Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การมองเห็นของค้างคาวในที่มืด

Posted By Thananthorn | 23 มิ.ย. 66
3,680 Views

  Favorite

ในช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา จนถึงปีนี้สิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปเป็นความปกติใหม่ (New Normal) นั่นคือการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าไวรัสชนิดนี้มีที่มาจากแหล่งใด หลายคนจึงสันนิษฐานว่ามาจากค้างคาว เนื่องจากมีการตรวจพบไวรัสชนิดนี้ในร่างกายของค้างคาว ค้างคาวจึงตกเป็นสัตว์ตัวร้ายที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นตัวการในการแพร่ระบาดไปในทันที ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับค้างคาวน้อยมาก เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ที่ลึกลับ หากินตอนกลางคืน และซ่อนตัวในที่มืดในเวลากลางวัน จึงยากต่อการพบเจอ แต่ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาพฤติกรรมของค้างคาว ทำให้ทราบสิ่งที่น่าสนใจของสัตว์ชนิดนี้ โดยเฉพาะการหากินในที่มืดซึ่งเป็นความสามารถพิเศษของค้างคาวที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น

ภาพ : Shutterstock

 

ค้างคาวส่วนใหญ่หากินในเวลากลางคืน และนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางวัน มันจึงถูกตีความว่าเป็นสัตว์ที่ลึกลับ น่ากลัว แต่ก็น่าพิศวงว่าเหตุใดค้างคาวจึงสามารถบินได้อย่างคล่องแคล่วในที่มืดแม้ว่าสภาพแสงในตอนกลางคืนจะมืดมิดจนมองอะไรไม่เห็น แต่ค้างคาวก็สามารถบินหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และหาอาหารได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่น่าสงสัยว่ามันทำได้อย่างไร หรือค้างคาวจะมีสายตาที่ยอดเยี่ยมอย่างนกที่หากินกลางคืนเหมือนนกฮูก แต่เปล่าเลย ค้างคาวไม่ได้มีสายตาที่ยอดเยี่ยม กลับกัน ค้างคาวมีสายตาที่แย่มากจนเกือบบอด แต่มันก็ยังสามารถเคลื่อนที่แหวกไปในอากาศได้อย่างอิสระ และบินตรงไปยังเป้าหมายของมันได้อย่างแม่นยำทั้งที่ตาบอด

 

จนในที่สุดนักสัตววิทยาก็ทำการค้นคว้าจนได้คำตอบในปริศนาของสัตว์ที่น่าฉงนนี้ เพราะค้างคาวมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยให้ทราบตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ในที่มืด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งกีดขวาง กิ่งไม้ ก้อนหิน ไปจนถึงอาหาร ทั้งน้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้รสหวานฉ่ำ หรือแม้แต่สัตว์ขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้ อย่างเช่น แมลง หรือกบ ค้างคาวก็สามารถจับมาเป็นอาหารได้ ทั้งยังหลบหลีกจากศัตรูได้ด้วยการอาศัยอวัยวะที่สร้างคลื่นความถี่สูงไปตกกระทบวัตถุต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม แล้วคลื่นเสียงนี้ก็จะสะท้อนกลับมาที่ค้างคาวโดยมีอวัยวะที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับรับคลื่นสะท้อน นั่นคือใบหูที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติจนเห็นได้ชัด ทำให้ค้างคาวทราบตำแหน่งของอาหาร หรือสิ่งต่าง ๆ ที่คลื่นเสียงนี้ตกกระทบ แต่มนุษย์กลับไม่ได้ยินเสียงนี้ เนื่องจากเสียงมีความถี่สูงเกินกว่าช่วงความถี่ของการได้ยินของมนุษย์ ค้างคาวจึงไม่จำเป็นจะต้องมองเห็นได้ในที่มืด เมื่อมันสามารถใช้เสียงอัลตราโซนิกสะท้อนแทนได้

ภาพ : Shutterstock

 

แต่หลักการใช้เสียงสะท้อนในการหาตำแหน่งของอาหารนี้ยังพบได้ในสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีก นั่นคือโลมา ที่จะส่งคลื่นเสียงโซนาร์ออกไปในน้ำ เพื่อหาตำแหน่งของฝูงปลาในทะเล แล้วสะท้อนกลับเข้ามาที่อวัยวะรับคลื่นเสียง ทำให้โลมาทราบตำแหน่งของฝูงปลาและล่าเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จากหลักการใช้คลื่นเสียงในการหาตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะมองไม่เห็น หรือเห็นได้ลำบากของค้างคาวนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาและพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสำหรับสร้างเรือดำน้ำ และเรือประมงสำหรับหาตำแหน่งของฝูงปลา โดยอาศัยหลักการสะท้อนของเสียง โดยคำนวณจาก

s = vt และ v = fλ

เมื่อ s คือ ระยะที่เสียงเดินทางไปและสะท้อนกลับ

       v คือ ความเร็วของเสียงในตัวกลางนั้น ๆ เช่น ค้างคาวคำนวณจากความเร็วเสียงในอากาศ โลมา หรือเรือคำนวณจากความเร็วเสียงในน้ำ

       t คือ เวลาที่เสียงใช้เดินทางไปตกกระทบและสะท้อนกลับ

       f คือ ความถี่ของเสียง มีหน่วยเป็นรอบต่อวินาที หรือ เฮิร์ตซ์ (Hz)

       λ คือ ความยาวของคลื่นเสียงนั้น

ภาพ : Shutterstock

 

แสดงให้เห็นว่าถึงแม้สัตว์ที่ดูเหมือนจะลึกลับและอาจเป็นอันตราย หากลองทำการศึกษาให้ดีก็จะค้นพบความรู้ที่ลึกซึ้งเพื่อนำข้อมูลที่ศึกษาได้ไปผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำประโยชน์กับมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ และอาจพัฒนาต่อไปเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกต่อผู้คนในอนาคตได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Thananthorn
  • 4 Followers
  • Follow