Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทักษะมนุษยสัมพันธ์

Posted By PlookExplorer1 | 14 พ.ค. 66
9,615 Views

  Favorite

ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal skills) เป็นทักษะสังคมที่ช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์ สื่อสาร เพื่อทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงความสามารถในการเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ตลอดจนสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแทรกซึมอยู่ในทุกด้านของชีวิต และมีความสำคัญเท่าๆ กันทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน 

สิ่งจำเป็นที่ต้องมีในทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ 

ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการรับรู้และจัดการอารมณ์ของตนเอง รวมถึงอารมณ์ของผู้อื่นด้วย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการเข้าใจและตอบสนองต่อผู้คนในลักษณะที่สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก ในสถานที่ทำงานที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการความเครียดและรักษาขวัญกำลังใจ

 

ตั้งใจฟังอย่างกระตือรือร้น (Active Listening)

การตั้งใจฟัง คือ การฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูดโดยไม่ปล่อยให้อคติมาตัดสินหรือข้อสันนิษฐานของตัวเราเองมาขัดขวาง ซึ่งนั่นเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจมุมมองของผู้อื่น

 

แก้ปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution)

การแก้ปัญหาความขัดแย้ง คือ ความสามารถในการระบุและจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีสร้างสรรค์ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงบวก การแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้จำเป็นต้องเข้าใจต้นตอของปัญหา ตลอดจนมุมมองที่แตกต่างกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขข้อขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพต้องมีทักษะการสื่อสารและทักษะการแก้ปัญหาที่ดี 

 

การเอาใจใส่ (Empathy)

ในการทำงาน ความเห็นอกเห็นใจอาจหมายถึงการเข้าใจสิ่งที่บางคนกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการทำงานหรือปัญหาส่วนตัว นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงความอ่อนไหวต่อความต้องการของผู้อื่น ทั้งในแง่ความต้องการในการทำงานและความชอบส่วนตัว การเอาใจใส่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนและเข้าอกเข้าใจกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งพนักงานและนายจ้าง 

 

ความสามารถทางวัฒนธรรม (Cultural competence)

ความสามารถทางวัฒนธรรม คือ ความสามารถในการเข้าใจและทำงานร่วมผู้คนที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตเมื่อต้องเข้าทำงานในสถานที่ทำงานที่หลากหลาย ทักษะนี้จึงจำเป็นสำหรับการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างทีมที่มีหลายแง่มุม และผู้ปฏิบัติงานที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน 

ทักษะมนุษยสัมพันธ์
ภาพ : shutterstock.com

เทคนิคพัฒนาทักษะมนุษยสัมพันธ์

1. ปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก ฝึกตัวเองให้คิดบวกด้วยการเตือนตัวเองทุกวันถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและการทำงาน หากรู้สึกว้าวุ่นเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ให้เก็บความรู้สึกเหล่านั้นไว้จนกว่าจะเลิกงาน หากเครียดเกี่ยวกับปัญหาการทำงาน ให้มองหาข้อดีในสถานการณ์นั้นและพยายามต่อยอดจากสิ่งนั้น

2. ควบคุมอารมณ์ สถานที่ทำงานไม่ใช่สถานที่ที่จะใช้อารมณ์ได้อย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะหงุดหงิดมากแค่ไหน หดหู่อย่างไร หรือมีความสุขอย่างเหลือล้น ให้หายใจเข้าลึกๆ และลดอารมณ์ลง จงแสดงออกอย่างสงบและอดทนเสมอ 

3. ยอมรับความรู้ความชำนาญของผู้อื่น วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความไว้วางใจในที่ทำงานคือการแสดงให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าเราชื่นชมในความเชี่ยวชาญของพวกเขา และขอความช่วยเหลือจากพวกเขาในการทำโครงการต่างๆ และให้เครดิตแก่พวกเขาอย่างเหมาะสม

4. แสดงความสนใจในเพื่อนร่วมงาน เราต้องทำงานอยู่กับเพื่อร่วมงาน 8 ชั่วโมงต่อวันในทุกๆ วัน นั่นเป็นเหตุผลพอที่เราจะได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ดังนั้นจงใส่ใจทำความรู้จักกับสิ่งที่เพื่อนร่วมงานให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพวกเขาได้ 

5. ค้นหาข้อดีหนึ่งข้อในตัวเพื่อนร่วมงานทุกคน ไม่ใช่พวกเราทุกคนที่จะชอบทุกคนในที่ทำงาน แต่เราไม่สามารถปล่อยให้ความชอบส่วนตัวมาเป็นอุปสรรคขัดขวางประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานได้ หากบุคลิกของเพื่อนร่วมงานขัดแย้งกับบุคลิกของตัวเรา วิธีที่ดีสุดในการจัดการกับสถานการณ์คือค้นหาข้อดีอย่างน้อยหนึ่งข้อในตัวคนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเป็นลักษณะที่เป็นมืออาชีพ

6. ฝึกฟังอย่างกระตือรือร้น ทำได้โดยขณะที่ฟังผู้อื่นพูดนั้นให้สบตากับผู้พูด ผงกศีรษะ และพูดซ้ำในสิ่งที่พวกพูดด้วยคำพูดของตัวเราเอง ผู้พูดจะรู้สึกว่าได้รับความเคารพ และเราน่าจะจำบทสนทนาได้ง่ายขึ้นในภายหลัง 

7. ฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มองให้รอบด้านด้วยการลองจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่น วิธีนี้จะช่วยให้เราพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และยังเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง 

8. รักษาความสัมพันธ์ ติดต่อกับเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยและอดีตเพื่อนร่วมงานไว้ ปัจจุบันโซเชี่ยลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ย่นระยะความห่างไกล ตั้งกรุ๊ปรวมตัววิดีโอคอลคุยกันบ้างเป็นครั้งคราว สิ่งนี้จะทำให้เห็นว่าเรายังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ และเป็นตัวช่วยให้ก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ 

ทักษะมนุษยสัมพันธ์
ภาพ : shutterstock.com

อาชีพที่เหมาะสมกับทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์

แทบไม่มีอาชีพใดเลยที่ไม่ต้องใช้ทักษะมนุษยสัมพันธ์ แม้จะมีงานบางประเภทที่สามารถทำได้อย่างอิสระ เช่น นักสถิติ นักเขียน นักพัฒนาซอฟแวร์ คนขับรถบรรทุก แต่ถึงอย่างนั้นคนเราทุกคนย่อมต้องมีการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ดังนั้นทักษะมนุษยสัมพันธ์จึงจำเป็นและเหมาะสมกับแทบทุกอาชีพ เช่น 

แพทย์และผู้ให้บริการสาธารณสุข

อาชีพทางการแพทย์นับว่าเป็นงานบริการประเภทหนึ่ง งานส่วนใหญ่ของบุคลากรทางการแพทย์คือการเผชิญหน้ากับผู้ป่วยที่ถือว่าเป็นผู้รับบริการหรือลูกค้า ผู้ป่วยจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและอาการป่วยของตัวเอง จึงต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีปฏิสัมพันธ์อันนุ่มนวล การรักษาพยาบาลที่ดี เทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอย่างเป็นมิตร ดังนั้นมีหลายทักษะที่จำเป็นสำหรับใช้กับบทบาทในการบริการลูกค้า เช่น ทัศนคติ การสื่อสาร ความเอาใจใส่ ความอดทน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญสำหรับทักษะมนุษยสัมพันธ์นั่นเอง

ทักษะมนุษยสัมพันธ์สำหรับอาชีพแพทย์และบริการสาธารณสุข

1. สร้างสัมพันธ์อันดีโดยเร็ว คือการทำให้ผู้ป่วยสบายใจและรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยด้วย ควรเรียนรู้วิธีตั้งคำถามปลายเปิด และการสะท้อนสิ่งที่ผู้ป่วยพูดเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าผู้ให้บริการด้านการแพทย์กำลังจัดการกับข้อกังวลที่แท้จริงของผู้ป่วย 

2. ฟังและเข้าใจมุมมองของผู้ป่วย การรับฟังผู้ป่วยมีความสำคัญพอๆ กับการตรวจบันทึกสัญญาณชีพหรือการประเมินทางกายภาพอย่างถูกต้อง ดังนั้นต้องทำให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าได้รับการรับฟัง โดยฝึกฟังอย่างกระตือรือร้น ฟังอย่างตั้งใจและสนใจขณะที่ผู้ป่วยกำลังพูด และตอบกลับด้วยคำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยเห็นว่ากำลังฟังอยู่ และพยายามอธิบายความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ป่วย 

3. แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ ถามไถ่ถึงความรู้สึกสบายหรือไม่สบายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เช่น เจ็บปวดหรือหวาดกลัวหรือไม่ แสดงความเข้าใจและอธิบายให้ผู้ป่วยรับทราบว่าความรู้สึกไม่สบายนั้นจะสิ้นสุดเมื่อใดอย่างไร และต้องระวังการใช้ถ้อยคำด้วย 

4. ร่วมมือกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการออกคำสั่งและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าด้อยค่า อธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าพวกเขาสามารถร่วมมือกับแพทย์ได้อย่างไรด้วยคำง่ายๆ ที่ผู้ป่วยจะเข้าใจได้ เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่น

 

ครู

ครูต้องมีทักษะที่หลากหลาย นอกจากทักษะทางวิชาการแล้วยังรวมถึงการสื่อสาร การเอาใจใส่ แรงจูงใจในเชิงบวก การใช้ภาษากายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีอารมณ์ขันด้วย 

ทักษะมนุษยสัมพันธ์สำหรับอาชีพครู

1. การสื่อสาร เป็นวิธีที่ครูแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดกับนักเรียน นักเรียนแต่ละคนมีระดับและพลังความเข้าใจแตกต่างกัน ดังนั้นครูจำเป็นต้องสื่อสารกับนักเรียนตามระดับความเข้าใจ 

2. ความเห็นอกเห็นใจ ครูต้องแสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจเอาใจใส่ต่อนักเรียน โดยสวมบทบาทเป็นนักเรียนและมองปัญหาผ่านสายตาของพวกเขา จะช่วยให้เข้าใจปัญหาและหาทางออกได้ 

3. ภาษากายเชิงบวก ภาษากายและท่าทางของครูคือสิ่งดึงดูดนักเรียนเข้าสู่การสนทนา และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรักษาทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

4. แรงจูงใจเชิงบวก เนื่องจากไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะพร้อมสำหรับทุกวิชา บางครั้งจำเป็นต้องประยุกต์ใช้วิชาที่ไม่ค่อยนิยมผ่านด้านที่นักเรียนสนใจ สิ่งนี้จะช่วยให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียนวิชานั้นๆ 

5. อารมณ์ขัน การรักษาความสนใจของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นอารมณ์ขันที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจความต้องการเรียนรู้ และรักษาความสนใจนั้นไว้ได้

6. ตั้งใจฟัง การฟังเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมเป็นมิตรมากขึ้น ลดความเข้าใจผิด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • PlookExplorer1
  • 1 Followers
  • Follow