อายุความ (Prescription) คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้อง หรือสิทธิร้องทุกข์ หากปล่อยเนิ่นนานไปจนเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเช่นว่าจะเป็นอันยกขึ้นอ้างอีกมิได้ ซึ่งจะเรียกว่า ‘การขาดอายุความ’ เช่น คดีขาดอายุความ หนี้ขาดอายุความ เป็นต้น
อายุความฟ้องคดีอาญา
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 บัญญัติไว้ว่า ในคดีอาญา ‘ถ้า’ มิได้ฟ้อง และ ‘ได้ตัว’ ผู้กระทำความผิดมายังศาล ภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ
● 20 ปี สำหรับความผิด ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
● 15 ปี สำหรับความผิด ต้องระวางโทษ จำคุกกว่าเจ็ดปี แต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
● 10 ปี สำหรับความผิด ต้องระวางโทษ จำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
● 5 ปี สำหรับความผิด ต้องระวางโทษ จำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
● 1 ปี สำหรับความผิด ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้า ‘ได้ฟ้อง’ และ ‘ได้ตัว’ ผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนี หรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้ว นับแต่วันที่หลบหนี หรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ส่วนการพิจารณาว่าคดีใดมีกำหนดอายุความนานเท่าไหร่ต้องดูตามอัตราโทษสูงสุดของมาตราที่ได้กระทำความผิด ประกอบกับกฎหมายอาญามาตรา 95 ตัวอย่างเช่น
● ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนามีอายุความ 20 ปี
● อายุความ 10 ปี เช่น คดียักยอก เป็นต้น
● อายุความ 5 ปี เช่น คดี พ.ร.บ.เช็คฯ เป็นต้น
วิธีการนับอายุความคดีอาญา
ตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการนับระยะเวลาอายุความไว้โดยเฉพาะ การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193 / 3 วรรคสอง มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงต้องเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น เช่น คดีเช็คฯเด้ง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนดสามเดือนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ฟ้องจำเลย วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามคำพิพากษาฎีกาที่ 920 / 2550
แหล่งข้อมูล
- หมวด ๙ อายุความ (มาตรา ๙๕ - ๑๐๑)
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95