ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 วรรคสาม ระบุไว้ว่า สินสอดคือทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง ของฝ่ายหญิงเท่านั้น เพื่อเป็นการตอบแทนที่ฝ่ายหญิงยอมสมรสด้วยกับฝ่ายชาย
สินสอดที่ให้จะต้องเป็นทรัพย์สิน เช่น เงิน หรือทรัพย์ต่าง ๆ และหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องด้วย โดยตัวทรัพย์ที่เป็นสินสอดนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งมอบกันในขณะทำสัญญา อาจจะตกลงนำสินสอดมามอบให้แก่ฝ่ายหญิงในภายหลังก็ได้
สินสอดเป็นการให้เพื่อตอบแทนการที่ฝ่ายหญิงยอมสมรสด้วย ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา แต่ถือเสมือนว่าเป็นการให้ตามสัญญาต่างตอบแทน และทรัพย์ที่เป็นสินสอดนั้นเมื่อได้ส่งมอบไปแล้วย่อมถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของฝ่ายหญิงทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีการสมรสกันก่อน ทั้งนี้ หากฝ่ายชายได้ตกลงว่าจะมอบสินสอดให้กับฝ่ายหญิง แต่ต่อมาไม่มีการสมรสเกิดขึ้นเพราะฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฝ่ายหญิงก็ยังมีสิทธิเรียกสินสอดจากฝ่ายชายตามข้อตกลงได้
แต่ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นเพราะเหตุสำคัญอันเกิดแก่ฝ่ายหญิงหรือโดยพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ฝ่ายชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้นได้ ฝ่ายชายย่อมชอบที่จะเรียกสินสอดคืนจากฝ่ายหญิงได้
การให้สินสอดแก่กันนั้นจะต้องตกลงให้แก่กันก่อนสมรส แต่ทรัพย์สินที่เป็นสินสอดซึ่งตกลงจะให้นั้นจะมอบให้แก่ฝ่ายหญิงก่อนสมรสหรือหลังสมรสก็ได้ไม่จำเป็นจะต้องมอบให้ในขณะทำสัญญาว่าจะให้ หากมีการตกลงพูดคุยกันแล้วว่าจะให้สินสอดแก่ฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะตกลงด้วยวาจาหรือตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรก็ถือได้ว่ามีการตกลงจะให้สินสอดแก่กันตามกฎหมายแล้ว
ในการหมั้นหมายหรือการสมรสกันของชายหญิงนั้นกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการให้สินสอดแก่บิดามารดาฝ่ายหญิงทุกกรณี ดังนั้น หากต้องการจะหมั้นหมายหรือสมรสกัน ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีสินสอดก็ได้ แต่ถ้าได้มีการตกลงพูดคุยกันไว้ว่าฝ่ายชายจะให้สินสอด แล้วฝ่ายชายไม่ยอมให้ ฝ่ายหญิงก็สามารถมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินสอดได้
กฎหมายมีการกำหนดกรณีที่ฝ่ายชายอาจเรียกสินสอดคืนได้ไว้ 2 กรณี ดังนี้
1. กรณีที่ไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง
คำว่าเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงนี้ หมายถึง เหตุใด ๆ ก็ตามที่อาจกระทบกระเทือนถึงการสมรสระหว่างชายและหญิงในการดำรงชีวิตคู่ในภายหน้าได้ ตัวอย่างเหตุสำคัญที่อาจเกิดแก่หญิงที่ทำให้ฝ่ายชายอาจเรียกสินสอดคืนได้ เช่น หญิงได้มีการคบกับชายอื่น หรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันไม่อาจทำให้ใช้ชีวิตคู่ได้อย่างปกติสุข เป็นต้น
2. กรณีที่ไม่อาจสมรสเพราะมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
พฤติการณ์ที่ถือว่าฝ่ายหญิงจะต้องรับผิดชอบนั้นอาจมีได้หลายกรณี เช่น ฝ่ายหญิงไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส หรือฝ่ายหญิงได้ทิ้งชายคู่หมั้นไป เป็นต้น
ส่วนในกรณีที่คู่หมั้นหมายเสียชีวิตก่อนแต่งงาน กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 1441 ว่าหากคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตก่อนสมรส ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนทั้งของหมั้นและสินสอด
แหล่งข้อมูล