รอบ Portfolio ก็เปิดรับสมัครคณะแพทย์เหมือนกัน ใครอยากเป็นหมอต้องศึกษาการทำ Portfolio ให้ดีว่าต้องทำแบบไหน เตรียมตัวยังไง ถึงจะได้คะแนนจากกรรมการ และมีโอกาสได้ที่เรียนตั้งแต่ TCAS รอบที่ 1 มาดูวิธีการที่พี่ปลูกนำมาฝากกันเลย
การเตรียมผลงานเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องมี และในการเข้าแพทย์ต้องมีผลงานที่โดดเด่น ตรงกับอาชีพด้านการแพทย์อย่างชัดเจน เพราะการพิจารณาของกรรมการให้คะแนนในเรื่องนี้สูงมาก การมีจุดเด่นด้านนี้ชัดเจนจะทำให้ได้เปรียบเรื่องคะแนน ผลงานเยอะเท่าไหร่ยิ่งดีและควรต้องเกี่ยวข้องกับคณะแพทย์ด้วย อย่าใส่ผลงานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงลงไปเยอะ เพราะนอกจากเปลืองพื้นที่แล้ว ยังไม่ได้รับคะแนนจากกรรมการอีกด้วย
- แข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สอวน.
- แข่งขันวิชาการ กลุ่มวิทยาศาสตร์
- แข่งขันอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์
- แข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
- ผลงานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์
- คะแนนทักษะภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL, TOEIC, IELTS, CU-TEP, TU-GET
- คะแนนสอบ BMAT
- โครงงานวิทยาศาสตร์
- วิจัยด้านวิทยาศาสตร์
ควรต้องมีกิจรรมที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ ที่เคยเข้าร่วมใส่ลงไปด้วย เพื่อการันตีว่าเรามีประสบการณ์ ได้เรียนรู้งานในสายอาชีพนี้มาแล้ว และผ่านบททดสอบระดับต้นมาว่า สามารถเรียนในด้านนี้ได้ เช่น ลองทำกิจกรรม ต้องเจอเลือด เจอภาวะกดดันเรื่องชีวิตและการเจ็บป่วยของคน ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมสติ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น นี่คือสิ่งสำคัญที่จะต้องไปเจอในการทำอาชีพแพทย์จริง ๆ ในอนาคต การทำกิจกรรมด้านการแพทย์มา เป็นเครื่องยืนยันให้กรรมการเห็นว่า น้องเหมาะสมที่จะได้รับการคัดเลือก และเรียนต่อในคณะแพทย์ได้ พร้อมที่จะเป็นแพทย์ที่ดีสร้างประโยชน์ในอนาคตให้กับสังคมได้ ม.ปลาย ที่เตรียมเข้าแพทย์ ควรหาเวลาลงไปทำกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อเก็บเป็นผลงานใส่ Portfolio
- จิตอาสาด้านการแพทย์ ทั้งในโรงพยาบาลและภาคเอกชน
- บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เช่น อาสาสมัคร กิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้
- บริจาคโลหิต
- บริจาคร่างกาย
- กิจกรรมใช้ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- งานดูแลผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ในมูลนิธิต่าง ๆ
ควรเข้าค่ายเตรียมตัวการเป็นแพทย์ เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการเป็นแพทย์พื้นฐาน ได้ฝึกสิ่งที่ต้องเรียนและต้องทำในอาชีพจริง เช่น การผ่า การเย็บ การตรวจร่างกาย การปฐมพยาบาล การช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ ค่ายด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ คือค่ายที่ควรเข้าร่วม เผื่อให้มีประสบการณ์ เป็นข้อมูลสำคัญมาก ที่จะได้รับคะแนนจากกรรมการ เป็นสิ่งที่กรรมการมองหาในตัวผู้สมัคร ถ้ามีประวัติด้านนี้ที่หลากหลายในสายงานการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เราก็จะได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น และได้รับการคัดเลือกจากกรรมการ
- ค่ายเรียนรู้เฉพาะด้าน (แพทย์ / ทันตะ / เภสัช / สัตวแพทย์)
- ค่ายวิทยาศาสตร์
- ค่ายวิชาการ
- กิจกรรมเรียนรู้ศึกษาดูงานในโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือคลินิก
- อบรมเกี่ยวกับด้านการแพทย์ เช่น การฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- การสอบวัดทักษะด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์
นอกจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์และวิทยศาสตร์ ก็ควรมีทักษะด้านอื่น ที่ช่วยเสริมการทำงานในสายอาชีพนี้ติดตัวด้วย เพราะความรู้อย่างเดียวไม่พอ หน้างานจริงต้องใช้ทักษะการเอาตัวรอดหลายด้านเข้ามาประกอบ การจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ต้องมีมากกว่าแค่ความรู้ ทักษะรอบด้านเพื่อแก้ไขสถานการณ์ชีวิตเฉพาะหน้า จำเป็นที่ต้องมีติดตัว กรรมการก็มีเกณฑ์ให้คะแนนเสริมด้านนี้ด้วยเช่นกัน
- ทักษะการสื่อสารที่ดี
- ทักษะการทำงานเป็นทีม
- ทักษะด้านศิลปะ เช่น การวาดรูป สามารถใช้อธิบาทางการแพทย์ได้
- ทักษะถ่ายภาพ ใช้ในการถ่ายหลักฐานทางการแพทย์และทำวิจัยได้
- ทักษะด้านกีฬา เช่น การว่ายน้ำ การวิ่ง สำคัญในการใช้ช่วยเหลือผู้ป่วย
- ทักษะด้านดนตรี ดนตรีบำบัดสามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ งานด้านจิตเวช ก็สามารถใช้ได้