Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทักษะการแสวงหาความรู้และการแก้ไขปัญหา

Posted By PlookExplorer1 | 14 พ.ค. 66
7,042 Views

  Favorite

การแสวงหาความรู้ไม่มีวันจบสิ้น วันที่คุณหยุดแสวงหาความรู้คือวันที่คุณหยุดการเติบโต ความรู้ช่วยให้เราไขข้อสงสัยและแก้ปัญหาได้ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะแสวงหาความรู้ ยิ่งในปัจจุบันที่หลายสิ่งในโลกวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ การแสวงหาความรู้และการแก้ไขปัญหาจึงเป็นทักษะจำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน 

 

ทักษะการแก้ไขปัญหา 

ทักษะการแก้ไขปัญหา คือ ความสามารถในการระบุปัญหา ระดมสมอง วิเคราะห์คำตอบ และนำวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไปใช้ ในการทำงานพนักงานที่มีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดีจะเป็นผู้ที่ทำงานได้โดยไม่ต้องให้ผู้อื่นชี้แนะ และเป็นเพื่อนร่วมงานที่ทำงานเป็นทีมได้ อีกทั้งยังเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นในการทำความเข้าใจต้นตอของปัญหา และทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อพิจารณาวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลายก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร 

 

วิธีพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหา

1. เรียนรู้วิธีระบุปัญหา โดยการฝึกตั้งคำถามและอยากรู้เกี่ยวกับกระบวนการและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เราสามารถพัฒนาอะไรได้บ้าง? เราจะทำอย่างไรหากมีทรัพยากรเพิ่มขึ้นหรือลดลง? จงท้าทายตัวเองเพื่อสิ่งที่ท้าทายรอบตัวเราเอง

2. คิดถึงวิธีทางดิจิทัล องค์กรยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการใช้วิธีทางดิจิทัลมาแก้ไขปัญหา ดังนั้นการเรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้กระบวนการทำงานอัตโนมัติหรือการค้นหาวิธีการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ความร่วมมือ การแก้ปัญหาไม่ควรแอบทำ เราต้องใช้ทักษะในการทำงานร่วมกันเพื่อรวบรวมมุมมองที่หลากหลาย กำจัดอคติ และรับฟังทางเลือกในการแก้ปัญหา รวมถึงพยายามประนีประนอมกับวิธีแก้ปัญหาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

4. ปรับตัวและวิธีการให้เหมาะสม ในโลกของการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการปรับตัวและปรับวิธีการให้เหมาะสม เต็มใจเปิดรับวิธีการแก้ปัญหาและพร้อมเปลี่ยนทิศทางเมื่อได้รับข้อมูลใหม่ๆ จากเพื่อนร่วมงาน จงท้าทายตัวเองออกมาจากคอมฟอร์ทโซนไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรส่วนตัวหรือการลองระบบใหม่ๆ ในที่ทำงาน 

5. นำตัวเองไปอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก การแก้ปัญหาที่ดีจำเป็นต้องให้ตัวเองอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ตัวเราไม่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการหาทางออก การไม่รู้วิธีแก้ปัญหาจะทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาและรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ

ทักษะการแสวงหาความรู้และการแก้ไขปัญหา
ภาพ : shutterstock.com

วิธีเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเอง 

การแสวงหาความรู้ไม่มีวันจบสิ้น วันที่คุณหยุดแสวงหาความรู้คือวันที่คุณหยุดการเติบโต ความรู้ช่วยให้เราไขข้อสงสัยและแก้ปัญหาได้ ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาและเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเองเสมอด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

ค้นหาทางโซเชี่ยล

นอกจากการค้นหาความรู้หรือหัวข้อที่สนใจใน Google แล้ว โซเชี่ยลมีเดียที่เราใช้กันเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, TikToks, Reddit, Blockdit ก็เป็นแหล่งข้อมูลความรู้อันหลากหลายเช่นกัน ค้นหาเพจหรือกระทู้เกี่ยวกับหัวข้อที่ตรงกับความสนใจของตนแล้วติดตาม หรือเข้าร่วมกลุ่มเพื่อติดตามความรู้ต่างๆ  อย่างไรก็ตามควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้องและเจ้าของเพจหรือกระทู้นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ 

อ่านจดหมายข่าว

การสมัครรับจดหมายข่าวเป็นอีกหนึ่งวิธีในการติดตามข้อมูลใหม่ๆ ในสาขาที่เราสนใจ เมื่อสมัครรับจดหมายข่าวจะมีข้อมูลและเนื้อหาที่คัดสรรอย่างดีส่งมาให้ ช่วยให้เราสามารถใช้เวลาเรียนรู้ได้มากขึ้นและใช้เวลาค้นหาน้อยลง 

ฟัง Podcast

Podcast เป็นแหล่งให้ความรู้ที่ย่อยข้อมูลจำนวนมากให้เราเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยเราสามารถฟังพอดแคสต์ไปพร้อมๆ กับการทำกิจกรรมอื่นได้ด้วย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็สามารถรับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่สนใจและนำข้อมูลนั้นติดตัวไปได้ทุกที่

เรียนรู้ด้วยวิธี Microlearning

Microlearning คือ การแบ่งหัวข้อที่ซับซ้อนออกเป็นหัวข้อย่อยๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามสะดวกในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมกับตารางเวลาของตัวเอง ซึ่งเหมาะกับยุคที่ชีวิตประจำวันค่อนข้างวุ่นวาย 

พบปะกับผู้เชี่ยวชาญ

หาโอกาสพบปะกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่สนใจ แม้จะไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่อาจเข้าร่วมสัมนาทั้งแบบพบปะตัวหรือแบบออนไลน์ก็ได้ เพื่อได้มีโอกาสพูดคุยหรือซักถามข้อมูลในเรื่องที่เรียนรู้

อธิบายข้อมูลที่เรียนรู้แก่ผู้อื่น 

สมองของคนเราจำเป็นต้องใช้ข้อมูลซ้ำๆ เพื่อพัฒนาความจำ เราจะเรียนรู้ได้เร็วและจดจำได้มากขึ้นหากทำซ้ำบ่อยๆ ดังนั้นให้ลองบอกเล่าหรืออธิบายข้อมูลที่ได้เรียนมาให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานฟัง และจะยิ่งดีหากได้อธิบายข้อมูลนั้นกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำติชม 

อ่านเนื้อหาอย่างหลากหลาย

การอ่านเป็นหนึ่งวิธีสำคัญในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะอ่านวรรณกรรม นิตยสาร บทความ บล็อก การอ่านยังเป็นการเพิ่มพูนคำศัพท์ และช่วยเปิดฟังก์ชั่นการรับรู้ เช่น สมาธิ ความสนใจ ความเข้าใจ และการวิเคราะห์ อีกด้วย

ตั้งคำถาม

อย่าอายที่จะถามในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ เมื่อไม่รู้ในเรื่องใดให้ถามจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ 

 

ทักษะการแสวงหาความรู้และการแก้ไขปัญหา
ภาพ : shutterstock.com

อาชีพที่เหมาะกับผู้ที่มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดี

1. นักบัญชี (Accountant) เป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่ธุรกิจและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดทำงบประมาณ ภาษีอากร การตรวจสอบบัญชี และการจัดการต้นทุน เป็นต้น การช่วยเหลือลูกค้าจากค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนับเป็นความรับผิดชอบหลักของนักบัญชี ดังนั้นต้องมีทักษะในการแก้ไขปัญหาอย่างเชี่ยวชาญเพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้ได้มากที่สุด

2. โปรแกรมเมอร์ (IT Programmer) สาขาการเขียนโปรแกรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการใช้เหตุผล (logic) โปรแกรมเมอร์ต้องทำการวิจัยและวิเคราะห์ปัญหาทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ออกแบบและใช้งานโค้ดคอมพิวเตอร์เพื่อตอบสนองต่อปัญหา ดังนั้นทักษะการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต่ออาชีพนี้อย่างยิ่ง เพราะต้องสร้าง ทดสอบ และแก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์ตามคำสั่งของลูกค้า

3. นักวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analyst) คือผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลและอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และการริเริ่มความเปลี่ยนแปลงในองค์กร นักวิเคราะห์ธุรกิจช่วยกำหนดปัญหาทางธุรกิจผ่านการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลทั้งทางเทคนิคและไม่ใช่ทางเทคนิค จึงต้องมีทักษะที่ดีในการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจในการสื่อสาร เพื่อกระบวนการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจที่ดีที่สุด

4. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงโครงสร้างและข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างแน่นอน ลองสำรวจตัวเองดูว่าเป็นคนที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเป็นนักแก้ปัญหาโดยธรรมชาติหรือไม่ ถ้าใช่ อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาจจะเหมาะกับน้องๆ ก็ได้ 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • PlookExplorer1
  • 1 Followers
  • Follow