Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทักษะภาวะผู้นำ

Posted By PlookExplorer1 | 14 พ.ค. 66
2,023 Views

  Favorite

ในโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง องค์กรต่างๆ พยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด พวกเขาต้องการคนเก่งมาทำงาน และหัวหน้าหรือผู้บริหารจะต้องไม่เป็นเพียงแค่หัวหน้าหรือผู้บริหารอีกต่อไป แต่ยังต้องปรับตัวเพื่อเป็นผู้นำที่ดีอีกด้วย ผู้นำนั้นแตกต่างจากหัวหน้าหรือผู้บริหาร เพราะต้องเป็นผู้ที่สร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน โดยต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีวิธีทำให้ทีมบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังต้องมีความสามารถอื่น ๆ อีก

สิ่งที่จำเป็นต้องมีในทักษะภาวะผู้นำ

1. ความเอาใจใส่

ความเอาใจใส่เป็นความสามารถในการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถตรวจสอบสถานการณ์จากมุมมองของผู้อื่น และเข้าใจความคิดของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำควรมี

 

2. การสื่อสาร

การสื่อสารระหว่างผู้นำกับผู้ตามเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้งานประสบความสำเร็จ ทักษะนี้ช่วยให้ผู้นำสามารถถ่ายทอดความคิด วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ ไปสู่ผู้ตาม ทำให้มองเห็นเป้าหมายร่วมกันได้ นอกจากนี้ทักษะการฟังยังช่วยให้ผู้นำได้รับข้อมูลต่าง ๆ จากผู้ตามและเข้าใจพวกเขาได้มากขึ้นด้วย

 

3. การตัดสินใจ

ผู้นำคือผู้มีอำนาจตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ผู้นำจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล และทำการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร ดังนั้น ทักษะการตัดสินใจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ที่จะทำให้ผู้นำนำพาองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง

 

4. ความยืดหยุ่น

เนื่องจากสถานการณ์บางอย่างอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ผู้นำจึงต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดคิด

 

5. การมอบหมายงาน

การมอบหมายงานอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้นำจึงต้องมีความสามารถในการมอบหมายงานอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย

 

การพัฒนาทักษะภาวะผู้นำ

 

1. ขยายความรับผิดชอบให้กว้างขึ้น

เป็นเรื่องธรรมดาหากผู้นำจะมีภาระหน้าที่มากมายที่ต้องรับผิดชอบ และการขยายความรับผิดชอบให้กว้างขึ้นก็เป็นวิธีที่ดีในการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ โดยทำในสิ่งที่เกินกว่ารายละเอียดงานที่ได้รับมอบหมายมา เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ยิ่งเรียนรู้มากขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น บทบาทความเป็นผู้นำก็จะยิ่งชัดเจนขึ้น 

 

2. คิดอย่างมีวิจารณญาณ

ฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณด้วยการคาดการณ์ปัญหาหรือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไตร่ตรองอย่างรอบคอบโดยมีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างดี ตระหนักถึงโอกาสที่อาจเกิดขึ้นและใช้โอกาสเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทและสมาชิกในทีม

 

3. ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ

การฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเป็นการตั้งใจฟังที่ผู้อื่นพูดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสบตา การใช้ภาษากายด้วย ผู้นำที่ดีควรมีทักษะการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นฟังคำแนะนำ แนวคิด หรือคำติชม และสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม 

 

4. สร้างแรงบันดาลใจ

หากพนักงานสูญเสียแรงจูงใจในการทำงาน ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น เบื่อกับการทำงานซ้ำ ๆ เผชิญกับความยากลำบาก ผู้นำควรมีอิทธิพลต่อผู้คนเหล่านั้นในเชิงบวก โดยสามารถกระตุ้นหรือสร้างแรงบันดาลใจ เช่น การให้รางวัล ให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำ เพื่อให้พนักงานทำหรือมีส่วนร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้นำต้องการได้ 

 

5. มีระเบียบวินัย

แม้จะเป็นผู้นำแต่ก็จำเป็นต้องฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัย เพื่อให้สามารถดำเนินงานไปสู่เป้าหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวินัยในการทำงานเรื่องเวลา การรักษาเวลานัดหมาย การรักษาเวลาการประชุม เป็นต้น 

 

6. เรียนรู้ตลอดเวลา

แม้จะอยู่ในตำแหน่งผู้นำแล้ว แต่เมื่อสิ่งต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปิดใจเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำที่ดี เพราะการเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

7. รู้วิธีการมอบหมายงาน

ผู้นำควรรู้จักสมาชิกในทีมแต่ละคนอย่างดี เพื่อให้สามารถเลือกที่จะมอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถของสมาชิกแต่ละคนได้ ให้อำนาจพวกเขาในการทำสิ่งต่าง ๆ พวกเขาจะรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้นและมีโอกาสมากขึ้นในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้นำต้องแน่ใจว่าได้มอบหมายงานให้กับสมาชิกที่จะทำงานได้สำเร็จลุล่วง

 

8. จัดการความขัดแย้งได้

ผู้นำต้องรู้วิธีแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงาน ทีม หรือองค์กร โดยเริ่มต้นจากการรับฟังเรื่องราวจากทุกฝ่ายให้ครบ ก่อนที่จะหาข้อสรุปและดำเนินการใด ๆ ต่อไป ทั้งนี้การเพิกเฉยมิได้ช่วยให้ความขัดแย้งเหล่านั้นหายไป แต่ให้จัดการกับปัญหาด้วยการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นการส่วนตัว

 

9. ให้อำนาจแก่สมาชิกในทีม

ไม่มีใครเก่งที่สุดในทุกอย่าง ดังนั้น ผู้นำจึงควรเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงคุณค่าของสมาชิกในทีม เรียนรู้และสนับสนุนพวกเขา ให้ทำสิ่งต่าง ๆ การมอบหมายงานให้ผู้อื่น ช่วยให้ผู้นำมีอิสระในการทำสิ่งอื่น ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มพลังให้กับคนอื่น ๆ ในทีมด้วย

ทักษะภาวะผู้นำ
ภาพ : shutterstock.com

อาชีพที่เหมาะสมกับทักษะภาวะผู้นำ

นักบริหาร

อาชีพนักบริหารจำเป็นต้องมีคุณสมบัติหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการมีวิสัยทัศน์ กล้าตัดสินใจ มีความรอบรู้ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงการมีทักษะภาวะผู้นำด้วย โดยนักบริหารจะต้องควบคุมคนจำนวนไม่น้อยให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ภาวะผู้นำของนักบริหารจึงต้องสามารถจูงใจคนให้ร่วมมือทำงานไปด้วยกันได้อย่างเต็มใจ เป็นผู้นำในการสั่งการต่าง ๆ และจัดการความขัดแย้งระหว่างบุคคลได้ นักบริหารที่เป็นผู้นำที่ดียังต้องรับฟังและหาแนวทางการทำงานที่เหมาะกับทีมอีกด้วย

 

เชฟ

เชฟคือผู้นำเมื่ออยู่ในครัว เชฟจำเป็นต้องมีทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการทำอาหาร การจัดการเวลา การสื่อสาร รวมถึงทักษะการเป็นผู้นำซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นและสำคัญ สิ่งที่เชฟต้องทำเพื่อพัฒนาไปให้ถึงความเป็นผู้นำที่ดีมีดังนี้

1. ทำความรู้จักกับพนักงาน 

ทำความรู้จักในที่นี้ไม่เพียงแต่รู้จักชื่อเท่านั้น แต่ยังต้องทำความรู้จักกับตัวตนของพนักงานแต่ละคนด้วย ยิ่งเข้าใจพนักงานมากเท่าไร ก็จะทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นเท่านั้น

2. ฟังให้มากขึ้น

ทักษะการฟังที่ดีเป็นทักษะที่ทุกอาชีพควรมี ยิ่งฟังมากเราก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้มากขึ้น และยิ่งเรียนรู้ได้มากขึ้นก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วย 

3. เรียนรู้ในทุก ๆ วัน

การเรียนรู้ทำให้ทุกคนพัฒนาไปข้างหน้า แม้แต่เชฟซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในครัวก็ยังต้องเรียนรู้เพื่อให้สามารถทำงานออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ และกลายเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

4. ลงทุนกับการสร้างทีม

การสร้างความผูกพันของคนในทีมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ ทีมจะทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น และยิ่งทำให้พวกเขาสามารถแบ่งปันแนวคิดและความรู้แก่กันได้ อาจทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา 

5. พูดกันมากขึ้น

ไม่เพียงแต่การฟังที่จะเป็นประโยชน์และทำให้กลายเป็นผู้นำที่ดีได้ แต่การพูดในสิ่งที่ควรพูดก็ยังนำไปสู่ทีมและการเป็นผู้นำที่ดีด้วย การแบ่งปันวิสัยทัศน์ ความรู้ เป้าหมาย ของธุรกิจ กับพนักงาน จะทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น และในบางครั้งยังอาจได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากพนักงานอีกด้วย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • PlookExplorer1
  • 1 Followers
  • Follow