Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม ฟ้องได้หรือเปล่า

Posted By Plook Magazine | 27 มิ.ย. 66
5,666 Views

  Favorite

การจอดรถขวางทางเข้าออก หรือจอดรถหน้าบ้านคนอื่น นั้นผิดกฎหมายหรือเปล่า ? และถ้าเจ้าบ้านที่เดือดร้อนอยากจะฟ้องต้องทำอย่างไรบ้าง และมีกฎหมายอะไรที่ควรรู้อีกเกี่ยวกับเรื่องการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น อย่างเจ้าบ้านที่เดือดร้อนสามารถเคลื่อนย้ายรถได้ด้วยตัวเอง !

 

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม ?

การจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น หรือขวางทางเข้าออก ถือเป็นความผิดฐานก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้เสียหาย โดยเจ้าของบ้านที่ถูกรถจอดขวางหน้าบ้านสามารถแจ้งความเอาผิดข้อกฎหมายอาญามาตรา 397 ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

การจอดรถหน้าบ้านคนอื่น นอกจากจะผิดกฎหมายอาญามาตรา 397 แล้ว ยังผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชนหรือถนนสาธารณะ รวมถึงห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ

1. ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านช้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง

2. บนทางเท้า

3. บนสะพานหรือในอุโมงค์

4. ในทางร่วมทางแยก

5. ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ

6. ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ

7. ในเขตปลอดภัย

8. ในลักษณะกีดขวางการจราจร

 

 

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายตามนี้ !

การจอดรถขวางทางเข้าออก หรือจอดรถหน้าบ้านคนอื่น ถือเป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 397 วรรคสอง

 

เพื่อนบ้านชอบจอดรถหน้าบ้าน ฟ้องได้ไหม ?

ผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกจอดรถขวางหน้าบ้าน สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ รวมทั้งยังฟ้องเรียกค่าเสียหายละเมิดในทางแพ่งได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งและยกรถได้

 

ทั้งนี้หากผู้ได้รับความเสียหาย มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตน หรือของบุคคลภายนอกจากอันตรายที่มีความฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐไม่ได้ สามารถเคลื่อนย้ายรถได้ด้วยตัวเอง แม้จะเป็นการกระทำให้รถบุบสลายหรือเสียหาย ก็ทำได้โดยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ เพราะเป็นข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 450

 

 

แหล่งข้อมูล

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 450

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow