Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ผิดกฎหมายหรือไม่

Posted By Plook Magazine | 31 พ.ค. 66
45,061 Views

  Favorite

หลายคนอาจสงสัยว่า อายุไม่ถึง 18 จะทำงานได้ไหม ? เพราะหลายคนเลยที่พอเรียนจบมัธยมต้นก็มักจะเริ่มมองหางานพิเศษทำเพื่อหารายได้ อยากจะแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ บทความนี้มีคำตอบให้ครบทั้งในมุมของเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่อยากจะหางานทำ และในมุมของนายจ้างที่คิดจะจ้างแรงงานเด็ก มาดูกันว่าผิดกฎหมายไหม และมีข้อควรรู้อะไรบ้างที่ควรรู้ก่อนจ้างแรงงานเด็กต่ำกว่า 18 !

 

กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็กไว้ดังนี้

 

● ตามมาตรา 44 ห้ามจ้างแรงงานเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานโดยเด็ดขาด 

 

● ตามมาตรา 45 ในกรณีที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 เป็นลูกจ้างให้นายจ้างปฏิบัติดังนี้

(1) แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน

(2) จัดทำบันทึกสภาพการจ้างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ

(3) แจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เด็กออกจากงาน

*การแจ้งหรือการจัดทำบันทึกตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

 

● ตามมาตรา 46 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินสี่ชั่วโมงแต่ในสี่ชั่วโมงนั้นให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กได้มีเวลาพักตามที่นายจ้างกำหนด

 

● ตามมาตรา 47 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 - 06.00 น. เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

 

● ตามมาตรา 48 ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลา 

 

 

● ตามมาตรา 49 ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันอาจเป็นอันตรายตามกฎหมายกำหนด 

(1) งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ

(2) งานปั๊มโลหะ

(3) งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติ อันอาจเป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(4) งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(5) งานเกี่ยวกับจุลชีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือเชื้ออื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(6) งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(7) งานขับหรือบังคับรถยกหรือปั้นจั่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(8) งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์

(9) งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา

(10) งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(11) งานทำความสะอาดเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ขณะที่เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กำลังทำงาน

(12) งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป

(13) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

● ตามมาตรา 50 ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

(1) โรงฆ่าสัตว์

(2) สถานที่เล่นการพนัน

(3) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง

(4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอนหรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า

(5) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

● ตามมาตรา 51 ห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างเด็กให้แก่บุคคอื่น หากจ่ายให้บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคล มิให้ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างสำหรับลูกจ้างเด็กนั้น

 

● ตามมาตรา 52 ลูกจ้างเด็กมีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม รับการอบรม สัมมนา การฝึก หรือลาเพื่อการอื่น ที่จัดโดยสถานศึกษา หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเห็นชอบ โดยได้รับค่าจ้างแต่ไม่เกิน 30 วันต่อปี 

 

หากพบหรือทราบเบาะแสว่ามีการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย เช่น มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน หรือจ้างเด็กทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และศีลธรรม สามารถแจ้งได้ที่กลุ่มแรงงานหญิง เด็ก และเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร 02-246-8006 / 02-246-8024 (ตามเวลาราชการ) หรือโทรสายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 1506 กด 3 หรือแจ้งเรื่องได้ทางอีเมล lpnd@labour.mail.go.th

 

 

แหล่งข้อมูล

- การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย

- การใช้แรงงานเด็กและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow