กจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำความสะอาดช่องปากโดยมีผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และวิธีการป้องกันฟันผุในฟันน้ำนม
หากเด็กมีอายุ 7 – 12 ปี หมอฟันเด็กจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำความสะอาดช่องปากด้วยตัวเอง วิธีป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่อฟันหน้าแท้ รวมถึงวิธีป้องกันฟันผุในฟันกรามแท้
หมอฟันเด็กจะเคลือบฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุและเสริมสร้างความแข็งแรงของฟันตามประเภทของฟลูออไรด์ การเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กมีทั้งหมด 2 ประเภท
- ฟลูออไรด์แวนิช (Fluoride Varnish) คือฟลูออไรด์สำหรับป้ายฟัน เมื่อป้ายฟันที่แห้งอยู่ เนื้อฟลูออไรด์แวนิชจะติดกับฟัน โดยไม่ต้องใช้ถาดฟลูออไรด์ การเคลือบฟลูออไรด์ชนิดนี้จึงเหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
- ฟลูออไรด์เจล (Fluoride Gel) คือฟลูออไรด์ที่จะใช้กับถาดฟลูออไรด์ (Fluoride Tray) เพื่อให้เคลือบผิวฟันอย่างทั่วถึง วิธีนี้ใช้ทั้งในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป และในผู้ใหญ่
โดยหมอฟันเด็กจะแปรงหรือขัดฟันของเด็กให้สะอาด จากนั้นเลือกขนาดถาดฟลูออไรด์ให้เหมาะกับชุดฟันของเด็ก จากนั้นให้เด็กกัดถาดเอาไว้เพื่อเคลือบฟลูออไรด์
หมอฟันเด็กจะทาน้ำยาเคลือบหลุมร่องฟันของผิวฟันด้านบดเคี้ยวเพื่อช่วยให้เราทำความสะอาดฟันได้ทั่วถึงและลดอาการฟันผุได้ดีขึ้นแล้ว อีกทั้งช่วยลดปัญหาฟันสำหรับเด็กที่มีภาวะฟันขบสึกหรือมีร่องฟันลึกด้วย
ขั้นตอนการเคลือบหลุมร่องฟัน
- ตรวจเช็คฟันกรามซี่ที่ต้องการเคลือบหลุมร่องฟัน หากฟันผุจะต้องกรอส่วนที่ผุออกไปก่อน แต่ถ้าเป็นฟันผุในระยะเริ่มต้น สามารถเคลือบหลุมร่องฟันทับลงไปได้เลย
- ทำความสะอาดฟันซี่ที่ต้องการทำให้สะอาด
- ใช้แผ่นยางกั้นน้ำลาย กั้นฟันซี่ที่ต้องการทำออกมา จากนั้นจึงใช้กรดความเข้มข้นต่ำกัดเคลือบฟันบางส่วนออก เพื่อให้วัสดุพอลิเมอร์ติดกับฟันได้ดี
- ล้างกรดออกด้วยน้ำสะอาด
- จากนั้นทันตแพทย์จะกันฟันซี่ที่จะเคลือบหลุมร่องฟันออกมาอีกครั้ง แล้วเช็ดฟันหรือเป่าฟันให้แห้งที่สุด เพื่อให้วัสดุพอลิเมอร์ติดกับฟันได้ดียิ่งขึ้น
- ใส่วัสดุพอลิเมอร์ลงไปที่ร่องฟัน ตกแต่งให้เข้ากับพื้นที่ฟัน และทำให้ร่องฟันที่เป็นร่องลึกนั้นตื้นขึ้น จากนั้นทันตแพทย์จะฉายแสงเพื่อให้วัสดุพอลิเมอร์แข็งตัวติดอยู่กับฟัน
- ตรวจดูการสบฟัน ว่าเข้ากับฟันคู่สบได้ไหม มีส่วนไหนตื้นเกินไปหรือเปล่า หากยังไม่เข้าที่ ทันตแพทย์จะกรอฟันเพิ่ม เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด
เนื่องจากเด็กเป็นช่วงวัยที่ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ทั่วถึง หมอฟันเด็กจึงต้องอุดฟันน้ำนมโดยซ่อมแซมเนื้อฟันที่มีรอยผุ เพื่อให้ฟันน้ำนมที่เสื่อมง่ายกลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยมีวัสดุที่ใช้อุด 3 ประเภท ได้แก่
- อุดฟันอมัลกัม (Amalgam) เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุโลหะอมัลกัม ข้อดีคือเป็นวัสดุที่คงทน แข็งแรง เหมาะกับการอุดฟันกราม แต่ข้อเสียก็คือมีสีเงินเหมือนโลหะ โดดออกมาจากสีขาวของฟัน เมื่ออุดฟันอมัลกัมจึงดูไม่สวยงามนัก
- อุดฟันเรซินคอมโพสิต (Composite Resin) เป็นการอุดฟันด้วยเรซินสีเดียวกับเนื้อฟัน ทำให้ฟันที่อุดดูสวย เหมาะกับการอุดฟันที่ฟันหน้า แต่ก็มีข้อเสียที่วัสดุอุดแบบนี้ไม่แข็งแรงมากนักเมื่อเทียบกับอมัลกัม
- อุดฟันกลาสไอโอโนเมอร์ (Glass Lonomer) เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ที่สีเหมือนฟัน อีกทั้งตัววัสดุยังสามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกมาได้ เหมาะมากกับตำแหน่งที่ฟันผุมาก และมีแนวโน้มที่ฟันจะผุเพิ่ม แต่มีข้อเสียที่สีไม่เหมือนฟันเท่าเรซิน และยังแข็งแรงน้อยที่สุดในวัสดุอุดทั้งหมดด้วย
หมอฟันเด็กจะครอบฟันเพื่อรักษาฟันที่แตกหักหรือบิ่นโดยใช้วัสดุเลียนแบบซี่ฟันธรรมชาติ สวมครอบฟันที่เสียหายลงไปทั้งซี่
ครอบฟันน้ำนมมีด้วยกัน 4 แบบ
- ครอบฟันสีเงินจากโลหะสแตนเลส ครอบฟันแบบนี้จะแข็งแรงมาก แต่มีข้อเสียคือสีจะโดดออกจากฟันซี่อื่นๆ
- ครอบฟันสีเงินด้านใน สีขาวด้านนอก เป็นการครอบฟันด้วยโลหะสแตนเลส แต่ทันตแพทย์จะปิดทับด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟันด้านนอก ทำให้แข็งแรงทนทาน และสวยงาม แต่ก็มีข้อเสียคือจะยังเห็นเงาสะท้อนสีเงินอยู่ด้านหลังฟัน
- ครอบฟันจากวัสดุอุดสีเหมือนฟัน เป็นครอบฟันที่สวยงาม สีเหมือนฟันทั้งด้านหน้าและด้านใน แต่มีข้อเสียคือวัสดุอุดไม่ได้แข็งแรงมากนัก ครอบฟันจะแตกและเสียหายได้ง่าย
- ครอบฟันจากเซรามิกสีเหมือนฟัน ครอบฟันประเภทนี้ทั้งสีเหมือนฟัน สวยงาม และแข็งแรง แต่มีข้อเสียคือราคาสูงกว่าครอบฟันแบบอื่นๆ
หมอฟันเด็กจะถอนฟันน้ำนมของเด็กเองเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นกีฬา ทานอาหาร นอน ทั้งนี้อาจถอนฟันเพียงอย่างเดียวหรืออาจรักษารากฟันร่วมกับครอบฟันน้ำนม หลังจากนั้นจึงใส่เครื่องมือกันฟันเพื่อป้องกันปัญหาฟันตามมา
ขั้นตอนการถอนฟันน้ำนม
- ทันตแพทย์ตรวจวินิจฉัย วางแผนการรักษา ว่าควรถอนฟันเลยหรือไม่ ต้องใส่อุปกรณ์กันฟันล้มเลยหรือเปล่า รวมทั้งวางแผนวิธีเข้าหาเด็กว่าต้องรักษาอย่างไรเด็กจึงจะให้ความร่วมมือขณะถอนฟัน
- ก่อนถอนฟัน ทันตแพทย์จะใช้ยาชาในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กรู้สึกเจ็บให้น้อยที่สุด ก่อนเริ่มขั้นตอนการถอนฟัน ทันตแพทย์ต้องแน่ใจจริงๆว่ายาชาออกฤทธิ์แล้ว เพราะเด็กบางคนอาจจะร้องไห้ขณะรักษา ไม่ได้ร้องไห้จากความเจ็บปวด แต่อาจจะร้องได้จากความกลัวหรือความกดดัน
- เมื่อยาชาออกฤทธิ์แล้ว ทันตแพทย์จะถอนฟัน ถ้าฟันแน่นมากก็จะต้องเปิดเหงือกก่อนการถอนฟันด้วย
- ห้ามเลือดหลังการถอนฟันด้วยการกัดผ้าก๊อช หรือถ้าเลือดออกมากอาจจะต้องเย็บแผลด้วย
หมอฟันเด็กจะรักษารากฟันโดยการตัดโพรงประสาทฟันหรือเนื้อเยื่อเล็กๆ ที่อักเสบอยู่ใจกลางฟันเพื่อทำความสะอาด จัดรูป และอุดส่วนที่เหลือ เพื่อรักษาบริเวณโพรงประสาทฟันให้กลับเข้าสู่ภาวะปลอดเชื้อเหมือนฟันปกติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขูดหินปูนซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุก 6 เดือนอยู่แล้ว
ขั้นตอนการรักษารากฟันน้ำนม
- ทันตแพทย์จะเริ่มด้วยการใช้ยาชาเพื่อให้เด็กเจ็บน้อยที่สุด
- หลังยาชาออกฤทธิ์ ใช้แผ่นยางกั้นฟันซี่ที่ผุออกมา แล้วจึงกรอฟันนำส่วนที่ผุออกให้ได้มากที่สุด
- ทันตแพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างทำความสะอาดในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟัน เพื่อทำความสะอาดเชื้อโรค และเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกไปจนหมด ในขั้นตอนนี้อาจจะทำไม่เสร็จในครั้งเดียว ทันตแพทย์จะใช้วัสดุอุดปิดไว้ชั่วคราว และนัดมาอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อ ทำไปเรื่อยๆจนกว่าเชื้อโรคจะหมดไป
- หลังจากเชื้อหายไปหมดแล้ว แพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันอย่างถาวรเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
- ซ่อมแซมฟันให้กลับมาสวยงามเหมือนเดิมด้วยวัสดุอุด หรือการทำครอบฟัน
หมอฟันเด็กจะจัดฟันให้เด็กในกรณีที่เด็กมีปัญหาฟัน ดังต่อไปนี้
- ฟันหน้ายื่นผิดปกติ
- คางยื่น
- ฟันเก
- ฟันซ้อน
- ฟันห่าง
- ฟันสบกันผิดปกติ
โดยแบ่งวิธีการจัดฟันเป็น 4 แบบ ได้แก่ การจัดฟันแบบโลหะ การจัดฟันแบบเซรามิก การจัดฟันแบบดามอนและการจัดฟันใส ทั้งนี้หมอฟันเด็กจะติดเครื่องมือจัดฟันและนัดปรับเครื่องมือเดือนละ 1-2 ครั้ง แล้วแต่ประเภท เพื่อให้ฟันเคลื่อนที่ไปตามแผนการรักษา
- ฟันผุ
ฟันผุเป็นปัญหาทางทันตกรรมที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียในช่องปากที่ทำลายชั้นเคลือบฟันของเด็ก การดูแลฟันให้สะอาดอยู่เสมอและหลีกเลี่ยงอาหารหวานมากเกินไปเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
- ฟันซ้อนและฟันเก
เด็กบางคนอาจมีปัญหาฟันเรียงตัวไม่ดี ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร การพูด และความมั่นใจในตนเอง ทันตแพทย์เด็กสามารถตรวจสอบและแนะนำการแก้ไข เช่น การจัดฟัน เพื่อปรับโครงสร้างฟันให้เหมาะสม
- ปัญหาการกัดฟัน
เด็กบางคนอาจมีนิสัยกัดฟันหรือขบฟันขณะนอนหลับ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อฟันน้ำนมและฟันแท้ในระยะยาว การตรวจสอบและการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันการสึกหรอของฟันและปัญหาทางทันตกรรมในอนาคต
- เริ่มต้นการแปรงฟันตั้งแต่ฟันซี่แรก
ผู้ปกครองควรเริ่มต้นทำความสะอาดฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น โดยใช้ผ้าเปียกหรือน้ำเกลือเช็ดฟันและเหงือกเบาๆ และเมื่อฟันเพิ่มขึ้นให้เริ่มใช้แปรงฟันสำหรับเด็กและยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ในปริมาณที่เหมาะสม
- ฝึกให้เด็กแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
การฝึกให้เด็กแปรงฟันทุกเช้าและก่อนนอนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันปัญหาฟันผุและโรคเหงือก การเลือกใช้แปรงฟันและยาสีฟันที่เหมาะสมกับวัยของเด็กเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
- พาเด็กไปพบหมอฟันเป็นประจำ
ควรพาเด็กไปพบหมอฟันเพื่อตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทันตแพทย์ตรวจสอบฟันและช่องปากของเด็กอย่างละเอียด และรับคำแนะนำในการดูแลฟันอย่างถูกวิธี
- ลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง
การลดการบริโภคอาหารหวาน เช่น ขนม ลูกอม หรือเครื่องดื่มน้ำอัดลม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในเด็ก และส่งเสริมสุขภาพฟันที่ดี
แหล่งข้อมูล
ทำฟันเด็ก ทันตกรรมสำหรับเด็ก มีอะไรบ้าง พาลูกไปหาหมอฟันเด็กที่ไหนดี ?