Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อชีวิตคู่พัง ไปต่อกันไม่ได้ สิทธิเลี้ยงลูกจะเป็นของใคร ?

Posted By Plook Magazine | 18 ก.ค. 66
27,510 Views

  Favorite

การเลิกราหรือหย่าร้างกัน ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเมื่อชีวิตคู่มันพัง ไปต่อกันไม่ได้แล้ว อยู่ด้วยกันแล้วไม่มีความสุข ก็ควรจะมูฟออนจากกัน สำหรับคู่ไหนที่มีลูกด้วยกัน ก็จะเกิดคำถามว่า เมื่อเลิกกัน ใครจะได้สิทธิเลี้ยงดูลูก ? บทความนี้มีคำตอบมาให้ค่ะ มาดูกันว่ากฎหมายแบ่งสิทธิเลี้ยงดูลูกไว้อย่างไรบ้าง 

 

เมื่อเลิกราหย่าร้างกัน สิทธิเลี้ยงดูลูกจะเป็นของใคร ?

การหย่า คือ การสิ้นสุดการสมรสในทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แบ่งสิทธิการเลี้ยงดูบุตรตามสถานะของบิดามารดา ออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

 

1. บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน แล้วหย่ากันหลังมีบุตร

เมื่อบิดามารดาหย่ากัน ต้องมีการตกลงกันเองว่าใครจะเป็นคนเลี้ยงดูบุตรเป็นหลัก หรือจะร่วมกันเลี้ยงดูอย่างไร เช่น การตกลงวันที่จะสลับให้บุตรอยู่กับบิดามารดา หรือหากมีบุตร 2 คน ก็อาจจะแบ่งเลี้ยงดูคนละคน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินการให้ศาลตัดสิน

 

ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ (ตามมาตรา 1582 อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี หรือประพฤติชั่วร้าย) ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

 

 

ส่วนการตกลงในเรื่องค่าเลี้ยงดูบุตร ตามมาตรา 1522 ได้ระบุไว้ว่า ถ้าสามีภรรยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภรรยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด แต่ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะหย่าด้วยความยินยอมหรือจากคำสั่งศาล พ่อหรือแม่ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายได้สิทธิเลี้ยงดูลูก ก็จะยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะติดต่อหรือพบปะลูกได้ตามตกลง ตามมาตรา 1584/1 บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม เช่น ต้องได้เจอลูกสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง 

 

 

2. บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันขณะมีบุตร

หากบุตรเกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร กฎหมายจะให้สิทธิ์ทั้งหมดเป็นของมารดาแต่เพียงผู้เดียว เพราะถือเป็นผู้ตั้งครรภ์และให้กำเนิด ดังนั้นมารดาก็จะได้สิทธิเลี้ยงดูลูกทันที หากบิดาต้องการสิทธิเลี้ยงดูบุตรสามารถทำได้ตามนี้

● จดทะเบียนรับรองบุตร โดยต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ/เขต ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากมารดาและตัวบุตรเองด้วย

● จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง แบบนี้ตัวบิดาก็จะมีสิทธิเลี้ยงดูลูกด้วย

● ฟ้องศาลเพื่อขอสิทธิเลี้ยงดูบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

*มาตรา 1547 ระบุไว้ว่า เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

 

 

3. หากไม่ปรากฏบิดา

กรณีนี้สิทธิเลี้ยงดูลูกจะเป็นของมารดาแต่เพียงผู้เดียว โดยสามารถระบุชื่อมารดาในใบสูจิบัตรได้โดยไม่มีผลต่อการติดต่อราชการใด ๆ แต่หากพบว่ามีการขอหรือเป็นฝ่ายร้องขอให้บิดามารับรองบุตร ก็สามารถเพิ่มชื่อบิดาได้ภายหลัง ซึ่งนายทะเบียนจะออกเป็นใบสูจิบัตรให้ใหม่ แต่ต้องมีหลักฐานการตรวจ DNA ยืนยันความเป็นบิดาที่แท้จริงเท่านั้น

 

ทั้งนี้ หากมีคำสั่งศาลจากการขอหรือถูกร้องขอให้ตรวจ DNA สามารถทำได้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 160 แต่ต้องได้รับการยินยอมจากทุกฝ่าย

 

 

แหล่งข้อมูล

- สิทธิ์เลี้ยงดูลูกจะอยู่ที่ใคร หากพ่อแม่แยกทางกัน?

- เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน ใครจะเป็นผู้มีสิทธิดูแลลูก

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow