Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การทำธุรกรรมทางการเงิน บัญชีเงินดิจิทัล กฎหมายสำคัญที่ควรรู้

Posted By รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ | 05 ส.ค. 67
102 Views

  Favorite

           การทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบัน บัญชีเงินดิจิทัล กลายเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ไม่ว่าค้าขายหรือให้บริการใด ๆ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีการ รับ จ่ายและโอนเงิน ซึ่งถ้าเป็นการใช้เงินโอนออนไลน์ ก็จะต้องอาศัยตัวกลาง คือ “บัญชีเงินฝาก” ของธนาคารต่าง ๆ  รวมทั้ง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของผู้ให้บริการต่าง ๆ  นอกจากนี้ หากใช้เงินพวกคริปโตในการซื้อขายหรือทำการค้าก็จะมี “บัญชีเงินดิจิทัล” เข้ามาด้วย   

 

การทำธุรกรรมทางการเงิน บัญชีเงินดิจิทัล บัญชีเงินฝากที่จะกล่าวถึงในบทความนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ โดยเราจะมาดูกันตามขั้นตอนที่กฎหมายเข้ามาควบคุมตั้งแต่ เปิดบัญชี ใช้บัญชี ฯลฯ

 

กฎหมายที่ควบคุมขั้นตอนเปิดบัญชี 

           ในขั้นตอนแรกก่อนการที่จะโอนเงินรับเงิน ก็ต้องเปิดบัญชีก่อน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากแบบมีสมุดหรือบัญชีดิจิทัล  กฎหมายกลุ่มนี้ เช่น  กฎหมายฟอกเงิน  และประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดเงื่อนไข “ยืนยันตัวตน” ด้วยภาพจำลองใบหน้า หรือสแกนหน้า (Biometric) เมื่อเข้าเงื่อนไขดังนี้ 

- การเปิดบัญชีแบบไม่พบเห็นผู้ใช้บริการต่อหน้า (Non-face-to-face)   เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากผ่านแอป หรือเปิดบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ทำทั้งหมดผ่านออนไลน์ 

ข้อสังเกต

1. ไม่ใช่เจ้าของบัญชีทุกคนต้องสแกนหน้า  ถ้าไปเปิดบัญชีธนาคารที่สาขาแล้วได้สมุดมาเป็นเล่มโดยไม่ได้ใช้แอป แบบนี้ไม่เข้าข่ายต้องสแกนหน้า ดังนั้น การสรุปว่า  เปิดบัญชีทุกบัญชีต้องสแกนหน้า จึงเป็นการเหมารวมที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

2. ข้อมูลภาพจำลองใบหน้าลูกค้า เป็น “ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว” ตาม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA  จึงมีคำถามว่า ถ้าเจ้าของบัญชีไม่ยินยอมสแกนหน้าแต่จะเปิดบัญชีออนไลน์โดยอ้าง PDPA ได้หรือไม่ คำตอบคือ  อ้างไม่ได้ กฎหมายดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นของ PDPA 

 

กฎหมายที่กำหนดให้ “สแกนหน้า” เมื่อโอนเงินที่เข้าเงื่อนไข

           หลังจากมีบัญชีแล้ว ในการทำธุรกิจออนไลน์ต่าง ๆ ที่จะรับเงิน จ่ายเงินโดยการโอนผ่านแอป   ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย  ยังกำหนดเงื่อนไข ยืนยันตัวตนด้วย ภาพจำลองใบหน้าหรือสแกนหน้า  เมื่อจะทำธุรกรรมผ่าน Mobile banking  หรือ  e-Money  เมื่อเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

- ทำธุรกรรมโอนเงินในแต่ละครั้งมีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปหรือ

- ทำธุรกรรมโอนเงินมูลค่ารวมกัน ครบทุกๆ 200,000 บาท ในรอบระยะเวลา 1 วัน หรือ

- ปรับเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมโอนเงินต่อวัน ให้สามารถโอนได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

 

กฎหมายนี้มีข้อสังเกต คือ 

1. ไม่ใช่การโอนเงินทุกกรณีต้องสแกนหน้า   เช่น โอนเงินออนไลน์แต่ละครั้งไม่ถึงห้าหมื่น และไม่ถึงสองแสนในหนึ่งวัน  แบบนี้ไม่เข้าข่ายต้องสแกนหน้า   การสรุปว่า  เจ้าของบัญชีทุกคนต้องมาสแกนหน้ามิฉะนั้นจะโอนเงินไม่ได้   จึงเป็นการเหมารวมไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

2. ข้อมูลภาพจำลองใบหน้าลูกค้า เป็น “ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว” ตาม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงมีคำถามว่า ถ้าเจ้าของบัญชีไม่ยินยอมสแกนหน้าโดยอ้าง PDPA ได้หรือไม่ คำตอบคือ  อ้างไม่ได้ กฎหมายดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นของ PDPA แต่ถ้าไม่ยินยอมให้เก็บก็ทำได้โดยไม่ทำธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น


 

กฎหมายที่ให้นับจำนวนการโอนเงินและส่งให้สรรพากร 

           รายได้ที่เกิดจากการขายของหรือทำธุรกิจใด ๆ ทางออนไลน์ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล เหล่านี้เป็นเรื่องตามกฎหมายภาษีทั่วไป แต่สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับ “บัญชีธนาคาร” ก็จะมีกฎหมายภาษีอากรที่จะเข้ามาตรวจสอบเมื่อมีเงิน “ขาเข้า” หรือรับเงินเข้าบัญชี ที่เข้าเงื่อนไขดังนี้

(1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สามพันครั้งขึ้นไป

(2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป

 

ข้อสังเกต 

1. บัญชีใดที่เข้าเงื่อนไขนี้  ไม่ใช่จะมีความผิดทันที แต่ต้องถูกธนาคารส่งรายงานข้อมูลเหล่านี้ไปยังสรรพกร ซึ่งก็ยังไม่ได้บอกว่าจะต้องเสียภาษี แต่เป็นการแจ้งให้รู้ข้อมูลและตรวจสอบ  ถ้าเงินที่รับเป็นรายได้จากการขายของออนไลน์หรือทำธุรกิจอื่น และไม่ได้ยื่นภาษีก็อาจมีความผิดฐานไม่ยื่นหรือต้องเสียค่าปรับ  

2. ข้อมูลที่ธนาคารส่งให้สรรพากร ประกอบด้วย เลขประจำตัวประชาชนเจ้าของบัญชี  จำนวนครั้งและจำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอนทุกบัญชีรวมกัน จัดเป็นการ “เปิดเผย” ข้อมูลลูกค้า มีประเด็นว่า ต้องขอความยินยอมตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA หรือไม่  คำตอบคือ  ไม่ต้อง เพราะการปฎิบัติตามกฎหมายภาษีถือเป็นข้อยกเว้นของ PDPA 

3. กฎหมายนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะ“แม่ค้าออนไลน์” แต่ใช้กับทุกคนที่รับโอนเงินเข้าเงื่อนไข  ไม่ว่าจะเป็น ผู้ทำธุรกิจบริการทางออนไลน์ต่าง ๆ  การทำคอนเทนท์และได้ค่าตอบแทน ฯลฯ  ถ้าถึงจำนวนก็อยู่ในข่ายกฎหมายนี้ 

 

ผู้ทำธุรกิจออนไลน์ ทำยังไงไม่ให้ผิดกฎหมายนี้  คำตอบคือ กฎหมายนี้ไม่ได้สั่งให้ผู้ค้าขายออนไลน์ต้องทำอะไร แต่ให้ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีให้สรรพากรเมื่อเข้าเงื่อนไขโดยไม่ต้องขอความยินยอม สิ่งที่ทำได้คือ การทำบัญชีสำหรับการขายของรับเงินอย่างเป็นระบบไว้ตลอดทั้งปี ยื่นภาษีแสดงรายได้ตรงกับเงินที่รับ ก็ลดความเสี่ยงในการผิดกฎหมายได้ 

 

กฎหมายควบคุมการเปิดและใช้ “บัญชีม้า” 

           ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เปิดบัญชีเงินฝาก หรือ บัญชีเงินดิจิทัล ต่าง ๆ  การใช้บัญชีเหล่านั้นรับเงินโอนเงิน  หากเข้าข่ายเป็น “บัญชีม้า” จะมีความผิดตามพระราชกำหนดปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ฯ  2566 

 

สำหรับกรณีที่จะเข้าข่ายผิดคือ เปิดบัญชีหรือยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากหรือเงินดิจิทัล  โดยมิได้เจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง เช่น เปิดบัญชีใหม่โดยมอบรหัสผ่านแก่ผู้อื่น หรือเปิดบัญชีแบบสมุดแล้วเอาสมุดพร้อมบัตรเอทีเอ็มให้ผู้อื่น  ถ้าผู้ที่ได้รับเอาไปใช้ทำผิดกฎหมายเช่น ใช้รับโอนเงินจากการฉ้อโกงคนอื่น  เจ้าของบัญชีจะมีความผิดฐาน “บัญชีม้า” มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ      

ความเสี่ยงที่อาจเข้าข่ายเป็นบัญชีม้ามีหลายแบบ เช่น 

(1) บัญชีม้าแบบมีเจตนา  เช่น รับจ้างเปิดโดยรู้ว่าเปิดรับเงินให้พวกทำพนันออนไลน์หรือหลอกลวงโอนเงิน  แบบนี้ชัดเจนว่ามีเจตนาทำผิด

(2) บัญชีม้าแบบเปิดให้เขาใช้โดยจะเอาไปทำอะไรไม่รู้  เช่น เขาให้เงิน 500 ไปเปิดบัญชีแล้วเอารหัสต่าง ๆ ให้เขาไป แบบนี้อาจเข้าข่ายความผิด เพราะกฎหมายใช้คำว่า “ควรรู้” ว่าจะมีคนเอาบัญชีนั้นไปใช้ทำผิด   จะเถียงว่า รับจ้างเปิดแต่ไม่รู้ว่าเขาเอาไปทำอะไรอาจฟังไม่ขึ้น 

(3) บัญชีม้าที่กลายเป็น “แพะ” เนื่องจากอาชญากรมักจะหา “คนอื่น” มารับเงินจากการทำผิดเพื่อปกปิดร่องรอยของตัวเอง จึงอาจแฮกข้อมูลผู้อื่นไปเปิดบัญชีและรับเงินผิดกฎหมาย เจ้าตัวอาจไม่รู้ว่าเป็น “ม้า

ผู้ทำธุรกิจออนไลน์ทำธุรกรรมการเงินยังไงไม่ให้ผิดกฎหมายนี้  คำตอบคือ ต้องระวังในการใช้บัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ในการรับหรือโอนเงินที่ไม่ใช่การค้า หรือธุรกิจของเรา 

           

           สุดท้ายขอย้ำสำหรับผู้ทำธุรกิจใหญ่หรือเล็ก ค้าขายออนไลน์หรือออฟไลน์ เมื่อต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงินก็ให้เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินดิจิทัลให้ชัดเจน และถึงแม้ไม่ได้ทำธุรกิจไม่ได้ค้าขาย เป็นเพียงแค่ผู้บริโภคใช้บริการ ผู้ใช้ก็ต้องเข้าใจเรียนรู้เรื่องของบัญชีเงินดิจิทัล บัญชีเงินฝาก การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงต่าง ๆ ของธนาคารให้ชัดเจน  หมั่นตรวจสอบบัญชีของตนอย่างสม่ำเสมอ   ละเอียดรอบคอบก่อนจะลงมือทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ และข้อสำคัญไม่ควรให้บุคคลที่ไม่รู้จัก ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงินมาทำธุรกรรมแทนตัวเรา

 

 

รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์

สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม เกษมบัณฑิต

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์
  • 0 Followers
  • Follow