ช่างภาพถือว่ามีบทบาทสำคัญในกิจกรรมทางสังคมในชีวิตทั่วไป เช่น งานแต่ง งานเลี้ยง งานฉลองต่าง ๆ เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับโอกาสสำคัญแบบ “มืออาชีพ” ช่างภาพในยุคใหม่ยังเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจออนไลน์ต่าง ๆ ที่ใช้ภาพ สำหรับทำคอนเทนท์ เพื่อการโฆษณา การตลาด ฯลฯ
ช่างภาพกับกฎหมายที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จะหยิบยกบางประเด็นที่น่าสนใจและพบได้ในชีวิตประจำวัน ว่าเข้าข่ายเสี่ยงผิดกฎหมายอะไร และควรมีข้อระมัดระวังอย่างไร ซึ่งช่างภาพนั้น ไม่มี พ.ร.บ. หรือ กฎเกณฑ์เฉพาะ แต่อาจมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ขึ้นอยู่กับกิจกรรม หรือแนวปฎิบัติในการประกอบธุรกิจของช่างภาพและผู้เกี่ยวข้อง
ภาพถ่ายเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ซึ่งกำหนดรับรองว่าเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถ “ทำซ้ำ เผยแพร่ ดัดแปลง” โดยเป็นสิทธิ์ที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อ “สร้างสรรค์งาน” ซึ่งก็คือเมื่อทำการถ่ายภาพขึ้นมานั่นเอง โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตก่อน เหมือนกับ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เจ้าของลิขสิทธิ์ก็คือ ผู้สร้างสรรค์งาน ซึ่งกรณีของภาพถ่ายก็คือช่างภาพนั่นเอง แต่เนื่องจากช่างภาพมีสถานะความสัมพันธ์กับเจ้าของงานที่ว่าจ้าง ในหลายลักษณะ นำไปสู่ผลทางกฎหมายต่างกัน เช่น
- ช่างภาพที่เป็นพนักงานประจำบริษัท
กรณีแบบนี้เมื่อถ่ายภาพขึ้นมาในการทำงานตามหน้าที่ กฎหมายกำหนดให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของ “ผู้สร้างสรรค์” ซึ่งก็คือช่างภาพ แต่นายจ้างมีสิทธินำภาพไปเผยแพร่ตามขอบเขตของงาน ตัวอย่าง ช่างภาพที่เป็นพนักงานของบริษัทถ่ายภาพกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อใช้งานภายในหรือประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ แบบนี้ ลิขสิทธิ์ในภาพเป็นของช่างภาพ เพียงแต่บริษัทก็สามารถนำไปใช้ แต่ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่าอาจมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ กล่าวคือ หากนายจ้างทำสัญญาไว้ว่า ภาพต่าง ๆ ที่ช่างภาพถ่ายขึ้นในการปฎิบัติงานตามหน้าที่ถือเป็นลิขสิทธิ์ของนายจ้าง แบบนี้ช่างภาพก็ไม่มีสิทธิ์ในภาพนั้นอีกต่อไป
- ช่างภาพอิสระ ฟรีแลนซ์
อาจมีหน้าร้านเปิดเพจรับถ่ายภาพหรือรับงานตามที่แนะนำกันมา แบบนี้เป็น “สัญญารับจ้างหรือจ้างทำของ” กฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีนี้พบเห็นในกิจกรรมทางสังคมทั่วไป เช่น จ้างช่างภาพถ่ายงานแต่ง งานบวช งานศพ ฯลฯ ผู้ว่าจ้างมีลิขสิทธิ์ซึ่งสามารถจะนำไปใช้หรือเผยแพร่อย่างไรก็ได้ ช่างภาพไม่มีลิขสิทธิ์ใน “งานของลูกค้า” เหล่านี้ เว้นแต่ว่าจะทำข้อตกลงกันไว้เป็นแบบอื่น เช่น ข้อตกลงรับจ้างถ่ายภาพมีข้อหนึ่งระบุว่า ช่างภาพสามารถนำงานไปทำซ้ำ เผยแพร่ เพื่อใช้เป็นตัวอย่างหรือเป็นผลงาน ซึ่งผู้จ้างและช่างภาพก็ต้องเจราจาตกลงเงื่อนไขให้เป็นที่รับได้ทั้งสองฝ่าย
ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ เป็นคนละเรื่องกับ ความเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังจะเห็นได้จากกรณี ช่างภาพถ่ายภาพนางแบบหรือนายแบบ
ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ถือว่าช่างภาพเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพ สามารถนำไปทำซ้ำเผยแพร่ได้ บุคคลในภาพจะมาเรียกร้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ แต่ในอีกมุม ตามกฎหมาย PDPA การถ่ายภาพที่ปรากฎบุคคลถือเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” และบุคคลในภาพ เช่น นางแบบนายแบบ เป็น “เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล” สามารถโต้แย้งได้ว่า ช่างภาพเก็บรวบรวมข้อมูลของตนทำเป็นภาพถ่ายโดยไม่ได้ยินยอม
ดังนั้น ในกรณีช่างภาพถ่ายภาพบุคคลในเชิงธุรกิจ เช่น ถ่ายโฆษณา ถ่ายทำคอนเทนท์ก็จะต้องมีข้อตกลงหรือสัญญาที่ระบุว่า คนเป็นแบบยินยอมให้นำภาพไปใช้ได้ในขอบเขตแค่ไหนตามตกลงกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ช่างภาพเป็นพนักงานประจำหรือทำงานตามสัญญาจ้าง ผู้ว่าจ้างอาจเตรียมสัญญาให้ทั้งฝ่ายช่างภาพและคนเป็นแบบแล้ว
กรณีการนำภาพที่ถ่ายเองนั้นไปลงในแพลตฟอร์มบางอย่าง เช่น เว็บขายภาพ อาจจะมีแบบฟอร์ม “Model Release” (MR) ซึ่งจะต้องแนบก่อนจะส่งภาพเข้าไปได้ เอกสารแบบนี้มีแบบอย่างจากต่างประเทศที่มีกฎหมายหลายฉบับคุ้มครองสิทธิบุคคลในภาพ รวมทั้งมีความซับซ้อนในแง่ของภาพที่นำไปลงขายได้ทั่วโลก จึงต้องมีข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดกฎหมายไทยโดยตรง
แต่ถ้าเป็นกรณีถ่ายภาพ ทิวทัศน์ หรือ น้องหมา น้องแมว สิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ มนุษย์ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับ PDPA ช่างภาพก็พึงระวังเฉพาะในส่วนกฎหมายลิขสิทธิ์
ความแตกต่างระหว่างช่างภาพอาชีพกับการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก อาจมีความสำคัญในแง่ของกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA ซึ่งมีข้อยกเว้นสำหรับการเก็บรวบรวมหรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ตามมาตรา 4 (1) ดังนั้น การถ่ายภาพที่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพหรือมีรายได้ เช่น ไปถ่ายภาพในงานทางสังคมของเพื่อนหรือญาติอันเป็นการช่วยเหลือกัน แม้ว่าการถ่ายภาพนั้นจะติดภาพบุคคลอื่นก็ไม่ต้องเข้าข่ายบังคับตาม PDPA
ซึ่งมีผลเหมือนกับกิจกรรมการโพสต์แชร์ของบุคคลทั่วไปที่ได้รับยกเว้นดั แต่ถ้าการถ่ายภาพทำในลักษณะรับงานหรือประกอบอาชีพ เช่น ช่างภาพที่รับงานถ่ายอีเวนท์ต่าง ๆ ก็ไม่ข้าข้อยกเว้นนี้ ทำให้ ช่างภาพมีสถานะเป็น “ผู้ควบคุมข้อมูล” ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ตาม PDPA เช่น ต้องขอความยินยอมจากคนที่จะถูกถ่ายภาพ ต้องแจ้งรายละเอียดว่าจะเอาภาพไปใช้ทำอะไร ฯลฯ
ผู้ที่มองหาช่างภาพที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยใช้บริการมาก่อน อาจตัดสินใจจากการ เสิร์ชหาข้อมูลและดู “ผลงานที่ผ่านมา” ของช่างภาพ เหมือนจะกินอาหารแล้วหาดู “รีวิว” ซึ่งช่างภาพหลายคน มักจะทำ แฟ้มสะสมงาน โดยเก็บผลงานที่เคยทำไว้ ลงเป็นอัลบั้มและโพสต์ในเว็บหรือเพจของตัวเอง อาจแยกเป็นหมวดงานแต่ง งานรับปริญญา ฯลฯ
ปัญหาคือ แฟ้มสะสมงาน หรือ ตัวอย่างงาน ของช่างภาพ อาจมีข้อมูลผู้อื่น ทั้งที่เป็นลูกค้าและไม่ใช่ลูกค้า เช่น ภาพรับปริญญาที่มีบัณฑิตเป็นผู้ว่าจ้างและเพื่อนอีกหลายคน บุคคลในแฟ้มงานเหล่านี้มีเหตุผล ความรู้สึกหลากหลาย บางคนก็ยินดีให้ภาพสวย ๆ ในงานที่น่าดีใจของตัวเองปรากฎในแฟ้มงานช่างภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่บางคนก็ไม่อยากให้ปรากฎหรือเผยแพร่ เช่น แขกที่ปรากฎภาพในงานไม่อยากให้คนอื่นเห็นว่าตนมางานนี้ คู่แต่งงานบางคนเลิกกันไปไม่นานหลังจากงานแต่งก็ไม่อยากให้ภาพเผยแพร่ทางออนไลน์ต่อไป ประเด็นนี้แยกแยะข้อกฎหมายได้ว่า
1. กฎหมายลิขสิทธิ์ การว่าจ้างแบบนี้โดยหลักแล้ว คือจ้างทำของ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์คือผู้ว่าจ้าง ดังนั้น การที่ช่างภาพนำมา ทำซ้ำ เผยแพร่ ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
2. กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ช่างภาพที่นำภาพผู้อื่นมาเผยแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างผลงาน เป็นการทำในลักษณะประกอบอาชีพ ไม่ได้รับยกเว้นในกรณีประโยชน์ส่วนตัว จึงต้องขอความยินยอม ดังนั้น ช่างภาพที่วางแผนจะนำภาพลูกค้ามาทำโปรไฟล์หรือแฟ้มสะสมงานเพื่อเป็นตัวอย่างจึงต้องเตรียมการทำข้อตกลงที่ครอบคลุมทั้งการยอมให้ใช้ลิขสิทธิ์และยินยอมตาม PDPA
แต่ถ้าช่างภาพนำภาพถ่ายอื่น ๆ ที่ลูกค้าว่าจ้างมาโพสต์แชร์แสดงเป็นตัวอย่างผลงานของตน จะไม่เกี่ยวกับ PDPA เช่น รับจ้างถ่ายรูปเครื่องประดับ พระเครื่อง อาหาร ฯลฯ แบบนี้ก็ต้องดูข้อตกลงตามกฎหมายลิขสิทธิ์ว่าลูกค้าผู้ว่าจ้างยินยอมให้ช่างภาพนำไปเผยแพร่ได้หรือไม่ หากไม่ได้ตกลงไว้ช่างภาพก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้
สุดท้ายตัวช่างภาพ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชิ้นงาน หรือแม้แต่ผู้ว่าจ้างก็ควรจะระมัดระวังเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่าย พูดคุยหรือทำสัญญาระบุกันให้ชัดเจนก่อนสร้างสรรค์งาน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทจนต้องใช้ตัวบทกฎหมายเข้ามาดำเนินการ
รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์
สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม เกษมบัณฑิต