‘Personal Statement’ หรือที่ใครหลายๆคนเรียกกันว่า Statement of Purpose (SOP) คือจดหมายหรือเรียงความสำหรับแนะนำตัวเองในการสมัครเพื่อเรียนต่อ เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการสมัครเรียนต่อต่างประเทศ การเขียน Statement of Purpose (SOP) นั้นมีความสำคัญ ไม่แพ้ เกรดเฉลี่ย คะแนนสอบวัดระดับภาษา และ เอกสารต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงควรตั้งใจเขียนออกมาให้ดี เพราะนี่คือสิ่งที่จะเปิดโอกาสให้เราแนะนำตัวและแสดงความเป็นตัวตนของตนเองเพื่อสื่อสารไปถึงมหาวิทยาลัยว่าทำไมเราถึงอยากเรียนที่นี่ เรียนหลักสูตรนี้
ความยาวในการเขียน Personal Statement ส่วนมากจะถูกกำหนดจากมหาวิทยาลัย อาจจะอยู่ระหว่าง 400-600 คำ หรือประมาณ 4-5 ย่อหน้า ภายในหนึ่งหน้ากระดาษ A4 สำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ในส่วนของปริญญาโทอาจต้องเขียนประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ A4 อย่างไรก็ตามน้องๆ ควรตรวจสอบกับทางคณะและมหาลัยให้เรียบร้อยก่อนว่ากำหนดความยาวไว้เท่าไร เพื่อป้องกันการผิดพลาดได้
เทคนิคการเขียน Statement of Purpose ให้น่าประทับใจ
1. อ่านคำสั่งให้ละเอียด
ก่อนที่เราจะลงมือเขียน Personal Statement นั้น เราต้องอ่านคำสั่งให้ละเอียดก่อน เช่น จำนวนหน้า จำนวนคำที่กำหนด การอ่านคำสั่งให้ละเอียดจะช่วยป้องกันข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าหากเราไม่ได้ทำตามข้อกำหนดนั้น SOP ของเราอาจถูกตัดคะแนนหรืออาจจะไม่ผ่านก็เป็นได้
2. วางแผนการเขียนให้ดี
การเขียน Personal Statement คือการเขียนหนังสือแนะนำตัวเอง ต้องเขียนให้อ่านง่ายและไหลลื่น ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนการเขียนให้ดี ให้ผู้ที่ได้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สามารถสื่อสารคุณสมบัติ และ เรื่องราวของตัวเราออกมาได้อย่างดีและมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความคิดของเราได้อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น
3.บอกเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา
การบอกเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา มีความน่าเชื่อถือจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเป็นการบอกถึงความมุ่งมั่นและความรู้เกี่ยวกับสาขาวิชาที่เราสมัคร การเขียนให้ครอบคลุมถึงทักษะ ความรู้ความสามารถที่เรามี และบอกเหตุผลที่เราอยากศึกษาต่อในด้านนั้นๆ รวมทั้งจุดมุ่งหมายในอนาคต สิ่งนี้จะทำให้คณะกรรมการเกิดความประทับใจ
4. บอกจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง
การเขียน Personal Statement ควรแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะเด่นเพื่อเน้นย้ำความเป็นตัวเองให้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่าคนเรานั้นมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ดังนั้นการเล่าเรื่องราวบอกเล่าประสบการณ์ในแง่มุมต่างๆ จะทำให้คณะกรรมการสัมผัสได้ถึงตัวตนของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5. มีความมั่นใจในตัวเอง
การมีความเชื่อมั่นในตนเองจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจของเรา การบอกถึงทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ และจุดเด่นของตนเอง จะเป็นโอกาสที่เราจะได้พรีเซนต์ตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเอาชนะใจคณะกรรมการ
6. เขียนอย่างสร้างสรรค์
การเขียน Personal Statement ควรจะแสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิด การไตร่ตรอง และหลักการของเรา เพื่อโน้มน้าวและนำผู้อ่านไปสู่เรื่องราวเริ่มต้นที่มีความน่าสนใจ เราสามารถเล่าเรื่องนั้นๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ตนเองถนัด หรือจะใช้สไตล์การเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองก็ได้
7. ตรวจทานก่อนส่งเสมอ
สำคัญที่สุดอย่าลืมตรวจสอบแกรมม่า การสะกดคำ และการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ก่อนจะทำการส่งจดหมาย การตรวจทานความถูกต้อง เรียบร้อย ของจดหมายให้ดีถือเป็นความใส่ใจอีกอย่างหนึ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการผู้ที่อ่านจดหมายของเราได้
แหล่งข้อมูล
Personal Statement คืออะไร
รวมหลากหลายวิธีเขียน Personal Statement
เขียน Personal Statement อย่างไรได้เรียนต่อต่างประเทศ
6 เคล็ดลับเขียน “Personal Statement” ให้มหาวิทยาลัยสนใจ