Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

Posted By PlookExplorer1 | 14 พ.ค. 66
2,341 Views

  Favorite

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นการตั้งคำถาม และพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผล คิดเชื่อมโยงประเด็นที่เกี่ยวข้องกันได้ โดยการคิดวิพากษ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเผชิญสถานการณ์แปลก ๆ ที่ไม่คาดหวัง การพบปัญหาที่ยาก ๆ เกิดความสงสัยหรือเกิดข้อโต้แย้ง

    กระบวนการให้เหตุผลเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการคิดเชิงวิพากษ์ โดยประเภทของการให้เหตุผลมี 2 รูปแบบ ได้แก่

การให้เหตุผลแบบอุปนัย เป็นการให้เหตุผลโดยอาศัยข้อสังเกตหรือจากการทดลองหลาย ๆ ตัวอย่างมาสรุปเป็นเหตุผลในการอธิบาย หรือเป็นการให้เหตุผลโดยยึดหลักความจริงจากส่วนย่อยไปสู่ความจริงที่เป็นส่วนรวม

การให้เหตุผลแบบนิรนัย เป็นการนำความรู้พื้นฐาน ซึ่งอาจเป็นความเชื่อ ข้อตกลง กฎ บทนิยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้มาก่อน และยอมรับว่าเป็นจริง เพื่อมาหาเหตุผล และนำไปสู่ข้อสรุป

การคิดเชิงวิพากษ์
ภาพ : shutterstock.com

การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

1. รู้จักตนเองให้มากขึ้น การตระหนักรู้ในตนเอง พิจารณากระบวนการคิด ค่านิยม ศีลธรรม และความเชื่ออื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการคิด รู้ว่าจุดแข็ง จุดอ่อน และอคติของตนคืออะไร จะช่วยให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าทำไมเราจึงเข้าหาสถานการณ์ต่าง ๆ จากมุมมองดังกล่าว

2. จัดการกับอคติ

อคติของเรามีผลต่อการคิดแก้ปัญหาและการตัดสินใจ และเรามักจะคิดจากมุมมองของตนเองเพื่อจัดการปัญหา แต่หากลองคิดจากมุมมองของคนอื่นบ้าง จะช่วยให้เห็นภาพสถานการณ์โดยรวมที่ชัดเจนขึ้น การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พิจารณามุมมองต่าง ๆ อาจทำให้เราพบวิธีแก้ปัญหาที่เราไม่เคยพิจารณามาก่อน

3. พัฒนาวิสัยทัศน์

พิจารณาว่าผู้อื่นอาจรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์หรือการตัดสินใจของเรา คาดการณ์ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของสถานการณ์และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นทั้งในด้านบวกและลบ การคาดการณ์ในอนาคตช่วยให้คุณสามารถสร้างแผนการทำงานที่เหมาะสมและมีผลตอบรับที่ดีกับผู้อื่นได้ด้วย

4. ฝึกการฟังอย่างกระตือรือร้น 

การฟังอย่างกระตือรือร้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการคิดเชิงวิพากษ์ ดังนั้น ให้ตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิขณะที่มีการพูดคุยกัน พยายามทำความเข้าใจในมุมมองของผู้อื่น หากเข้าใจถึงความต้องการของอีกฝ่ายอย่างถ่องแท้ ก็จะช่วยให้สามารถตอบสนองออกไปในทางบวกได้

5. ฝึกตั้งคำถาม

หากมีสิ่งที่ไม่แน่ใจเกิดขึ้น ให้ตั้งคำถามเสมอ เพื่อเปิดโอกาสในการสำรวจและพิจารณาเหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ เริ่มต้นด้วยสิ่งที่รู้และมั่นใจว่ารายละเอียดนั้นถูกต้อง ตรวจสอบว่าสิ่งที่รู้นั้นถูกต้องหรือไม่ หรือตั้งคำถามที่เปิดโอกาสในการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและส่งเสริมให้คิดเชิงวิพากษ์ได้มากขึ้น

6. ประเมินจากสิ่งที่มีอยู่

ใช้ประสบการณ์และข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจในปัจจุบัน โดยจะต้องคัดกรองข้อมูลที่มีความสำคัญและเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่มีอยู่

 

อาชีพที่เหมาะสมกับทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

ทนายความ

ทนายความคือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ว่าความ* แก้ต่างคู่ความในคดี นับได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการยุติธรรม อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความคิดเชิงวิพากษ์ เนื่องจากต้องศึกษาคดีของลูกความผ่านการสังเกตและวิเคราะห์ ทนายความควรมีการวิเคราะห์เพื่อชนะคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ไม่ธรรมดาหรือดูเหมือนเป็นไปไม่ได้สำหรับคนส่วนใหญ่ 

 

นักวิทยาศาสตร์

อาชีพนักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่มีความสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์กายภาพ เป็นต้น งานของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการศึกษาและวิจัย เพื่อค้นหาความรู้ใหม่ ๆ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยผู้ที่เลือกอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ต้องผ่านการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก สิ่งนี้ช่วยเพิ่มการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ โดยพื้นฐานแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะทดสอบสมมติฐานด้วยการสร้างวิธีการที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์อยู่แล้ว วิธีการที่พวกเขาใช้เป็นพื้นฐานของการคิดเชิงวิพากษ์นั่นเอง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • PlookExplorer1
  • 1 Followers
  • Follow