แอปกู้เงิน ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้หมายถึง “ช่องทาง หรือวิธีการกู้เงิน” ที่ผู้สนใจยื่นสมัครและดำเนินเรื่องการกู้เงินผ่านออนไลน์ คอมพิวเตอร์ หรือมือถือ ซึ่งอาจใช้วิธีการหลากหลาย เช่น แอดไลน์ ส่งลิงก์ให้กรอก หรือ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของผู้ให้กู้มาติดตั้งและกรอกข้อมูล สแกนเอกสาร หรือถ่ายรูปเป็นไฟล์ส่งให้อนุมัติ บางกรณีก็ยังอาจต้องส่งเอกสารตัวจริงตามไปอีกก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้กู้
แอปกู้เงิน หรือการขอสินเชื่อ หรือกู้ยืมเงินแบบ “กู้ง่าย อนุมัติไว ผ่านออนไลน์” นี้อาจสะดวกสบายรวดเร็วในยุคดิจิทัล แต่ผู้ต้องการใช้เงินด่วนก็ควรเข้าใจกฎหมายให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจ โดยจะชี้ให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับประเภทของแอปกู้เงินว่าแบบไหนเสี่ยงผิดกฎหมาย
กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อมีหลายฉบับ เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ฯลฯ โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ
- กฎหมายเกี่ยวกับการขออนุญาต ทั้งนี้เพราะการประกอบธุรกิจสินเชื่อ ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง
- กฎหมายที่ควบคุมการดำเนินการของแอปเงินกู้ หรือแอปกู้เงิน เช่น ควบคุมอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนด ควบคุมสัญญาที่ทำกับผู้กู้ ควบคุมพฤติกรรมการทวงหนี้ ฯลฯ
เราสามารถจำแนกประเภทแอปเงินกู้ ได้ 4 ประเภท
1. แอปกู้เงินของสถาบันการเงิน
เช่น ธนาคาร ซึ่งประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.บ. สถาบันการเงิน สามารถให้กู้ยืมเงินในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะแบบดั้งเดิมโดยติดต่อที่สาขา หรือผ่านแอปของธนาคาร ในเบื้องต้นจึงกล่าวได้ว่า แอปเงินกู้ของธนาคารเป็นแอปถูกกฎหมาย แต่ก็ต้องดูรายละเอียดการดำเนินการต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินผ่านธนาคาร มีเงื่อนไขและเกณฑ์หลายอย่าง เช่น ใช้เวลาพิจารณาอนุมัตินาน ต้องมีหลักประกัน ผู้กู้ต้องมีรายได้หรือประวัติทางการเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด ต้องยื่นรายการเดินบัญชี (Statement) ฯลฯ ทำให้คนที่อยากกู้แบบ “ด่วน ไว ไม่ต้องค้ำ ไม่ต้องมีหลักประกัน” มองหาทางเลือกอื่น เช่น
2. แอปกู้เงินของผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร
ผู้ให้สินเชื่อประเภทนี้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง มีหลายประเภท จับกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน เช่น สินเชื่อเพื่อใช้ส่วนตัว หรือสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย ฯลฯ สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารนี้อาจแบ่งเป็นหลายประเภท มีชื่อเฉพาะเช่น
- สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano finance)
เป็นการให้กู้รายย่อยเพื่อประกอบธุรกิจ วงเงินจำกัดไม่เกินหนึ่งแสนบาท และเรียกดอกเบี้ยห้ามเกิน 33% ต่อปี มีเกณฑ์หรือเงื่อนไขน้อยกว่าการขอสินเชื่อปกติผ่านธนาคาร เช่น ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่สามารถแสดงรายได้แน่นอนก็มีสิทธิ์ขอกู้
- สินเชื่อ พิโกไฟแนนซ์ (Pico finance)
เป็นการให้กู้รายย่อยคล้ายกับนาโนฯ แต่จำกัดขอบเขตในระดับจังหวัด หรือเรียกได้ว่าสินเชื่อใกล้ตัวของชาวชุมชนในพื้นที่ แม้ว่าผู้ให้กู้แบบนี้ไม่ใช่ธนาคาร แต่ต้องจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง จึงต่างจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ
โดยสามารถให้กู้ในวงเงินจำกัดไม่เกินห้าหมื่นบาท ถ้ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 33% ต่อปี ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ต่อไป แต่ถ้าเป็นประเภท “สินเชื่อพิโกพลัส” จะให้วงเงินได้เกินห้าหมื่นแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 28% ต่อปี ผู้ให้กู้แบบพิโกไฟแนนซ์ ต้องใช้เงินตัวเองมาปล่อยกู้ เพราะกฎหมายห้ามระดมทุนจากประชาชนทั่วไปมาปล่อยกู้
ดังนั้น แอปเงินกู้ของนาโนหรือพิโกซึ่งผู้ประกอบการได้รับอนุญาตแล้ว ในเบื้องต้นก็ถือเป็นแอปที่ถูกกฎหมาย แต่มีข้อควรระวังสองข้อคือ
- ชื่อนาโนหรือพิโก เป็นชื่อประเภทสินเชื่อ โดบผู้ให้บริการประเภทนี้ก็จะมีชื่อยี่ห้อของตนเองแตกต่างกันไป โดยต้องดูว่ามีเลขที่ใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
- แม้ว่าแอปเหล่านี้จะเป็น “แอปในระบบ” ของผู้ให้บริการที่ขออนุญาตแล้ว แต่ก็ต้องดูต่อไปว่า การดำเนินการสอดคล้องกับเงื่อนไขกฎหมายหรือไม่ เช่น อัตราดอกเบี้ย การทวงหนี้ ฯลฯ
3. “เงินกู้นอกระบบ”
ผู้ให้สินเชื่อประเภทนี้ไม่ได้ขออนุญาต เช่น เจ้าแม่เจ้าพ่อหรือขาใหญ่ในพื้นที่ ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจใด ๆ เมื่อการประกอบธุรกิจสินเชื่อแบบนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้ว หากมีการให้กู้เงินผ่านแอป ก็เป็น “แอปนอกระบบ” รวมทั้งยังอาจมีความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อผู้กู้ เช่น ดอกเบี้ยโหด การบังคับติดตามหนี้แบบคุกคาม ฯลฯ ผู้ให้กู้นอกระบบแบบนี้ก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้งการประกอบธุรกิจไม่ได้รับอนุญาต ผิด พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯลฯ
4. แอปเงินกู้หลอกลวง
กล่าวคือ ไม่ใช่ธุรกิจเงินกู้ใด ๆ แต่ให้โหลดแอปอ้างว่าให้กู้ง่ายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อหลอกลวงต่าง ๆ เช่น ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะนำไปใช้ทุจริต หรือ หลอกให้โอนเงินมัดจำหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มาก่อนที่จะได้อนุมัติกู้ ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนหาเงินอยู่แล้ว ต้องไปหาเงินมาโอนไปให้อีก หลาย ๆ ครั้ง ในที่สุดแอปนั้นก็หายไป ฯลฯ แบบนี้อาจจัดอยู่ในประเภท “แอปดูดเงิน” ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฐานนำข้อมูลปลอมหรือเท็จเข้าสู่ระบบ รวมทั้ง ฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา
แอปเงินกู้ของผู้ให้บริการบางราย อาจเป็นมากกว่าแค่ช่องทางการส่งเอกสาร และใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ขอกู้มากกว่าการกรอกแบบฟอร์มขอกู้ เช่น แอปกู้เงินบางรายนำข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ จากสมาร์ทโฟน รวมถึงข้อมูลในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของผู้ขอกู้นั้น แล้วก็ใช้ระบบอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) นำข้อมูลรวมกันมาบ่งชี้พฤติกรรม สถานะการเงิน เครดิต ซึ่งอาจทำเป็นค่าคะแนนว่าคน ๆ นี้มีคะแนนทางการเงินเท่าใด ควรให้กู้หรือไม่ ควรได้ดอกเบี้ยเท่าใด ฯลฯ
การกระทำแบบนี้เป็นการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการวิเคราะห์อัตโนมัติและอาจเกี่ยวข้องกับข้อมูล “น่ากังวล” เชิงความรู้สึกของผู้กู้ เพราะวิถีชีวิตต่าง ๆ จะถูกนำมาประกอบในการวิเคราะห์ แบบนี้ แม้ว่าจะเข้าข่ายกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA ที่โดยหลักแล้วต้องขอความยินยอมก่อนก็ตาม แต่ผู้ให้กู้มักจะทำ “ข้อตกลงการใข้งาน” ที่ผู้ขอกู้ต้อง “ตกลงยอมรับ” เมื่อจะโหลดแอปมาใช้ เมื่อยอมรับไปแล้วก็ส่งผลให้แอปสามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย PDPA
ดังนั้น ถ้าหากผู้กู้ไม่ประสงค์ให้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกหรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตอื่น เช่น สื่อโซเชียล ก็ต้องอ่านรายละเอียดในนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลและข้อตกลงการใช้งานของแต่ละแอปให้ดีก่อนที่จะโหลดและกด “ตกลง”
แอปเงินกู้ จึงเป็นเพียงช่องทาง หรือวิธีการของการกู้เงิน สรุปง่าย ๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้แอปเหล่านี้ การดูว่าแอปเงินกู้ผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ควรตรวจสอบหลักสองข้อสำคัญตามนี้ คือ
1. ในเบื้องต้นตรวจสอบว่า แอปนั้น ได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจถูกต้องหรือไม่
2. ในการให้กู้ ผู้ให้บริการแอปนั้น ดำเนินกิจกรรมถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น คิดดอกเบี้ยเกินอัตราหรือไม่ การนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ไปวิเคราะห์ถูกกฎหมายหรือไม่
รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์
สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม เกษมบัณฑิต