Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ล่าสุด คุ้มครองผู้ค้ำเรื่องอะไรบ้าง

Posted By Plook Magazine | 13 มิ.ย. 66
4,185 Views

  Favorite

"กฎหมายค้ำประกัน" ฉบับใหม่ล่าสุด เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันมากยิ่งขึ้น  ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายนี้ หากลูกหนี้เกิดผิดนัดชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันอาจจะต้องรับผิดชอบในภาระหนี้สินแทนลูกหนี้ทั้งหมด เช่น ส่วนที่เป็นเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับต่าง ๆ แต่กฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนแปลงและคุ้มครองผู้ค้ำประกันมากขึ้น โดยจะมีเรื่องอะไรบ้าง มาดูกันเลย

 

กฎหมายค้ำประกันฉบับเก่า = ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในภาระหนี้สินแทนลูกหนี้ ไม่ว่าจะเงินต้นหรือดอกเบี้ยที่เกิดจากการผิดนัด 

 

กฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่ ฉบับที่ 20 มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 มาดูกันว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และผู้ค้ำประกันจะได้รับการคุ้มครองในเรื่องอะไรบ้าง

 

 

– การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข (เช่น ความเสียหายที่เกิดจากการค้ำประกันบุคคล) ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว่ให้ชัดเจน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น (จะต้องระบุว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในวงเงินไม่เกินเท่าไหร่)

 

– กำหนดให้ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะ (สัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วมไม่มีผลใช้บังคับ ผลคือเจ้าหนี้จะต้องไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน จนกระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วจึงค่อยมาเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน)

 

– กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันเป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันเกินสมควร ให้ข้อตกลงนั้นมีผลเป็นโมฆะ (จะกำหนดสัญญานอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ทำให้ผู้ค้ำประกันเสียเปรียบไม่ได้)

 

– เพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าหนี้ให้ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัด และผลกรณีเจ้าหนี้มิได้บอกกล่าว และกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้ (ผลคือเวลาลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน เพื่อที่ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด โดยที่ผู้ค้ำประกันไปเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ภายหลัง หากไม่แจ้ง ผู้ค้ำไม่ต้องรับผิดชอบ)

 

– ให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ (ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ก็มีผลถึงผู้ค้ำประกัน แต่ถ้าเป็นผลเสียแก่ผู้ค้ำจะใช้บังคับไม่ได้ )

 

– กำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอน หากเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ และห้ามกำหนดข้อตกลงไว้ล่วงหน้าให้ผู้ค้ำประกันยินยอมที่จะเป็นประกันหนี้นั้นต่อไป แม้ว่าเจ้าหนี้จะผ่อนชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้แล้ว (ผลคือ การขยายเวลาการชำระหนี้ หรือการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องขอความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน  มิฉะนั้นผู้ค้ำจะพ้นจากการเป็นผู้ค้ำทันที)

 

ทั้งนี้ก่อนจะค้ำประกันให้ใคร ก็ควรคิดให้รอบด้านและถี่ถ้วนก่อนเสมอ รวมถึงควรอ่านสัญญาค้ำประกันให้ดี และถ่ายสำเนาสัญญาฉบับนั้นเก็บไว้กับตัวเองด้วย 


 

แหล่งข้อมูล

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ (แก้กฎหมายเรื่องค้ำประกัน)

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow