Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

10 ศัพท์ทางกฎหมาย คำนี้แปลว่าอะไร ?

Posted By Plook Magazine | 11 พ.ค. 66
10,158 Views

  Favorite

แม้จะไม่ใช่คนที่เรียนคณะนิติศาสตร์ หรืออยู่ในแวดวงกฎหมายทนายความ แต่หลายครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ‘ศัพท์ทางกฎหมาย’ คำนี้แปลว่าอะไรนะ เช่น เหตุสุดวิสัย, ลาภมิควรได้ หรือป้องกันเกินกว่าเหตุ ฯลฯ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นความรู้ทั่วไปแล้ว การรู้คำศัพท์ทางกฎหมายก็เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จนสามารถนำไปใช้ได้ถูกตามสถานการณ์ 

 

trueplookpanya


1. “ลาภมิควรได้”

หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ บุคคลที่ได้ทรัพย์มานั้นมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา

 

2. “เหตุสุดวิสัย” 

หมายถึง เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะ
เช่นนั้น

 

*หมายเหตุ เหตุสุดวิสัยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “ภาวะที่พ้นความสามารถที่ใครจะป้องกันได้” ในทางกฎหมายนั้นก็ได้ให้ความหมายที่ใกล้เคียงกัน 

 

3. “ป้องกันเกินกว่าเหตุ” 

หมายถึง การป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่การกระทำของผู้ป้องกันนั้นกลับร้ายแรงยิ่งกว่าภยันตรายที่ต้องการจะป้องกัน 

 

4. “ป้องกันสมควรแก่เหตุ”

หมายถึง การกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

 

5. “หมายจับ” 

หมายถึง หนังสือที่ใช้จับผู้ต้องหาที่มีหลักฐานมัดตัว ที่ศาลอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครอง จับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กระทำความผิด หรือเชื่อว่าได้กระทำความผิด ผู้ที่จะออกหมายจับได้นั้นคือ ศาลเพียงผู้เดียว 

 

6. “หมายเรียก” 

หมายถึง จดหมายหรือหนังสือเชิญที่เจ้าหน้าที่ออกมาถึงพยาน ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อเรียกให้ไปพบ ไปให้ถ้อยคำ หรือขอเอกสาร ผู้ที่จะออกหมายเรียกได้นั้นคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือศาลแล้วแต่กรณี  

 

7. “ร้องสอด” 

หมายถึง การเข้ามาเป็นคู่ความในคดีภายหลัง จากที่เสนอคดีต่อศาลไปแล้ว  

 

8. “กักกัน” 

หมายถึง การควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ 

 

9. “คำมั่นว่าจะให้” 

หมายถึง เมื่อคำมั่นว่าจะให้นั้น ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คำมั่นดังกล่าวก็จะมีผลบังคับกันได้ ผู้รับคำมั่นจะเรียกให้ผู้ให้คำมั่นส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ แต่หากคำมั่นนั้นไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับคำมั่นจะไม่สามารถเรียกให้ผู้ให้คำมั่นกระทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ได้ 

 

10. “ต่อหน้าธารกำนัล” 

หมายถึง การกระทำในที่ชุมชน หรือที่ที่มีผู้คนอยู่จำนวนมาก 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow