จากปีที่ ๙ จนถึงปี ๑๐ ผู้ติดตามการถ่ายทอดสดโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ย่อมคุ้นเคยกับภาพของคณะพระอาจารย์นำธุดงค์ที่ร่วมกันกวดขันขัดเกลาเหล่าสามเณร ระหว่างการเรียนรู้ความ “เพียร” ในสัปดาห์ที่ ๓ ของการบรรพชา
ผู้ชมจำนวนไม่น้อย สะท้อนความรู้สึกต่อวิธีการของคณะพระอาจารย์ว่า เข้มงวดแต่เมตตา เนิบช้าแต่ทรงพลัง จริงจังแต่ผ่อนปรน อย่างพอเหมาะพอสมกับวัย ๗ – ๑๒ ปีของเหล่าสามเณร
ภิกษุผู้นำคณะพระอาจารย์นำธุดงค์คือ พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ ซึ่งทั้งสามเณรและทีมงานโครงการต่างออกนามท่านว่า “พระอาจารย์ภูมิชาย”
กราฟิกข้อความระบุนามของท่านในโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม บอกผู้ชมไว้เพียงว่าท่านสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นระดับชั้นสูงสุดของการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ร่วมกับการสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในระดับดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอก
หากลองค้นหาจาก Google ในกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ อันเป็นช่วงสัปดาห์ “เพียร” ของโครงการฯ ปี ๑๐ ผู้ค้นคว้าจะพบข้อมูลเกี่ยวกับพระอาจารย์ภูมิชายน้อยมาก
ทั้งทำเนียบพระสังฆาธิการ และทำเนียบเปรียญธรรม ๙ ประโยค มีเพียงนามของท่านกับสถานที่พำนักและสำนักเรียน ซึ่งคือวัดเขาวัง พระอารามหลวง จังหวัดราชบุรี โดยแทบไม่มีข้อมูลอื่น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่เป็นผลจากศีลาจารวัตรอันสงบสมถะ ไม่ประสงค์จะแสดงตัวตนอัตตา สร้างความมีชื่อเสียงสู่สาธารณชนวงกว้าง
จากการค้นคว้า นามของท่านปรากฏในฐานะผู้สอนและบรรยายธรรมในโอกาสต่าง ๆ มากมาย เช่น อบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน สอนการเจริญสติภาวนา เมตตาภาวนา ฝึกสมาธิ สอนเดินจงกรม ฯลฯ ทั้งมีบทบาททางวิชาการในฐานะคณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. อันเป็นสถาบันเดียวกับที่ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ด้วยดุษฎีนิพนธ์หัวข้อ "กระบวนการพัฒนาศรัทธาและปัญญาของพระนวกะ ด้วยหลักสูตรการอบรมพระนวกะของคณะสงฆ์ไทย"
นอกจากนั้น ท่านยังเคยอยู่ในรายนามผู้ปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเผยแผ่พุทธธรรมคำสอน สมดังมติมหาเถระสมาคม ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ มติที่ ๕ เรื่อง เสนอแต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๕ ซึ่งระบุบทบาทหน้าที่ของท่านไว้ว่า
"... ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเขาวัง พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ในหน้าที่ฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ..."
ก่อนภารกิจของท่านในโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี ๑๐ จะสิ้นสุดลง พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ ได้เมตตาอนุญาตให้ทีมงานโครงการฯ ได้นมัสการถวายปุจฉาเกี่ยวกับท่านในแง่มุมต่าง ๆ สืบเนื่องกับตัวตนและความคิดของท่าน โดยขอโอกาสให้สาธุชนผู้ติดตามโครงการฯ ได้รู้จักท่านมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ขอนำวิสัชนาจากท่านมาถ่ายทอดสู่ผู้สนใจ ดังต่อไปนี้
“... ตอนที่บวช ก็เพราะต้องการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ คือโยมพ่อเสียไปก่อนบวช ๑ ปี ทีนี้ก็คิดว่า เราจะบวชให้โยมแม่ก่อน ๓ เดือน เสร็จแล้วเราก็จะลาสิกขาไปทำงานต่อ ก็ตั้งใจว่าจะบวชให้โยมแม่สัก ๓ เดือน เดี๋ยวโยมแม่ไม่ได้เห็นชายผ้าเหลือง ...”
พระอาจารย์ภูมิชายเล่าว่าในช่วงเวลานั้น ท่านเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา อยู่ระหว่างการสมัครเข้าทำงานเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่นหลายคน ซึ่งต่างก็สนใจสายงานอุตสาหกรรมโพลิเมอร์และปิโตรเคมี
“... ทีนี้มีการเรียกพล คือเรียน รด. ๓ ปี เขาเรียกพลไปฝึก พอฝึกเสร็จก็เลยคิดว่าบวชเสียก่อน แล้วค่อยทำงาน จะได้ไม่มีภาระเรื่องการบวชอีก ก็เลยบอกโยมแม่ จะบวชสักสามเดือนก่อน แล้วค่อยสึกออกไปทำงาน ...”
จากความตั้งใจแรกว่าจะใช้เวลา ๓ เดือน ในการกระทำสิ่งที่ท่านเรียกว่า “ภาระ” ให้ลุล่วง สู่การครองเพศบรรพชิตมายาวนานกว่า ๓ ทศวรรษ ทั้งมีบทบาทมากมายในการเผยแผ่พระบวรพุทธศาสนาเช่นที่สาธุชนจะเห็นได้ในปัจจุบัน อะไรคือจุดเปลี่ยนทางความคิดของท่าน?
“... เวลาเราเริ่มศึกษาธรรมะแล้ว เราก็เห็นว่าธรรมะของพระพุทธองค์นี่เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นความจริงที่เราค้านไม่ได้ ก็มีความตั้งใจว่าอยากจะเรียนธรรมะ เพื่อที่จะเอาไปใช้ในตอนที่เราเป็นฆราวาส ก็เหมือนกับว่าเราอยากจะเรียนรู้ ธรรมะให้มาก อ่านมาก อ่านจนวันหนึ่ง เราก็อยากจดบันทึกเป็นข้อธรรมไว้เยอะ อ่านวันละหลายเล่ม ตอนหลังก็ได้มาศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก
ตอนแรกเรียนนักธรรมตรีก่อน ก็เป็นเรื่องของพระภิกษุใหม่ แล้วก็กะว่าจะลาสิกขา ก็มีพระท่านบอกว่า เนื้อหานักธรรมโทนั้นลึกซึ้ง อ่ะ เราก็อยากจะเรียน ลองดูว่านักธรรมโทเป็นอย่างไร ก็เข้ามาศึกษา มันก็ลึกซึ้ง ทำให้เราขัดเกลากิเลสสามารถจะไปถึงมรรคผลนิพพานได้ เราก็เลยเรียน พอเรียนแล้วเราก็มีโอกาสไปธุดงค์ คือจาริกไปในสำนักสาขาของวัดเขาวัง ซึ่งจะมีประมาณ ๑๖ สาขาทั่วประเทศ อย่างที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็จะมีที่วัดนันทาวราราม อยู่ติดกับชายทะเล จะเน้นในเรื่องของการนั่งสมาธิ ก็ไปนั่งสมาธิบ่อย ไปประจำ เวลานั่งแล้วนี่จิตเราก็จะสงบ เป็นสมาธิ ก็รู้สึกว่ามีความสุข แล้วก็มีโอกาสในช่วงพรรษาที่ ๓ เมื่อสอบนักธรรมเอกเสร็จแล้วนี่ ก็ไปทางเกาะแตน อยู่เลยสุราษฎร์ธานีไป ได้เคยมีโอกาสฟังธรรมหลวงพ่อพุทธทาสที่สวนโมกขพลาราม พอเราฟังแล้วนี่ เรารู้สึกว่าเกิดปิติ แล้วก็ขนลุก ก็ไม่เคยฟังธรรมใครแล้วขนลุก เราก็เห็นว่า เออ ธรรมะที่ท่านได้แสดงนี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐ และท่านก็มีเมตตา ท่านบอกว่าเรียนจริง ปฏิบัติจริง แล้วก็ได้ผลจริง เราก็เลยเอาสิ่งที่เราเรียนมามาประพฤติปฏิบัติ แล้วมันก็ได้ผลตามที่ท่านกล่าวไว้ เราก็เลยยิ่งมีศรัทธาเพิ่มขึ้นในการที่จะบวชเรียนต่อไป ...”
สำหรับความแตกต่างระหว่างการเรียนนักธรรม กับการศึกษาเปรียญธรรมประโยคต่าง ๆ นั้น พระอาจารย์ภูมิชายได้เมตตาตอบข้อปุจฉาไว้โดยสังเขป สำหรับเป็นความรู้พื้นฐานแก่ผู้สนใจในเบื้องต้น
“... คือความรู้นักธรรมนั้น เป็นความรู้สำหรับตัวผู้เรียนผู้ปฏิบัติ สำหรับนำไปใช้ในการที่ว่า เรารู้ว่าอะไรเป็นข้อห้าม อะไรเป็นข้ออนุญาต อะไรที่เราสามารถจะดำรงชีวิตนักบวชโดยเป็นผู้ปฏิบัติที่ดี ถือว่าเหมาะสำหรับผู้ที่ดำรงเพศบรรพชิต คือเป็นเครื่องอยู่ของพระโดยตรง พอเรียนไปถึงนักธรรมเอก ก็จะเป็นเรื่องของการปกครองคณะสงฆ์และสังฆกรรมต่าง ๆ สำหรับปกครองพระ ถ้าใครสามารถที่จะเรียนถึงนักธรรมเอก ก็คือสามารถเป็นเจ้าอาวาสได้ ปกครองพระได้
แต่ในเรื่องของการศึกษาแผนกบาลีนี่ จะต้องศรัทธาในการที่จะใช้การทรงจำมากขึ้น ถ้านักเรียนนักธรรมใช้ความจำสักหนึ่งส่วน นักเรียนบาลีอาจจะต้องใช้ ๑๐ ส่วน จะต้องท่องมากขึ้น เช่น ท่องหลักไวยากรณ์ อะไรอย่างนี้ แล้วก็เรียนเกี่ยวกับพระไตรปิฎก จากเปรียญธรรม ๑ หรือ ๒ จนถึงเปรียญธรรม ๕ ประโยค จะเป็นเรื่องของพระสูตร พอเปรียญธรรม ๖ - ๗ ก็เป็นเรื่องวินัย ๘ - ๙ ก็เป็นเรื่องของคัมภีร์วิสุทธิมรรคและพระอภิธรรม ระดับความรู้ก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งการเรียนนักธรรมนั้นอาจจะไม่ได้เข้าไปในเนื้อหาเหล่านี้โดยตรง จะมีเป็นเรื่องราวอยู่บ้าง แต่ว่าไม่ได้ลึกเข้าไปในเนื้อหาพระไตรปิฎกมากนัก ...”
ในประเด็นด้านการศึกษา ผู้ถวายปุจฉาได้นมัสการถามถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งพระอาจารย์ภูมิชายก็ได้เมตตาเล่าความสนใจไว้อย่างละเอียด
“... แต่แรกก็ยังไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรมาก แรกเลยก็เรียนปริญญาตรีเกี่ยวกับภาษาบาลี เราต้องการเรียนบาลี แต่พอเราเริ่มที่จะเผยแผ่ธรรมะ ก็จะต้องเจอกับกลุ่มคนที่หลากหลาย อาตมาก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีสาขาหนึ่งที่น่าสนใจ พวกแพทย์หรือพยาบาลไปเรียนกันเยอะ เป็นด้านของจิตวิทยาเรียกว่า “สาขาวิชาจิตวิทยาชีวิตและความตาย” ก็อยากรู้ว่าชีวิตกับความตายนี่มันมีลักษณะอย่างไร มีการเรียนการสอนอย่างไร แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างไร อ่านแล้วก็เลยเข้าไปศึกษา ก็ได้เห็นว่าหลักจิตวิทยาทั้งตะวันตกตะวันออก มันสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนธรรมะกับกลุ่มคนหลากหลายได้เยอะ เราก็จะได้รู้จริต รู้ความทุกข์ของแต่ละคน เพราะแต่ละคนนี่มีความทุกข์ที่ต่างกัน ในเวลาที่เราจะแก้ทุกข์นี่ เราต้องรู้เหตุ ค้นหาเหตุ ของทุกข์ก่อน อย่างบางคนเข้าวัดน่ะ เขามีความทุกข์มา แต่เขาจะไม่บอก เมื่อเราได้ศึกษา รู้แล้ว เขามีต้นเหตุเข้ามาเพราะอะไร เขาทุกข์เรื่องอะไร แล้วเราสามารถที่จะแก้ให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นได้นี่ มันก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลคนนั้นด้วย แก่สังคมด้วย
คนที่เขามีความทุกข์มานั้น เขาไม่ได้บอกเราหรอก เขาจะเก็บความทุกข์ไว้ในใจ แต่เขาจะคล้ายกับว่า มีทุกข์ก็เข้าวัด มาสวดมนต์ มาทำอะไรให้ใจมันสบาย แต่พอเราเรียนรู้ทางด้านนี้มานี่ เราก็เอามาประยุกต์ใช้ในเวลาที่เราสอน เพราะการสอนบางอย่าง เช่นการสอนวิปัสสนากรรมฐาน จะมีการสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติแต่ละคน ดังนั้นเวลาเขามีปัญหาอะไร เขาก็จะพูดให้เราฟังในเรื่องที่เขาไม่เคยพูด ถ้าอยู่ในกลุ่มคน ๕๐ คน ๑๐๐ คนนี่เขาจะไม่พูด ฉะนั้นถ้าเราได้คุยสองคนนี่ เขาก็อยากเปิดเผยว่า เออ เขามีปัญหาอะไรในใจ เราก็สามารถที่จะค่อยค่อยคลี่คลายปัญหานั้น โดยใช้ธรรมะสอดแทรกเข้าไป เพื่อที่จะให้เขาดับทุกข์ตรงนั้นได้ มีทางที่จะดำเนินชีวิตต่อไป โดยที่เขาไม่ไปยึดติดกับอดีตที่มันผ่านมา ...”
เพราะหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ "กระบวนการพัฒนาศรัทธาและปัญญาของพระนวกะ ด้วยหลักสูตรการอบรมพระนวกะของคณะสงฆ์ไทย" โดยพระอาจารย์ภูมิชาย ซึ่งได้รับยกย่องจาก มจร. ให้เป็น ๑ ใน ๕ “งานวิจัยคุณภาพ” เมื่อปี ๒๕๕๘ นั้น เป็นห้วข้อที่มุ่งการยกระดับคุณภาพของ “พระบวชใหม่” โดยตรง จึงนำมาสู่อีกประเด็นคำถามถึงต้นธารความสนใจในหัวข้องานศึกษานี้
“... คือคนที่มาบวชในปัจจุบันนี้ จะมีศรัทธาน้อยลง การบวชโดยที่มีศรัทธาน้อยลงนี่ทำให้การศึกษาธรรมของคนที่เข้ามาบวชนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร และปัจจุบันนี้การบวชก็มีจำนวนวันลดลง สมัยก่อนเขาบวชกันสามพรรษา คือ ๙ เดือน หรืออย่างน้อยตอนรุ่นที่เราจะมาบวชนี่ ก็ประมาณอย่างน้อยหนึ่งพรรษา คือสามเดือน ซึ่งเราก็เห็นว่าขนาดเราตั้งใจบวชเรียนศึกษาสามเดือน ยังคิดว่าเรายังไม่ได้อะไรเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันนี้ คนไม่น้อยจะบวชประมาณ ๗ ถึง ๑๕ วัน เป็นการบวชระยะสั้น ถ้า เขาไม่ได้มีศรัทธามาด้วยแต่แรก แล้วยังบวชระยะสั้นด้วย ซึ่งแต่ละคนน่ะ ส่วนมากก็จะบวชได้ครั้งเดียวในชีวิตนะ ก็จะกลายเป็นประสบการณ์การบวชที่ไม่ได้อะไรออกไป พอเขาสึกออกไปมีครอบครัว ไปมีลูกมีหลาน ก็ไม่มีอะไรไปสอนลูกสอนหลานในเรื่องของหลักธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น มันก็จะเป็นปัญหาของสังคมต่อไป
เราก็พยายามคิดว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้คนที่เข้ามาบวชใหม่ซึ่งอาจจะไม่มีศรัทธา ได้เข้ามาเรียนรู้หลักธรรมวินัย ที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาโดยใช้ระยะเวลาที่สั้น ให้เท่ากับเรียนสามเดือน โดยใช้หลักสูตร ๑๕ วัน เราจะย่อหลักสูตรที่เขาเรียนสามเดือนให้อยู่ภายใน ๑๕ วัน แล้วก็มีการเพิ่มการเรียนรู้เข้าไปอีก เหมือนกับเป็นแคปซูลแคปซูลหนึ่งที่พอเรากินเข้าไปแล้วมันจะออกฤทธิ์ให้ผลได้เต็มที่ หลักสูตรก็เลยจะต้องมีทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติ แล้วก็ภาคธุดงค์ที่เสริมเข้ามา โดยภาคปริยัติก็คือการเรียนที่เขาเรียนกันสามเดือน ทั้งพุทธประวัติและพระธรรมวินัยที่เขาเรียนกันในหลักสูตรสามเดือนของนักธรรมตรี แต่ว่าก็จะไม่ได้ในเรื่องการปฏิบัติ ก็คือด้านวิปัสสนา การพัฒนาสติที่จะไปใช้ในชีวิต เราก็จึงเน้นหลักสูตรการพัฒนาและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเอาไว้ ๗ วัน เพื่อให้เขารู้จักรู้ทันอารมณ์ เมื่อเขาลาสิกขาออกไปแล้ว นี่ก็เป็นหลักสูตรที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อที่จะปลูกศรัทธาของผู้เข้ามาบวชในระยะสั้น ...”
ปุจฉาลำดับแรก ๆ ที่ทีมงานโครงการฯ ได้ถวายไป และพระอาจารย์ภูมิชายได้เมตตาอธิบายมาโดยตลอดนั้น สะท้อนให้เราได้ตระหนักว่าชีวประวัติของท่าน ประกอบด้วยทั้งฉันทะและวิริยะในการศึกษาหาความรู้อย่างมากมายหลายแขนง กระทั่งสามารถแสดงบทบาททางวิชาการได้ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดนั้นก็ยังไม่ได้อธิบายถึงเหตุปัจจัยของการเป็นพระนักปฏิบัติ กระทั่งเป็นหนึ่งในวิปัสสนาจารย์ผู้เผยแผ่ความรู้ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและการเจริญสติภาวนาอย่างต่อเนื่องของท่าน
ทีมงานโครงการฯ ได้ถวายปุจฉาไปอีกมากมายในประเด็นดังกล่าว ซึ่งพระอาจารย์ก็ได้เมตตาวิสัชชนามาโดยละเอียด รวมทั้งมีข้อชี้แนะบอกทางสำหรับผู้สนใจเริ่มต้นฝึกฝนการเจริญจิตภาวนา
ขอเชิญผู้อ่านทุกท่าน โปรดติดตามต่อไปในตอนที่ ๒ ได้ที่นี่ ... คลิก
บทความโดย : คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์