Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อลูกเริ่มโต ควรให้พื้นที่ส่วนตัวอย่างไร ลูกไม่ห่างไกลครอบครัว

Posted By Plook TCAS | 10 ม.ค. 67
857 Views

  Favorite

            ลูกเราเข้าวัยทีนแล้ว อาการ “ติดพ่อแม่” อาจจะคลายตัวลง ขึ้นชั้นใหม่ มีเพื่อนกลุ่มใหม่ ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ร่วมกับเพื่อนใหม่ มีความสนใจในเรื่องราวใหม่ ๆ มากขึ้น รักความเป็นอิสระในการคิดและการตัดสินใจ โดยคิดว่าตัวเองโตแล้ว จึงไม่อยากพึ่งพาความคิดเห็นจากเราไปเสียทุกเรื่องเหมือนแต่ก่อน ชอบการเรียนรู้และการทดลองของใหม่ อยากค้นพบตัวตน เริ่มฟังเพื่อนมากกว่าฟังเรา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นี้ เป็นธรรมชาติของเด็กที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น และจากการที่ลูกไม่ติดเราแล้ว อาจทำให้พื้นที่แห่งความสัมพันธ์เริ่มเขยิบห่าง

            เมื่อคิดเชิงบวก นั่นคือสัญญาณแสดงว่าลูกเราเริ่มเติบโตแล้ว มีการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจสมวัย ลูกอยากสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง อยากเรียนรู้และทดลองการจัดการชีวิต ชอบสร้างประสบการณ์ชีวิตกับผู้คนในสังคม ซึ่งแตกต่างไปจากสมาชิกในครอบครัว ฉะนั้น เราจึงต้องเป็นฝ่ายคลายตัวจากอาการ “ติดลูก” ไปด้วย และรักษาสัมพันธภาพที่ดีเอาไว้โดยให้พื้นที่ส่วนตัวกับลูก ซึ่งถึงแม้ลูกจะ “ห่างเหิน” ไปบ้างในบางโอกาส แต่ไม่ “ห่างไกล” ครอบครัว ซึ่งวิธีการที่จะดึงดูดลูกไว้ไม่ให้ห่างไกล ทำได้ไม่ยากและอยู่ใกล้ตัวเราคือ

 

เข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงของลูกซึ่งพัฒนาไปตามวัย

            เมื่อครั้งที่ลูกอยู่ในวัยประถม เราต้องดูแลทุกด้านในชีวิตของลูก มาตอนนี้เราต้องคิดให้ได้ว่า การให้ความเป็นอิสระแก่ลูกในเรื่องที่เหมาะสม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกเติบโต และสามารถพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ และเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับเด็กวัยรุ่น ที่จะโหยหาพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น เรามีหน้าที่ดูแลลูกให้มีสุขภาพกายใจสมบูรณ์แข็งแรง มีความสุข มีพลัง และสอนลูกให้รู้จักการพึ่งพาตนเอง และเรียนรู้ความเป็นอิสระที่จะใช้ความเป็นส่วนตัวในทางที่ถูกต้องและอย่างเหมาะสม เราต้องเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของลูก ซึ่งบางครั้งอาจจะแรงตามอารมณ์ หรืออาจมีตรรกะผิดเพี้ยน หรือยังไม่ชัดเจนในบางประเด็น จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ปลอบประโลมให้คลายความเร่าร้อน และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อความเข้าใจที่ดีร่วมกัน และเป็นการสร้างความไว้วางใจในตัวเราให้ลูกได้ ลูกคิดอย่างไรหรืออยากทำอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเดิม ลูกจะเล่าให้เราฟัง และยอมรับคำแนะนำที่เกิดจากการพูดคุยกันด้วยดี เพราะลูกก็ต้องการให้เรารับฟังความคิดเห็นและความต้องการของลูกด้วย เป็นการพบกันครึ่งทางเพื่อเชื่อมโยงความเป็นส่วนตัวของลูกและความน่าเชื่อถือของเรา

 

จัดพื้นที่ส่วนตัวเพื่อความเป็นส่วนตัวให้ลูก

            ลูกถึงวัยเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่วัยรุ่น อยากมีสมบัติต่าง ๆ เป็นของตนเองเพื่อความเป็นส่วนตัว เราจึงควรสนองความต้องการให้ลูกเท่าที่ทำได้ตามความเหมาะสมของครอบครัว เช่น จัดห้องนอนส่วนตัวให้ โดยมีกติกาว่าลูกจะไม่แอบเล่นโทรศัพท์ทั้งคืน และเข้านอนตื่นนอนเป็นเวลาตามที่พูดคุยกันไว้ หรือจัดมุมทำงานหรือโต๊ะทำการบ้านให้ลูกไว้ในส่วนที่สงบ ปลอดเสียงรบกวนจากเสียงโทรทัศน์ หรือเสียงวิ่งเล่นกันเจี๊ยวจ๊าวของน้องเล็ก ๆ ที่รบกวนสมาธิ หรือมีที่นั่งเล่นนั่งคุยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ลับตาจนเราไม่สามารถดูแลและเข้าถึงได้ ในขณะที่เราเองก็ต้องดูทิศทางลมว่าเมื่อไหร่ควรเข้าใกล้ลูก หรือเมื่อไหร่ที่ควรถอยห่างอีกนิด โดยรักษาระยะห่างในระยะเข้าถึง เพื่อจะได้ไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของลูก เพราะเราคงไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องว่าลูกพูดคุยอะไรกับเพื่อน ๆ และถ้าลูกมีความไว้วางใจในตัวเรา ลูกจะเล่าให้เราฟังเอง หรือเวลาที่เราจะเข้าไปในห้องลูก เราก็ต้องให้ความเป็นส่วนตัวของลูกด้วยการเคาะประตูห้องก่อน

 

สอนลูกให้ธำรงวินัยในความเป็นส่วนตัวผ่านความรับผิดชอบ

            เมื่อลูกอยากได้ความเป็นส่วนตัว เราพร้อมจัดให้ และในขณะเดียวกัน ลูกต้องธำรงรักษาวินัยในความเป็นส่วนตัว โดยต้องมีความรับผิดชอบต่อกิจวัตรของตัวเองให้ได้ เช่น การเข้านอน การตื่นนอน การอาบน้ำแต่งตัว การรับประทานอาหาร การไปโรงเรียนตรงเวลา การทำการบ้าน การทำงานบ้าน การคบเพื่อน การเล่นเกม การใช้โทรศัพท์มือถือ และกฎกติกามารยาทอื่น ๆ ภายในครอบครัว หากลูกธำรงวินัยได้ดี เราก็ไม่ต้องจุกจิกจู้จี้ เตือนแล้วเตือนอีก ซึ่งหากลูกสอบไม่ผ่านกรณีนี้ เราก็จำเป็นต้องลดความเป็นส่วนตัวของลูกให้น้อยลง เพื่อให้ลูกได้มีการปรับปรุงตัวเองใหม่ เป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้ลูก ไม่ใช่การลงโทษหรือการตำหนิติเตียน และข้อสำคัญคือสอนให้ลูกรู้ว่า การให้เวลากับครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของวินัยที่ลูกควรรักษาไว้ด้วย เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วยกัน การไปเดินเล่นหรือออกกำลังกาย การเล่นเกมเป็นกลุ่ม การจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ในบ้าน ฯลฯ เพื่อรักษาบรรยากาศไม่ให้ลูกแปลกแยก เพราะลูกคือแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ลูกและเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นในบ้าน การพูดคุยกันแบบซึ่งหน้าช่วยให้ครอบครัวมีความเข้าใจกันมากขึ้น และเราเองพร้อมทั้งสมาชิกคนอื่นในครอบครัวก็ต้องธำรงวินัยข้อนี้ไว้เช่นกัน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกทำตาม

            หน้าที่ของเราคือดูแลลูกให้อยู่รอดปลอดภัย แต่ไม่สอดแนมจนเกินเหตุ หรือรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของลูกมากเกินไป จนลูกรู้สึกอึดอัดและหวาดระแวง เหมือนถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา การให้พื้นที่ส่วนตัวแก่ลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถึงแม้ลูกจะห่างเหินไปจากเดิม ไม่เหมือนสมัยที่ยังเป็นเด็กวัยประถมอยู่ แต่ลูกก็ไม่ได้ห่างไกลไปจากครอบครัว ความรัก ความผูกพัน และความไว้วางใจ ยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยที่เรารักษาระยะห่างในระยะเข้าถึงเอาไว้ ควบคู่ไปกับการให้พื้นที่ส่วนตัวเพื่อความเป็นส่วนตัวกับลูกได้ตามที่ลูกต้องการ

 

ณัณท์

 

ข้อมูลอ้างอิง
Why Teens Need Privacy From Their Parents https://www.verywellfamily.com/why-does-my-teen-need-privacy-2609615

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow