Work From Home หรือ WFH การทำงานที่บ้านนั้น หลังการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 สถานประกอบการหลายแห่งที่เคยให้ลูกจ้างทำงานจากที่บ้าน สั่งให้ลูกจ้างกลับมาทำงานที่สำนักงานเหมือนก่อนการระบาด แต่บางแห่งก็ปรับตัวเป็นแบบผสมผสาน เช่น ทำงานที่บ้านในบางวัน หรือสลับกับการทำงานที่สำนักงาน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนหลายอย่างให้กับนายจ้าง เช่น ค่าไฟ ฯลฯ
Work From Home ในบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นทางกฎหมายของการทำงานที่บ้านเนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงานฉบับแก้ไข เดือนมีนาคม 2566 มาตรา 23/1 กำหนดหลักการเรื่อง WFH ไว้โดยแยกอธิบายได้หลายประเด็น ดังนี้
ลูกจ้าง บางคนอาจเห็นด้วย หรืออยากทำงานที่บ้าน เพราะมีประโยชน์เช่น ลดค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทาง ไม่ต้องเตรียมแต่งตัว แต่บางคนก็อาจไม่สะดวกด้วยเหตุผลด้านสถานที่ในบ้านไม่เอื้ออำนวย หรือเงื่อนไขอื่นของชีวิต ทำให้การเดินทางออกมาทำงานที่สำนักงานสะดวกกว่า ฯลฯ จึงมีคำถามว่า ลูกจ้างที่ประสงค์จะทำงานที่บ้าน จะสามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย ขอให้นายจ้างยอมให้ตนเองทำงานที่บ้านได้หรือไม่ และลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะทำงานที่บ้าน แต่นายจ้างสั่งให้ทำ จะถือว่ามีหน้าที่โดยไม่สามารถปฎิเสธหรือไม่
ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 23/1 การทำงานที่บ้าน เกิดจากการ “ตกลงกัน” ของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น การทำงานที่บ้านจึงไม่ใช่คำสั่ง หากนายจ้างออกคำสั่งมาฝ่ายเดียว ลูกจ้างมีสิทธิปฎิเสธได้ ในทางกลับกันก็ไม่ใช่สิทธิที่ลูกจ้างสามารถแจ้งความประสงค์จะขอทำงานที่บ้านแล้วนายจ้างต้องอนุญาต เพราะกฎหมายกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายยินยอมเห็นชอบร่วมกันจึงเกิดการทำงานที่บ้านโดยถูกต้องตามกฎหมาย
เนื่องจาก การทำงานที่บ้านเกิดจากการตกลงกันของนายจ้างและลูกจ้าง แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบหรือแบบฟอร์มเอาไว้โดยเฉพาะ นายจ้างและลูกจ้างจึงเขียนข้อตกลงกันขึ้นเองได้ ทั้งนี้ จะต้องมีหัวข้อหรือเงื่อนไขสำคัญที่กฎหมายกำหนด เช่น
ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง
เนื่องจากการทำงานที่บ้าน เป็นการตกลงกันในช่วงเวลาหนึ่ง จึงต้องระบุไว้ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาขั้นสูงหรือขั้นต่ำ จึงเป็นไปได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน เช่น ตกลงกันทำงานที่บ้าน 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12-16 มิถุนายน 2566
วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา
การทำงานที่บ้าน มีเวลาเข้าและเลิกงาน แต่อาจใช้วิธีการลงเวลางานที่แตกต่างจากการทำงานที่สำนักงาน เช่น ใช้วิธีการกรอกข้อมูลหรือส่งข้อความแจ้งเข้างานผ่านโปรแกรมแทนการสแกนนิ้ว เวลาทำงานปกติที่กำหนดกันไว้นี้มีความสำคัญเพราะ
- ถ้านายจ้างให้ทำงานเพิ่มเติมนอกจากเวลานี้จะเป็นการทำงานล่วงเวลา และมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลาเหมือนกับการทำงานที่สำนักงาน
- มาตรา 23/1 ห้ามนายจ้างติดต่อสื่อสาร ส่งข้อความ ฯลฯ ไปยังลูกจ้างนอกเหนือเวลาทำงานที่ตกลงกันไว้ เช่น ตกลงกันทำงานที่บ้าน เริ่มงาน 9.00 - 18.00 นายจ้างจะไม่สามารถแชท หรือโทรหาลูกจ้างนอกเวลานี้
ขอบเขตหน้าที่การทำงาน
เป็นการระบุว่าในช่วงการทำงานที่บ้านนั้นลูกจ้างต้องปฎิบัติอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ของแต่ละตำแหน่ง
เครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการทำงาน
การทำงานที่บ้านในแง่หนึ่งทำให้ลูกจ้างประหยัดค่าใช้จ่ายบางอย่าง แต่อาจทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย เช่น ต้องติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บางอย่างเพิ่มเติมที่บ้าน หรือ ค่าไฟบ้านที่ต้องเพิ่มมากขึ้น หรือ ค่ากาแฟที่ต้องจ่าย เพราะไปนั่งทำงานในร้านกาแฟ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่านายจ้างต้องออกให้ลูกจ้าง แต่ถ้าลูกจ้างต้องการให้นายจ้างสนับสนุนค่าใช้จ่ายก็ต้องเจรจาเพื่อให้นายจ้างยอมระบุไว้ในข้อตกลง
กฎหมายกำหนดหลักการทั่วไปหรือเงื่อนไขเบื้องต้นของการทำงานที่บ้านว่า
“…ลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบกิจการหรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้โดยสะดวก…”
แม้ว่างานหลายอย่างสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ แต่งานบางอย่างยังต้องปรากฎตัวในสถานที่ทำงาน เช่น งานฝ่ายผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถยกเครื่องจักรไปทำงานที่บ้านได้ ลูกจ้างแต่ละคนจึงอาจมีโอกาสที่จะทำงานที่บ้านได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ระบุเจาะจงว่า ตำแหน่งไหนทำงานที่บ้านได้ ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งงาน แต่ก็กล่าวโดยทั่วไปได้ว่า งานด้านเอกสารหรือข้อมูลจัดเป็นสภาพที่สามารถทำงานที่บ้านได้
Work from home การทำงานที่บ้านนั้นอาศัยการสื่อสารติดต่อทางออนไลน์เป็นหลัก รวมทั้งนายจ้างอาจใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานด้วย จึงมีประเด็นว่า ลูกจ้างต้องอยู่ในโหมดพร้อมติดต่อและรับการสื่อสารต่าง ๆ ตลอดเวลาหรือไม่ แยกเป็นสองกรณีดังนื้
- ในช่วงนอกเวลาตามข้อตกลง กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 23/1 ให้สิทธิลูกจ้างปฎิเสธการสื่อสารทุกรูปแบบจากนายจ้าง เช่น ข้อตกลงกำหนดเวลาทำงานที่บ้าน 9.00- 18.00 ช่วงก่อนหรือหลังจากนี้ ลูกจ้างสามารถปิดมือถือ ไม่อ่านไลน์ ไม่รับโทรศัพท์ เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้าง แต่ทั้งนี้ กฎหมายมีข้อยกเว้นว่า ถ้าลูกจ้างให้ความยินยอมไว้ นายจ้างก็สามารถติดต่อได้
- ในช่วงเวลาทำงานตามข้อตกลง ติดต่อสื่อสารที่เกิด เช่น ทำงานที่บ้านโดยตกลงว่าเริ่มงาน 9.00 - 18.00 พัก 12.00 -13.00 แบบนี้ ในช่วง 9.00 - 12.00 ลูกจ้างต้องพร้อมรับการติดต่อตามขอบเขตงานที่ตกลงกัน ซึ่งนายจ้างจะติดต่อบ่อยครั้งแค่ไหนก็สามารถทำได้
แม้เราจะเรียกว่า การทำงานที่บ้าน Work From Home หรือ WFH อันเป็นการใช้ถ้อยคำตามความหมายทั่วไป แต่ตามกฎหมายที่จริงแล้วเรียกว่า “การทำงานนอกสถานประกอบการ” ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นการทำงานที่ “บ้าน” เพราะอาจเกิดปัญหาการตีความต่าง ๆ เช่น ลูกจ้างบางคนไม่ได้อยู่อาศัยใน “บ้าน” หรือ อยู่บ้านคนอื่น หรืออาจอยากไปทำงานที่ “เวิร์คกิ้งสเปซ” (Working space) ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อมีการตกลงกันให้ทำงานนอกสถานประกอบการแล้ว ลูกจ้างก็สามารถนำงานไปทำที่ใดก็ได้
สำหรับนายจ้างบางรายประสงค์ควบคุมไม่ให้ลูกจ้างเดินทางไปนั่งทำงานตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่ต่าง ๆ ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น กังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูล กลัวว่าบุคคลภายนอกที่ผ่านไปมาอาจเห็นข้อมูลเรื่องงานของบริษัท ฯลฯ ก็อาจกำหนดไว้ในข้อตกลง วางเงื่อนไขทำงานที่บ้านในลักษณะต่าง ๆ เช่น ไม่ให้ไปนั่งทำในร้านอาหาร หรือที่สาธารณะ หรือ ให้ทำงานอยู่แต่ในที่พักอาศัย ฯลฯ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลูกจ้างจะยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะถ้าลูกจ้างไม่เห็นด้วยก็อาจทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่บรรลุข้อตกลง สุดท้ายก็ต้องทำงานที่สำนักงาน
Work from Home การทำงานที่บ้านนั้นอาจสะดวกกับลูกจ้าง สถานประกอบการ หรือแม้แต่การทำงานแบบผสมผสาน ทั้งหมดควรมีรายละเอียดตามสิทธิหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ต้องตกลงกติกา เงื่อนไขให้รับรู้ และเข้าใจตรงกัน รวมทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน โดยไม่มีข้อโต้แย้ง หรือข้อพิพาทเกิดขึ้นได้ในภายหลัง
รศ คณาธิป ทองรวีวงศ์
สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม.เกษมบัณฑิต