ปัจจุบันมีนกพิราบประมาณ 400 ล้านตัวบนโลก และส่วนมากอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เราจะพบเจอและเห็นมันเดินผงกหัวไปมาได้ไม่ยาก ไม่มีใครทราบว่าทำไมพวกมันจึงเดินเช่นนั้น จนกระทั่งในปี 1978 มีการศึกษาครั้งแรกโดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยควีนส์ในแคนาดา พวกเขาเฝ้าสังเกตการเดินของนกพิราบบนลู่วิ่ง ซึ่งมีกล่องใสครอบอยู่ (เพื่อไม่ให้นกพิราบบินหนี) และข้อสรุปประการแรกของพวกเขาเป็นข้อสรุปที่สำคัญมาก นั่นก็คือ จริง ๆ แล้วนกพิราบไม่ได้มีการผงกหัวเลยในขณะที่เดิน และเมื่อนักวิจัยตรวจดูฟุตเทจแบบสโลว์โมชั่น วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของหัว เท้า และลำตัวของนก พวกเขาก็พบว่า การเคลื่อนที่ของนกพิราบแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะ "พุ่ง" และ "พัก"
ในระยะ "พุ่ง" นั้น หัวของนกพิราบจะยื่นไปข้างหน้าประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อเทียบกับลำตัว ตามด้วยระยะ "พัก" ซึ่งเป็นช่วงที่ลำตัวเคลื่อนไปด้านหน้า และเมื่อเทียบกันแล้วจึงดูเหมือนว่าหัวของพวกมันเคลื่อนไปข้างหลัง ทั้งที่แท้จริงแล้วหัวของพวกมันยังอยู่กับที่ พวกมันจะทำจังหวะ "พุ่ง" และ "พัก" ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉลี่ย 5-8 ครั้งต่อวินาทีขณะเดิน มันเร็วพอที่จะให้สมองของเราประมวลผลสัญญาณภาพเป็นการผงกหัวแทน
ลองนึกถึงเวลาที่ถ่ายภาพภาพหนึ่ง เราจะพยายามเกร็งมือให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากสั่นเพียงเล็กน้อย ภาพที่ได้ก็จะพร่ามัว ไม่ชัดเจน ดวงตาของสัตว์ก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน นักวิจัยพบว่า หากสิ่งแวดล้อมรอบตัวนกอยู่นิ่งขณะที่มันเดินอยู่บนลู่วิ่ง หัวของนกจะไม่ผงก นำไปสู่การค้นพบว่า การผลักศีรษะไปข้างหน้าช่วยให้นกพิราบรักษาเสถียรภาพของมุมมองของโลกที่เคลื่อนไหวรอบตัวมันให้คงที่ได้ และการทำหัวให้อยู่นิ่งในช่วงจังหวะ "พัก" ช่วยให้ภาพไม่เบลอจากการเคลื่อนไหว กลยุทธ์นี้มีประโยชน์เพราะช่วยให้พวกมันเห็นอาหารที่กำลังเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการมองเห็นศัตรูด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า หากเราอุ้มนกพิราบและเดินไปข้างหน้าพร้อมกับมัน หัวของมันจะยังคงผงกอยู่ เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวยังคงเคลื่อนไหวแม้ว่าตัวนกจะไม่ได้เคลื่อนไหวก็ตาม
มนุษย์ใช้การเคลื่อนไหวของลูกตาอย่างรวดเร็ว คล้ายการกระตุก เพื่อช่วยในการมองเห็นภาพที่ชัดเจนเมื่อเราเคลื่อนที่ ซึ่งตาของนกพิราบก็สามารถเคลื่อนที่ได้เช่นเดียวกัน แต่นกมีหัวที่เคลื่อนที่ได้มากกว่ามนุษย์ พวกมันจึงพัฒนาไปใช้หัวพุ่งไปข้างหน้าเป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพการมองเห็นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน