ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) มักถูกละเลยจากผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนเริ่มต้นธุรกิจผู้ประกอบการต้องประเมินให้ได้ว่าต้องการใช้เงินทุนในการตั้งกิจการเท่าไหร่ ซึ่งเจ้าของธุรกิจควรมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลืออาจขอกู้จากสถาบันการเงินได้ และสองเมื่อดำเนินธุรกิจไปแล้วต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยเผื่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไว้ด้วย ซึ่งอาจใช้เงินทุนของตัวเองหรือขอกู้จากสถาบันการเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป
และต่อมาเมื่อต้องการขยายธุรกิจในอนาคต เจ้าของธุรกิจอยากขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่ไม่เคยทำบัญชีและไม่มีการเดินบัญชีธนาคาร Bank Statement อย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องยากที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อให้เพราะบัญชีไม่น่าเชื่อถือมากพอ ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดกับเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น พ่อค้า แม่ค้า เป็นต้น
ผู้ประกอบการกลุ่ม Micro ควรเข้าใจความรู้ขั้นพื้นฐานทางการเงินที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องรู้ (Beginning Financial Knowledge)
ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Small ควรเข้าใจการพัฒนาธุรกิจด้วยการเพิ่มศักยภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs (Advance Financial Knowledge)
ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Medium ควรเข้าใจการเพิ่มโอกาสการขยายตัวของธุรกิจควบคู่ไปกับการลดต้นทุนทางการเงิน
นอกจากความรู้ด้านการเงินข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเข้าใจเรื่องของสินเชื่อและดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย กฎหมายพื้นฐานที่ผู้ประกอบการควรรู้ เช่น สัญญา จำนำ จำนอง และขายฝาก ภาษีต้องรู้สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น ภาษีซื้อ ภาษีขาย VAT และการจ่ายภาษีเงินได้ และเตรียมข้อมูลธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อ เช่น การเตรียมแสดงรายได้ งบการเงิน และวิธีการเดินบัญชี Bank Statement เพื่อต่อยอดธุรกิจหรือเมื่อธุรกิจสะดุดเพราะหมดเงินทุน เป็นต้น
ปัญหาที่พบโดยทั่วไปของผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการรายใหม่คือ การขาดระบบบัญชีและงบการเงินที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดการด้านการเงิน และสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรืออาจทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะขอความช่วยเหลือหรือการส่งเสริมตามมาตรการของภาครัฐ ซึ่งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) มีข้อแนะนำดังนี้
o ควรแสดงตัวตนให้สถาบันการเงินรู้จัก เช่น การเปิดบัญชีและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัญชีธนาคารเพื่อให้เกิดรายการหมุนเวียน ซึ่งแสดงถึงปริมาณการค้าหรือรายได้ของธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
o จัดเก็บเอกสารหลักฐานทางการค้าเอาไว้ เอกสารเกี่ยวกับภาษี และการบันทึกบัญชีรับ-จ่าย ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการควบคุมด้านการเงินและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจภายในกิจการแล้ว ยังสามารถใช้ยื่นต่อสถาบันการเงินเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้อีกด้วย
o มีผู้สอบบัญชี ให้เข้ามาช่วยวางระบบบัญชี ช่วยจัดทำงบการเงินที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีความรู้และต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำแทน
เพราะการดูว่ากิจการแข็งแกร่งหรือไม่ดูได้จาก ‘งบการเงิน’ องค์ประกอบของงบการเงินตามที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ได้ให้คำแนะนำไว้เพื่อให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น มั่นคง ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
o งบดุล คือ สิ่งที่สะท้อนฐานะทางการเงินของกิจการ ณ วันสิ้นงวดบัญชี งบดุลจะแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งซ้ายแสดงรายการสินทรัพย์และฝั่งขวาแสดงรายการของผู้ที่มีส่วนในสินทรัพย์ ซึ่งมีอยู่ 2 ฝ่าย คือ เจ้าหนี้ (หนี้สิน) และเจ้าของธุรกิจ (ทุน) โดยที่จำนวนเงินทั้ง 2 ฝั่งจะต้องเท่ากันพอดี ตามสมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน
o งบกำไรขาดทุน คือ สิ่งที่สะท้อนความสามารถในการทำกำไร หรือสะท้อนผลประกอบการในรอบระยะเวลา (งวดบัญชี) หนึ่ง โดยแสดงให้เห็นตัวเลขรายได้ ต้นทุนสินค้าขาย กำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารและกำไรสุทธิของกิจการ
o งบกระแสเงินสด คือ สิ่งที่แสดงความเคลื่อนไหวหรือการไหลเวียนของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด โดยแบ่งออกตามกิจกรรม ได้แก่ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระเงินสดจากการจัดหาเงินทุน
ความสามารถในการวิเคราะห์งบการเงินเป็นหัวใจสำคัญในการวางแผนธุรกิจและแก้ไขปัญหาในการดำเนินกิจการ สิ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของอัตราส่วนซึ่งคำนวณจากข้อมูลต่าง ๆ ในงบการเงินโดยขอยกตัวอย่างอัตราส่วนทางการเงินที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ ดังนี้
1. การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุน
o อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน = หนี้ / ทุน เป็นการบอกว่าสินทรัพย์ของกิจการส่วนใหญ่เป็นส่วนของทุนหรือหนี้สิน แสดงถึงโครงสร้างเงินทุนของกิจการในแง่ของเจ้าหนี้ อัตราส่วนที่ต่ำแสดงถึงทรัพย์สินสร้างขึ้นมาจากทุนเป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่จากหนี้ กิจการมีภาระหนี้ต่ำจึงมีความเสี่ยงในการให้กู้ยืมต่ำ
2. การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน
o อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน เป็นเครื่องชี้สภาพคล่องของธุรกิจ หากอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าธุรกิจมีสภาพคล่องสูงและมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะผิดนัดชำระหนี้
o อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว Quick Ratio = (เงินสด + ลูกหนี้การค้า) / หนี้สินหมุนเวียน เป็นเครื่องชี้ความสามารถของธุรกิจในการชำระหนี้ หนี้สินหมุนเวียนจากสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีสภาพคล่องสูงและสินทรัพย์ที่สามารถแปรสภาพเป็นเงินสดได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดภายใน 90 วันโดยกระทบต่อราคาของสินทรัพย์น้อยที่สุด
3. การวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
o การหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ = ต้นทุนขาย / สินค้าคงเหลือ (หรืออาจใช้ยอดขาย/สินค้าคงเหลือก็ได้) เป็นเครื่องชี้ประสิทธิภาพในการบริหารงานขายว่าสามารถจำหน่ายสินค้าได้เร็วเพียงใด
o การหมุนเวียนของลูกหนี้ = ยอดขาย / ลูกหนี้ เป็นเครื่องชี้ความสามารถในการบริหารลูกหนี้การค้าหากอัตราส่วนหนี้สูงแสดงว่าลูกหนี้ชำระเงินสดเร็ว