Portfolio ควรใส่สิ่งที่ควรมีให้ครบ และอย่าใส่สิ่งที่ไม่สำคัญลงไป เพราะจะกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ในสายตากรรมการ มาดูกันว่าการทำ Portfolio ควรเป็นแบบไหน
หน้าปกไม่นับรวมใน 10 หน้าของ Portfolio แต่เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ดึงดูดกรรมการได้เช่นกัน แต่ไม่ควรใส่สีสันเยอะเกินไป ควรทำแบบเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจง่าย มีระเบียบ ดึงจุดเด่นที่สุดออกมาใส่ได้ แต่อย่าใส่เยอะเกินไป
แบบกระชับคือใส่แค่ประวัติ ม.ปลาย ที่สำคัญ แต่ก็สามารถใส่ประวัติ ม.ต้น ได้ถ้ามีผลงานที่สำคัญ หรือผ่านการเรียนที่เกี่ยวกับสาขาวิชาที่สมัคร ควรใส่ผลการเรียนลงไป คะแนนสอบวัดทักษะด้านต่าง ๆ (ถ้ามี) ใส่ข้อมูลสำคัญด้านการศึกษาที่สำคัญลงไป ไล่เรียงให้ดีให้เห็นถึงพัฒนาการด้านต่างๆของเรา
ใส่เหตุผลที่เลือกเรียน ความฝันและอาชีพในอนาคต รวมทั้งเป้าหมายที่คิดไว้ ต้องแสดงข้อมูลให้เห็นว่า เป้าหมายของเราสำคัญทั้งกับตัวเองและสังคมยังไง เพื่อให้กรรมการเห็นถึงความน่าสนใจในเป้าหมาย และรู้สึกว่าเราสำคัญ สร้างประโยชน์ได้ และต้องรับเข้ามาเรียนในสาขาวิชานี้
ใส่ผลงานที่สำคัญเกี่ยวกับสาขาวิชาที่เลือกเป็นหลักเท่านั้น ใส่ผลงานอื่นได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่สำคัญ ให้กรรมการเห็นว่าเรามีทักษะอื่นที่ต่อยอดนำมาใช้ ในสาขาที่สมัครได้ แต่สิ่งสำคัญควรใส่ผลงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนอันดับแรก
ใส่ข้อมูลการทำกิจกรรมที่ผ่านมาทั้งหมด โดยเฉพาะตั้งแต่ ม.ปลาย หรือใส่ ม.ต้นด้วยก็ได้ถ้ามีกิจกรรมที่เกี่ยวกับสาขาที่สมัคร สำคัญคือควรเลือกกิจกรรมที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัครเป็นหลัก เพื่อการันตีว่า เราได้ผ่านการเรียนรู้ในด้านนี้มา และได้ฝึกทักษะด้านนี้มาแล้ว จะได้รับความสนใจจากกรรมการมากขึ้น
ใส่ข้อมูลชิ้นงานที่เคยทำขึ้นมา หรือประดิษฐ์เอาไว้ ที่เกี่ยวกับสาขาวิชาที่สมัคร มีชิ้นงานอะไรที่โดดเด่นให้ใส่ลงไปได้เลย ใครที่ยังไม่มีให้เริ่มสร้างผลงานได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ ในยุคนี้สามารถสร้างชิ้นงานได้ผ่านสื่อต่าง ๆ โปรแกรมต่าง ๆ ได้ด้วย ถ้าจะให้ดีทำแล้วต้องหาทางส่งผลงานเข้าประกวดด้วย เผื่อได้รางวัลมา ก็ได้คะแนนจากรรมการเพิ่มอีก แต่ไม่ได้รางวัลก็ใส่ใน Portfolio เพื่อให้เห็นถึงประวัติผลงานและประสบการณ์ได้อีกด้วย เรื่องนี้น้อง ๆ ม.ปลายควรวางแผนสะสมชิ้นงานไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
Portfolio ไม่ใช่การทำรายงาน หรือโครงงานส่งคุณครูแบบที่เราคุ้นเคย คำนำจึงไม่จำเป็นต้องใส่ ใส่ไปก็ไม่ได้เพิ่มคะแนน แถมยังกินพื้นที่ของ Portfolio 10 หน้าอีกด้วย เพราะหลัก ๆ แล้วกรรมการไม่ได้สนใจการเกริ่นเนื้อหาในรูปแบบคำนำ สนใจที่ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับสาขาวิชาเท่านั้น
สารบัญไม่จำเป็นต้องใส่ อย่างที่บอกว่า Portfolio ไม่ใช่รายงานที่เคยทำในชั้นเรียน คนละแบบกัน ขอแค่ใส่เนื้อหาใน Portfolio ให้ครบแต่ละหมวด จัดเรียงต่อกัน 10 หน้า ให้เป็นระบบ อ่านง่าย เนื้อหาตรงสาขาวิชา เรียบเรียงสิ่งสำคัญ เท่านี้เท่านั้นที่กรรมการจะให้ความสำคัญเรื่องการทำ Portfolio ได้ตรงโจทย์
ไม่ต้องปิดจบ Portfolio ด้วยการใส่การขอบคุณลงไป แบบที่เคยใส่ในรายงาน เพื่อแสดงความนับถือคุณครูลงไป ใส่แค่เนื้อหาสำคัญแต่ละส่วนให้ครบทั้ง 10 หน้า ก็พอแล้ว ถ้าต้องการปิดท้ายก็ให้รวมอยู่ในจำนวน 10 หน้าไม่ต้องแยกออกมาเพิ่ม และถ้าใส่ใน 10 หน้าก็ไม่ควรกินพื้นที่การใส่ข้อมูลสำคัญ จะใส่การปิดท้ายได้ก็ต่อเมื่อยังพอมีพื้นที่เท่านั้น และแนะนำว่า ถ้าต้องการใส่จริง ๆ ก็ใส่เป็นการการันตีว่า เราสมควรได้รับการคัดเลือกเพราะอะไร แบบนี้จะเป็นประโยชน์และน่าสนใจในสายตากรรมการมากกว่า