ไซยาไนด์ (Cyanides) เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN -) เป็นองค์ประกอบ เป็นสารพิษอันตรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก เป็นต้น และสามารถปล่อยออกมาจากธรรมชาติในอาหารบางชนิดหรือในพืชบางชนิด ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์เร็วและอาจทำให้ถึงตายได้ เนื่องจากมันจะไปรบกวนความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนหรือยับยั้งการหายใจระดับเซลล์
ไซยาไนด์อาจเป็นก๊าซหรือของเหลวที่ไม่มีสี เช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) หรือไซยาโนเจนคลอไรด์ (CNCl) ไซยาไนด์ยังสามารถพบในรูปแบบผลึก (ของแข็ง) เช่น โซเดียมไซยาไนด์ (NaCN) หรือโพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN) ได้ด้วย ไซยาไนด์มีกลิ่น "อัลมอนด์ขม" แต่ก็ไม่ได้มีกลิ่นเสมอไป และไม่ใช่ทุกคนที่จะตรวจจับกลิ่นนี้ได้
อาการของผู้ได้รับไซยาไนด์
- เจ็บหน้าอก
- แน่นหน้าอก
- สับสน
- มึนศีรษะ
- เจ็บตา
- น้ำตาไหล
- หายใจลำบาก
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- หัวใจเต้นเร็วหรือช้า
- หายใจเร็วหรือช้า
- กระสับกระส่าย
- หายใจสั้น
- อาเจียน
- อ่อนล้า
อาการของผู้ได้รับไซยาไนด์ในปริมาณมาก
- หมดสติ
- เสียชีวิต
- ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ
- ชัก
หากสัมผัสกับไซยาไนด์ ต้องทำอย่างไร
หากสัมผัสกับไซยาไนด์ ให้ออกจากพื้นที่ที่ไซยาไนด์แพร่กระจาย และหายใจในที่มีอากาศบริสุทธิ์ กรณีที่ไซยาไซด์กระจายอยู่ในพื้นที่เปิดด้านนอก ให้หลบเข้าในตัวอาคารพร้อมทั้งปิดหน้าต่างและระบบระบายอากาศ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งปนเปื้อนจะไม่เข้ามาภายใน หรือหากไม่สามารถเข้าภายในอาคารได้ให้หนีออกจากบริเวณที่ไซยาไนด์แพร่กระจาย
การอาบน้ำเป็นวิธีที่ดีในการกำจัดไซยาไนด์ออกจากร่างกาย หากสัมผัสกับไซยาไนด์ให้อาบน้ำทันทีหรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยถอดเสื้อผ้า รวมถึงเครื่องประดับทุกชิ้นและคอนแทคเลนส์ออกจากร่างกาย แยกเก็บใส่ถุง หากดวงตามีอาการแสบร้อนหรือไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ ให้ล้างตาเป็นเวลา 10-15 นาทีด้วยน้ำอุ่น ห้ามใช้ยาหยอดตา
หากได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย ต้องทำอย่างไร
หากไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายโดยการกิน ให้รีบส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อล้างท้อง เพราะถ้าท้องว่าง การออกฤทธิ์จะค่อนข้างเร็วมาก