“นักรีวิว” ในที่นี้หมายถึง ผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ แล้วนำประสบการณ์เกี่ยวกับสินค้า หรือบริการนั้นมาสร้างคอนเทนต์บอกเล่าผ่านสื่อออนไลน์ โดยมีทั้งนักรีวิวที่ทำแล้วสร้างรายได้เป็นธุรกิจ หรืออาจเป็นนักรีวิวงานอดิเรก บทความนี้จะกล่าวถึงแง่มุมข้อกฎหมายสำคัญที่ควรระวังสำหรับนักรีวิว
นักรีวิวอาชีพหรือสมัครเล่นควรตระหนักในเบื้องต้นว่า ไม่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมนักรีวิว แต่การรีวิวอาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายหลายฉบับขึ้นอยู่กับ “ลักษณะการรีวิว” และ “สินค้าหรือบริการ” แต่ละประเภท
การรีวิวร้านอาหาร เครื่องดื่ม ไม่ได้มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ แต่ข้อควรระวังคือ อาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างมีกฎหมายควบคุมการนำเสนอเนื้อหาอย่างเช่น
รีวิว “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
ดังนั้น โพสต์รีวิวอาหารแล้วถือแก้วถือขวดแสดงชื่อหรือโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ อาจเสี่ยงผิดกฎหมายนี้ เราจึงเห็นเทคนิควิธีการของนักริวีวสายกินเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้าม เช่น เบลอภาพในส่วนขวดหรือแก้วเพื่อไม่ให้เห็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่าเป็นแอลกอฮอล์ แต่ถ้ารีวิวเครื่องดื่มอื่น ๆ ชา กาแฟ ก็ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้
หนึ่งในเรื่องที่พบได้ตามสื่อโซเชียลประจำวันคือ ดรามาสั่งอาหารแล้วรู้สึกว่า “ได้น้อย” ก็จะมีการรีวิว ลงภาพพร้อมราคา แล้ว “ถามความเห็น” จากชาวโซเชียลว่า คุ้มหรือไม่ ข้าวแกง 50 บาทได้ แค่นี้ ก๋วยเตี๋ยว 70 บาท ได้แค่นั้น เราพบเรื่องพวกนี้จากนักรีวิวได้ทุกวัน ในทางกฎหมายแยกเป็นสองด้านคือ ในด้านผู้บริโภคที่ได้รับของแล้วเห็นว่า “ไม่คุ้ม” แพงเกินไป หรือไม่ติดป้ายราคา ฯลฯ รู้สึกถูกเอาเปรียบ แบบนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายของกรมการค้าภายใน ซึ่งสามารถร้องเรียนให้ตรวจสอบ
อีกด้านคือ นักรีวิวอาชีพหรือมือใหม่สมัครเล่นไปโพสต์ตำหนิว่า ของน้อย ไม่คุ้ม เอาเปรียบ ฯลฯ อาจมีความเสี่ยงถูกร้านค้าหรือผู้ให้บริการอาศัยกฎหมายบางฉบับ เช่น หมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ. คอมพ์ฯ มาฟ้องร้อง กรณีแบบนี้ถ้าเป็นการรีวิวตามจริง หรือเป็นความเห็นของคนที่รีวิวว่ามันไม่คุ้ม ก็ไม่จัดเป็นข้อมูลเท็จและไม่ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่ยังอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท หากถูกฟ้องก็อาจยกข้อต่อสู้ “ติชมด้วยความเป็นธรรม” ในฐานะผู้บริโภค
นักรีวิวอาจจะมองว่า สิ่งที่รีวิว เป็น อาหารเสริม ของบำรุง ของดูแลสุขภาพ แต่ในแง่กฎหมายสิ่งเหล่านั้นต้องมาดูว่าเข้าข่าย เครื่องสำอาง ยา เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ หากเป็นสิ่งเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะ
- รีวิวเครื่องสำอาง
อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่ง ห้ามการโฆษณาที่มีเนื้อหาเป็นเท็จ หรือ ข้อความที่แสดงสรรพคุณเป็นการรักษาโรค เช่น รีวิวครีมทาบำรุงผิวอ้างว่าหายปวดข้อปวดกระดูก รีวิวยาสีฟันว่าใช้แล้วฟันหายโยกหายผุ ฯลฯ
- รีวิวอาหารเสริม
อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ” โดยทั่วไปพวกอาหารเสริมต่าง ๆ จดทะเบียนไว้เป็นอาหาร แต่หากนำมารีวิวในลักษณะว่าช่วยให้หายโรค หรืออาการเจ็บป่วยก็อาจถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. นี้ได้ อย่างเช่น คอลลาเจนยี่ห้อหนึ่งขึ้นทะเบียนว่าเป็นอาหาร แต่นักรีวิวเอามาโพสต์ประสบการณ์ว่าชงกินแล้วเหนียงหายรอยย่นจางไม่ง้อโบท็อกซ์หรือหายปวดข้อ แบบนี้เข้าข่ายความผิดได้
ดังนั้น นักรีวิวอาชีพหรือนักรีวิวสมัครเล่นก่อนรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพควรตรวจสอบจาก อย. ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นอะไร ถ้าเป็นเครื่องสำอาง หรือ อาหารก็ไม่สามารถโฆษณาในทำนองว่าช่วยให้หายโรคหรืออาการต่าง ๆ
นักรีวิวบางคนอาจคิดว่า การบอกเล่าประสบการณ์ใช้บริการทางการแพทย์ เช่น รีวิวทำหน้า ศัลยกรรม ฯลฯ จากสถานพยาบาลไม่น่าจะผิดกฎหมาย แต่ต้องระวังกฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีหลักการว่า ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล ต้องได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพที่ใช้ในการโฆษณา จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยห้ามใช้ถ้อยคำโอ้อวด เช่น ไม่เจ็บ ไม่ปวด ฯลฯ
ดังนั้น สถานพยาบาลที่จะใช้พรีเซนเตอร์ แสดงผลก่อนหลังการทำ (Before - After) ต้องได้รับอนุญาตก่อน ต้องใช้ถ้อยคำที่ไม่โอ้อวด รวมทั้งต้องทำตามเงื่อนไขอื่น เช่น พรีเซนเตอร์ต้องเป็นผู้รับบริการจริง ไม่ตกแต่งเพิ่มเติม สถานพยาบางต้องขอความยินยอมจากผู้รับบริการนั้นด้วย เป็นต้น
นักรีวิวสายกินสายเที่ยวมักทำการไปควบคู่กัน ในกรณีสร้างคอนเทนต์เนื้อหาเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว รีวิวที่พัก โดยทั่วไปไม่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ แต่ก็ต้องดูเนื้อหาการรีวิวว่า ไปเข้าข่ายความผิดอะไรหรือไม่ ข้อควรระวังเช่น
- รีวิวที่พักโรงแรม แล้วเห็นภาพบุคคลอื่น ซึ่งระบุตัวได้ จัดเป็น ข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเข้าข่าย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) กรณีนี้ต้องแยกว่า
1. ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปจะเข้าข้อยกเว้นโพสต์แชร์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ตามกฎหมาย PDPA
2. ถ้าเป็นนักรีวิวอาชีพทำช่องรายการมีสปอนเซอร์ หรือนักรีวิวที่รับจ้างแบรนด์ให้ทำคลิป แบบนี้ไม่ได้รับยกเว้น และต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของ PDPA เช่นการขอความยินยอม การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลได้ทราบ ฯลฯ
- รีวิวที่พักโรงแรม ที่ทำให้โรงแรมที่พักเสียชื่อเสียง อาจถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของเนื้อหาการรีวิว ถ้าเป็นการบอกเล่าประสบการณ์จริงของการใช้บริการแต่เป็นในเชิงลบ ห้องไม่ตรงปกไม่เหมือนที่โฆษณาขายในรูป ฯลฯ สามารถอ้างข้อยกเว้นหมิ่นประมาทได้ว่าติชมเพื่อความเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นการใส่ความกล่าวหาด้วยข้อความเท็จก็เข้าข่ายผิดหมิ่นประมาทได้
การรีวิว ในข้อนี้ความหมายค่อนข้างกว้าง อาจรวมถึงการบอกเล่าประสบการณ์การทำกิจกรรมหรือการละเล่นต่าง ๆ ทางสื่อออนไลน์ เช่น
- กรณีของเกมเมอร์ที่แสดงทักษะการเล่นเกมสด ๆ หรือทำคลิปการเล่นไปพากย์ไป มีช่องรายการของตัวเองหรือโพสต์ในโซเชียลต่าง ๆ ที่เรียกว่า “นักแคสเกม” ( Game Caster ) แม้ว่าไม่ใช่การรีวิวสินค้าแต่อาจจัดอยู่ในกลุ่มการบอกเล่าประสบการณ์แก่คนทั่วไป โดยทั่วไปสามารถทำได้ไม่มีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะ แต่ก็ต้องดูว่าการนำเกมส์มาเล่นแสดงเผยแพร่นั้นถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่
-การรีวิวเล่นพนันออนไลน์ โพสต์เล่าเว็บนี้ได้เงินจริง แปะลิงก์ตาม แบบนี้เข้าข่ายกฎหมายเฉพาะคือ พ.ร.บ. การพนัน ซึ่งกำหนดโทษทั้ง ผู้จัดให้มีการเล่น และ ผู้ประกาศโฆษณา หรือ ชักชวนให้เล่นพนัน ดังนั้น นักรีวิวที่มีผู้ติดตามเยอะ ๆ และมีคนจ้างไปโพสต์รีวิวเว็บพนันหรือชักชวนก็เข้าข่ายผิดกฎหมายนี้ได้
การรีวิวประสบการณ์ “ถูกหวย” ซึ่งพบได้หลังหวยออกทุกงวด ไม่ว่าจะคนมีชื่อเสียงหรือคนทั่วไปนั้น ถ้าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลอันเป็นสิ่งถูกกฎหมายก็ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.การพนัน แต่ถ้าเป็นการรีวิวโดยโพสต์ “โพยหวย” หรือ “สลากกินรวบ” หรือเรียกง่ายกว่านั้นว่า “หวยใต้ดิน” แบบนี้เป็นการพนัน ผู้รีวิวอาจเข้าข่ายชักชวนเล่นการพนัน
ทั้งหมดตามที่กล่าวมา การรีวิวของนักรีวิวอาชีพ หรือแม้แต่นักรีวิวสมัครเล่นก็ตาม หรือแค่โพสต์บอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองขึ้นเป็นคอนเทนต์นั้น มีกฎหมายหลายฉบับเข้ามาควบคุม ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าหรือบริการ พึงระมัดระวังให้ขึ้นใจ ควรพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่รีวิวนั้นคืออะไร อยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะหรือไม่ และมีข้อห้ามอะไรบ้าง
รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์
สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม เกษมบัณฑิต