Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สร้างแบรนด์ตัวเอง เริ่มต้นอย่างไร

Posted By Plook Magazine | 10 ก.ค. 66
1,565 Views

  Favorite

‘อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง’ 

น่าจะเป็นเป้าหมายของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเจ้าของแบรนด์ครีม เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่ถือว่ามาแรงที่สุด แต่การสร้างแบรนด์สินค้าพูดง่ายกว่าทำ ไม่ใช่แค่ว่าต้องคิดให้ออกว่าจะปั้นสินค้าอะไร (What) แต่ยังต้องทำแบรนด์ดิ้งให้เป็นเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืน แต่จะทำอย่างไรนั้น (How) บทความนี้มีคำตอบ 

 

trueplookpanya

 

ต้องยอมรับความจริงว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ ‘การผลิต’ มันล้นเกินกับ ‘ความต้องการ’ ไปมาก ทำให้สินค้ามีเยอะกว่าความต้องการของผู้บริโภค ข้อดีจะตกไปอยู่กับผู้ซื้อเพราะสามารถเลือกสินค้าได้หลากหลาย แต่สำหรับผู้ผลิตมันคือความท้าทาย ส่งผลให้ไม่ว่าจะผลิต ทำแบรนด์สินค้าอะไรออกมาก็ตาม สินค้านั้นจะไม่ใช่ของใหม่ในตลาดเลย เพราะมีคนผลิตสินค้าเหมือนกันออกมาขายส่งผลให้สินค้าขายไม่ออกหรือขายออกยาก ออเดอร์ไม่ได้เยอะเหมือนอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้ 

การทำ Branding (แบรนด์ดิ้ง) คืออะไร 

ดังนั้นนอกจากที่เราจะต้องนึกให้ออกว่าจะสร้างแบรนด์สินค้าอะไรแล้ว เราต้องมั่นใจด้วยว่าสินค้าของเรามีคุณภาพดีไร้ข้อกังขา (หากอยากสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจไม่ใช่ให้ลูกค้ามาซื้อของ แล้วบ่นว่าจะไม่กลับมาซื้ออีกเพราะของไม่ดี) เมื่อมั่นใจในคุณภาพสินค้าแล้ว ก็ต้องขยับมาทำ Branding (แบรนด์ดิ้ง) สร้างบุคลิกให้แบรนด์ของเราเป็น Top of mind หนึ่งเดียวในใจของลูกค้าเสมอเมื่อนึกถึงสินค้าชิ้นนั้น เช่น หากเราอยากสร้างแบรนด์ของแต่งบ้าน คนจะนึกถึงแบรนด์ของเราก่อนเสมอเมื่อนึกถึงของแต่งบ้าน เป็นต้น 

 

ปัญหาของคนที่มีแบรนด์เป็นของตัวเองก็คือ ทำไปสักพักสินค้าขายไม่ออก เพราะสินค้าที่ทำแบรนด์ดิ้งไม่ดีจะขายยากมาก แล้วถูกปัดตกให้ไปเป็นสินค้าที่ต้องสู้กันผ่านการตัดราคาและทำโปรโมชั่น ใครที่ขายราคาถูกกว่าก็จะขายได้ ส่วนใครที่ขายแพงกว่าเพื่อนก็จะขายไม่ออก ซึ่งคงไม่มีใครอยากไปอยู่จุดนั้นสักเท่าไหร่ ดังนั้นการทำแบรนด์ดิ้งจึงสำคัญไม่แพ้กันในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง

ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน

 

shutterstock

 

1. ชอบในสิ่งที่ขาย ขายในสิ่งที่ชอบ  

จะสร้างแบรนด์ของตัวเองทั้งทีก็ต้องเอา ‘ตัวตน’ ของตัวเองเข้าไปใส่ในสินค้าด้วย คือต้องมีความหลงใหลในสินค้าชิ้นนั้น ต้องรู้สึกกับสินค้าที่ตัวเองดูแล อยากเห็นสินค้าเติบโตและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและพร้อมที่จะรับผิดชอบหากมีปัญหาเกี่ยวกับสินค้า เช่น คุณเป็นคนชอบแต่งตัวมาก แต่คุณมีสะโพกใหญ่ เอวเล็ก หากางเกงใส่ยากมากเพราะกางเกงในตลาดไม่พอดีตัว คุณเลยอยากสร้างแบรนด์กางเกงสำหรับผู้หญิงสะโพกใหญ่ เอวเล็กให้ใส่ได้พอดี ไม่ต้องไปเสียเงินเอาเอวเข้าทีหลัง เป็นต้น 

 

ไอเดียในการทำแบรนด์สินค้า 
ทำเพื่อช่วยแก้ปัญหา
ต่อยอดจากไอเดียของคนอื่น
ดูเทรนด์โลก สัญญาณความนิยมใหม่ ๆ 
ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง  
เพิ่มคุณค่าทางจิตใจ 

 

เพราะการเริ่มต้นทำแบรนด์จากสิ่งที่ชอบจะช่วยให้เราเข้าใจผลิตภัณฑ์ได้ดี แก้ปัญหาได้ดี ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เหมือนเราได้  

2. มีแผนธุรกิจที่ดี 

คุณต้องมีแผนธุรกิจ แผนการตลาดที่ดีที่ถูกต้อง (เหมือนทำ Startup) เพราะแผนธุรกิจจะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจนั้น ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด ช่วยให้เราเตรียมพร้อมก่อนลงมือทำจริงได้ เพราะในหน้ากระดาษแผนธุรกิจนี้แหละที่จะช่วยให้เราได้ศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility) ของไอเดียที่เรามี ไอเดียที่เราคิดว่าดีมาก พอลองมาคิดคำนวณลงรายละเอียดดูดี ๆ แล้วมันเวิร์กไหม หรือไม่คุ้มเลย เจ๊งแน่ ๆ เป็นการนำไอเดียมาทดสอบความเป็นไปได้ก่อนลงมือทำ เพื่อปิดช่องโหว่ต่าง ๆ ที่อาจทำให้แบรนด์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเจ๊งในกระดาษย่อมดีกว่าเจ๊งในชีวิตจริง 

 

ตัวอย่างการวางแผนธุรกิจ

“ เราจะทำแบรนด์เสื้อผ้าเองไม่รับที่อื่นมาขาย คิดว่าอยากจะขายถูก ๆ ตัวละ 100 บาท แต่พอติดต่อ Supplier คำนวณค่าที่ ค่าพนักงาน ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าทำการตลาด ถ้าขายตัวละ 100 เราต้องเจ๊งแน่นอน เพราะในแผนธุรกิจเมื่อคำนวณถึงกำไรต้นทุน ช่วงเวลาและกำลังเงินมันจะบอกเราได้หมด ” 

shutterstock

3. ทำแบรนด์ดิ้ง 

การทำแบรนด์ดิ้งคือ หัวใจหลักที่ทำให้แบรนด์หนึ่งประสบความสำเร็จกว่าเเบรนด์อื่น เพราะลูกค้าปัจจุบันไม่ได้ซื้อของเพราะ ‘ตัวสินค้า’ เท่านั้น แต่หลายคนซื้อเพราะ ‘ตัวแบรนด์’ ด้วย ดังนั้นจึงสำคัญมากว่าจะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเรามีเอกลักษณ์จนกลายเป็น Top of mind ของลูกค้า โดยต้องเปรียบแบรนด์ของเราเป็นคน ๆ หนึ่ง แล้วคนนี้จะมีนิสัยใจคอและบุคลิกอย่างไร ? มีทัศนคติ ความคิด ความเชื่ออย่างไร ? เช่น กางเกงที่ใส่แล้วเสริมความมั่นใจ, น้ำพริกที่กินแล้วดีต่อสุขภาพ, กระเป๋ารีไซเคิลดีต่อโลก เป็นต้น แล้วค่อยเอาเอกลักษณ์เหล่านั้นมาคิดต่อเป็น ชื่อเเบรนด์ โลโก้แบรนด์ งานดีไซน์ กราฟิกต่าง ๆ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อใช้ทำ Marketing ต่อไป 


ตัวอย่างบุคลิกของแบรนด์
 ● Excitement - ตื่นเต้น สนุกสนาน มั่นใจ ท้าทาย ตื่นตัว เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากออกไปใช้ชีวิต 
 ● Sincerity - ห่วงใย จริงใจ ซื่อสัตย์ เช่น ธุรกิจบริการและประกันภัย 
 ● Sophistication - ซับซ้อน หรูหรา เลอค่า เช่น เครื่องสำอางหรือแบรนด์เนม 
 ● Competence  - ฉลาด เหนือชั้น ก้าวล้ำ เช่น สินค้าไอที หรือสมาร์ทโฟน  
 ● Ruggedness - ทนทาน บึกบึน ห้าวหาญ เช่น สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล  


ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า Marketing ไม่ใช่  Branding เพราะ Marketing เป็นการสร้างแคมเปญการตลาดขึ้นมา เพื่อต้องการสร้างยอดขายในช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่ Branding จะต้องการสร้างบุคลิกและตัวตนของแบรนด์ เพื่อสร้างภาพจำให้กับลูกค้า ซึ่งข้อดีของการทำ Branding ให้แข็งแรงก็คือ แบรนด์ของคุณจะไม่หาย ไม่ตาย ไม่จมแม้โลกจะเปลี่ยนไปยังไงก็ตาม 

 

shutterstock


4. ระบบหลังบ้านต้องดี 

มีสินค้าที่ดี แบรนด์มีเอกลักษณ์ชัดเจน ผู้คนจดจำได้แล้ว โจทย์ต่อมาก็คือ อย่าให้แบรนด์ดูดีแค่ภายนอก ภายในก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่สร้างภาพลักษณ์มาดีมากแต่ทำเหมือนที่สร้างภาพไว้ไม่ได้ เช่น พนักงานขายไม่ยิ้มแย้ม ส่งสินค้าช้าแถมยังส่งสินค้าผิด ลูกค้าทักมาสอบถามก็ไม่ตอบแชท ลูกค้ามาติชมก็ไปตอบกลับไม่สุภาพ ฯลฯ ปัญหาหลังบ้านเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้น หากไม่อยากให้ลูกค้าหนีไปซื้อร้านอื่น (หรือ Worst case คือโดนแบน) เพราะหากดูแลระบบหลังบ้านไม่ดีก็เท่ากับว่าแบรนด์กำลังทำลายความไว้ใจของลูกค้า 

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้ากดซื้อสินค้า นั่นเท่ากับว่าเขาไว้ใจแบรนด์เรา เขาจ่ายเงินให้เรา เขาคาดหวังการบริการที่จริงใจ ทางแบรนด์ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าด้วยการจริงใจกับลูกค้ากลับ รับฟังเสียงของลูกค้ามาปรับปรุง แก้ไข เพราะอย่าลืมว่าในยุคนี้ รีวิวไม่ดีเพียงรีวิวเดียวก็สร้างปัญหาตามมาได้ อย่ามองข้ามปัญหาของลูกค้าว่าเป็นเพียงปัญหาเล็ก ๆ ทีมหลังบ้านจะต้องมอนิเตอร์ฟีดแบค (Feedback) ทุกอย่างให้แบรนด์ได้ทราบ 
 

ทั้งหมดนี้เป็นแค่คำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น 4 หัวข้อใหญ่สำหรับคนที่อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ที่ต้องโน้ตเอาไว้และทำให้ได้หมดทุกข้อ ส่วนในรายละเอียดต้องไปศึกษาเพิ่มเติมอีกหนัก ๆ โดยเฉพาะแผนธุรกิจเพื่อให้แบรนด์ของคุณไม่ต้องไปแข่งลดราคากับเจ้าอื่นเพื่อที่จะขายออก แต่ยืนหนึ่งเป็นเเบรนด์ Top of mind ราคาเท่าไหร่ลูกค้าก็ยอมซื้อ เป็นกำลังใจให้ค่ะ 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow