PTSD หรือ Post-traumatic stress disorder เป็นภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น สงคราม ก่อการร้าย ประสบภัยพิบัติ ประสบอุบัติเหตุ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรง หรือเป็นผู้ได้รับการสูญเสียจากเหตุการณ์ร้ายแรงนั้น ส่งผลให้เกิดความเครียดทางจิตใจอย่างรุนแรง ทุกข์ทรมาณ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการหรือสัญญานเตือนว่ากำลังตกอยู่ในภาวะ PTSD จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปมักแสดงอาการ
1. เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ เห็นภาพหลอน ฝันร้าย ฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยๆ
2. มีอาการ Flash Back คือ เห็นเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้
3. หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ ตื่นตัว ตกใจง่าย
4. ใจสั่น ความดันโลหิตสูง เครียดกับสิ่งต่างๆ รอบตัว
5. หลีกเลี่ยงจากการย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ร้ายแรงนั้น เช่น จากภาพข่าว สถานที่ สถานการณ์ บุคคล
6. การเปลี่ยนแปลงอารมณ์หรือความคิดในเชิงลบ หม่นหมอง คิดว่าตัวเองคงมีความสุขอีกไม่ได้ ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยทำ
7. มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง เช่น ใช้ยาเสพติด และอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย
8. มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ปลีกตัวออกจากสังคม ไม่ไว้ใจผู้อื่น
อาการเหล่านี้อาจรุนแรงและยาวนานจนรบกวนชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ และความสามารถในการทำงาน หากตัวเราหรือบุคคลรอบข้างกำลังมีอาการเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
เมื่อประสบเหตุการณ์ร้ายแรงและกระทบกระเทือนจิตใจ เป็นที่เข้าใจได้ว่าจะมีอาการบางอย่างของ PTSD เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง เช่น มีความรู้สึกมึนงง นอนไม่ไหลับ บางครั้งเรียกได้ว่าเป็น ปฏิกิริยาความเครียดเฉียบพลัน ในหลายๆ คนอาการเหล่านี้จะหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่หากมีอาการนานกว่าหนึ่งเดือน นั่นเป็นสัญญานเตือนว่าอาจจะเป็นภาวะ PTSD จึงควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
1. พบเห็นผู้คนที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่อาการของ PTSD เช่น เคยถูกคนร้ายที่สวมหน้ากากทำร้าย เมื่อพบเจอคนสวมหน้ากากอาจกระตุ้นความทรงจำที่เลวร้ายได้
2. ความคิดและอารมณ์อาจกระตุ้นให้รู้สึกถึงความกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ความกลัว ความสิ้นหวัง ความเครียดลึกๆ
3. พบเห็นวัตถุที่เตือนความทรงจำและกระตุ้นให้อาการ PTSD ปะทุขึ้น เช่น ทหารผ่านสงคราม อาจรู้สึกบอบช้ำขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเห็นคนใช้ปืนฉีดน้ำเล่นสงกรานต์
4. กลิ่นบางอย่าง เช่น คนที่ประสบกับเหตุการณ์ไฟไหม้มา กลิ่นควันอาจกระตุ้นอาการ PTSD
5. สถานที่บางแห่ง เช่น ถูกจับเป็นตัวประกันระหว่างการปล้นธนาคาร การกลับไปยังที่แห่งนั้นและความทรงจำอันเลวร้ายผุดขึ้นมา จะทำให้อาการแย่งลงได้
6. รายการโทรทัศน์ รายการข่าว และสื่อต่างๆ การเห็นภาพข่าว หรือคลิปเหตุการณ์ที่คล้ายกับที่ตัวเองประสบมา มักกระตุ้นอาการและทำให้แย่ลง
7. ความรู้สึกบางอย่าง เช่น ความเจ็บปวดเป็นตัวกระตุ้นอาการที่รุนแรงทีเดียว หากเรารอดชีวิตจากการถูกทำร้าย เมื่อถูกปัดมือโดยบังเอิญอาจทำให้นึกถึงภาพเหตุการณ์ร้ายในอดีตได้
8. เสียงประทัดหรือควันรถอาจทำให้นึกถึงเสียงปืน โดยเฉพาะกับทหารผ่านศึก หรือคนที่เผชิญความรุนแรงจากปืน
9. รสชาติของอาหารบางชนิดสามารถกระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจได้เช่นกัน
10. การอ่านหนังสือหรือสื่ออื่นๆ หรือการได้ยินคำเฉพาะบางคำก็สามารถกระตุ้นอาการ PTSD ได้
11. นอกจากนี้วันครบรอบก็เป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการแย่งลงได้เช่นกัน เช่น วันครบรอบเหตุการณ์การก่อการร้าย, วันครบรอบเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่
1. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ PTSD เป็นโรคทางจิตเวช หากคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ ควรพาไปพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางการรักษาด้านจิตเวช เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าใจในอาการของตนเอง และสามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับ PTSD ได้
2. ชักชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดความเครียดและเป็นการดูแลสุขภาพกายด้วย เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เหมาะสม
3. พูดคุยกับผู้ป่วย ให้กำลังใจ ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่ตัวคนเดียว
แหล่งที่มาข้อมูล
Restoring Wellness Solutions, What Causes PTSD To Get Worse?, สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://restoringwellnesssolutions.com/
Mind, Post-traumatic stress disorder (PTSD), สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.mind.org.uk/
National Institute of Mental Health, Post-Traumatic Stress Disorder, สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.nimh.nih.gov/
โรงพยาบาลเพชรเวช, ภาวะ PTSD ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด, สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.petcharavejhospital.com/th/Home
โรงพยาบาลรามาธิบดี, พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร; PTSD ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD ตอนที่ 1), สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/