Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทักษะการจัดการกับอารมณ์

Posted By PlookExplorer1 | 14 พ.ค. 66
9,281 Views

  Favorite

อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของคนเราเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง อารมณ์พื้นฐานมี 6 อารมณ์ด้วยกัน ได้แก่

สุขใจ เป็นอารมณ์ที่น่าพึงพอใจ โดยความสุขมักจะแสดงออกมาด้วยการยิ้มหรือน้ำเสียงที่สดใส

โศกเศร้า เป็นอารมณ์ที่เรามักประสบกันเป็นครั้งคราว โดยแสดงออกมาด้วยการร้องไห้

กลัว อารมณ์กลัวสามารถเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ กระตุ้นการตอบสนองของประสาทอัตโนมัติ (fight-or-flight) ได้ 

โกรธ อารมณ์โกรธสามารถแสดงออกได้ชัดเจนทางสีหน้าและน้ำเสียง เช่น ขมวดคิ้ว เสียงดัง 

ตื่นเต้น อาจเป็นอารมณ์ที่น่ายินดีหรือไม่น่ายินดีก็ได้ และสามารถกระตุ้นการตอบสนองของประสาทอัตโนมัติ (fight-or-flight) ได้ด้วย

ขยะแขยง อารมณ์นี้เกิดขึ้นได้จากการเห็นหรือได้กลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือสุขอนามัยที่ไม่ดี

 

ทักษะการจัดการกับอารมณ์เป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เช่นเดียวกับทักษะการรับรู้อารมณ์ตนเอง โดยเป็นความสามารถในการควบคุมหรือจัดการอารมณ์ของตนเอง และแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม

ทักษะการจัดการกับอารมณ์
ภาพ : shutterstock.com

การพัฒนาทักษะการจัดการกับอารมณ์

1. เลือกประโยคเวทมนต์ที่จะทำให้อารมณ์ของเราสงบลงได้ เช่น ฉันใจเย็นลงแล้ว จิตใจของฉันจงสงบลง เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกหงุดหงิด ให้ท่องประโยคเวทมนต์นี้ออกมา แล้วจิตใจของเราก็จะสงบขึ้น

2. พูดคุยกับเพื่อน หาเพื่อนกลุ่มที่เราสามารถแบ่งปันความรู้สึกได้ พูดคุยกับพวกเขาเพื่อกำจัดความเครียดออกไปบ้าง อาจทำให้รู้สึกดีขึ้นได้

3. รู้จักเห็นอกเห็นใจตนเอง หลายครั้งที่เราลืมให้ความสำคัญกับความรู้สึกตนเอง ดังนั้น ลองหันกลับมาดูแลความรู้สึกตนเอง เห็นอกเห็นใจตนเองก่อน แล้วเราก็จะรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นเช่นกัน

4. ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นการดูแลใส่ใจร่างกายของเราเอง เมื่อร่างกายดีแล้วจิตใจก็จะเบิกบานตามมา

5. เขียนบันทึก เขียนบันทึกลงในสมุดบันทึก ที่นี้จะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับความคิดและความรู้สึกของเรา

6. ทำสมาธิและฝึกสติ เราสามารถฝึกสมาธิได้ด้วยการรู้ลมหายใจ และฝึกสติโดยรู้ความคิดความรู้สึกตนเอง

7. หานักบำบัด ความโกรธเป็นสัญญาณของความวิตกกังวล การพูดคุยกับนักบำบัดเพื่อแก้ไขปัญหาเดิม ๆ ที่เป็นต้นเหตุของความวิตกกังวลจะช่วยให้อารมณ์ของเราดีขึ้นได้

8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับให้เพียงพอประมาณ 8 ชั่วโมง เป็นสิ่งจำเป็น หากนอนหลับไม่เพียงพอก็อาจทำให้เรามีอาการหงุดหงิดได้ง่ายขึ้น

9. ฝึกสร้างอารมณ์เชิงบวก ตัวอย่างของอารมณ์เชิงบวก เช่น ความยินดี ความพอใจ ความสนุก ความสุข อารมณ์ขัน ความกระตือรือร้น การฝึกสร้างอารมณ์เชิงบวกทำได้โดยฝึกสื่อสารกับคนอื่นในแง่บวก อย่างการพูดจาดี ๆ ต่อกัน เป็นต้น หรือพยายามตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นทำให้เราอารมณ์เสียด้วยอารมณ์เชิงบวก

 

อาชีพที่เหมาะสมกับทักษะการจัดการกับอารมณ์

ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต

เป็นอาชีพที่ให้การบำบัดและช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยมีส่วนร่วมจัดการปัญหาเกี่ยวกับความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความเครียด ปัญหาความสัมพันธ์ การบาดเจ็บ ความเศร้าโศก และอาการทางจิตใจอื่น ๆ และด้วยงานที่ต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายของผู้มาใช้บริการ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตจึงจำเป็นต้องจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดี และพร้อมที่จะส่งความคิดเชิงบวกออกไปให้กับผู้มาใช้บริการ

 

นักสังคมสงเคราะห์

อาชีพนักสังคมสงเคราะห์เป็นอาชีพที่ต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสูง โดยหัวใจหลักของการทำงานสังคมสงเคราะห์ คือ “การทำงานร่วมกับมนุษย์” เพื่อสนับสนุนให้เขาได้รับสวัสดิการสังคมในสิ่งที่เขาพึงมี พึงได้ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือ ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ จุดแข็งในตนเอง การที่ต้องทำงานร่วมกับมนุษย์เช่นนี้ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้กับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขอรับความช่วยเหลือ ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์จึงต้องมีการจัดการกับอารมณ์ที่ดี เพื่อให้การทำงานนั้นผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • PlookExplorer1
  • 1 Followers
  • Follow