โรคแพนิค (Panic Disorder) คือ โรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักเกิดความกังวลหรือความหวาดกลัวอย่างรุนแรงและไม่คาดคิด จะมีอาการอย่างเฉียบพลัน เช่น ใจสั่น เหงื่อออก หายใจเร็ว แน่นหน้าอก คลื่นไส้ หรือความตื่นเต้นที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก โรคแพนิคเป็นโรคทางจิตเวชที่หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
สาเหตุของโรคแพนิคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึง
1. สมองส่วน อะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งเป็นส่วนควบคุมความกลัว ทำงานผิดปกติ
2. พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรควิตกกังวลจะมีโอกาสเกิดอาการได้มากกว่า
3. สภาพจิตใจ ความเครียด ความกังวล หรือการประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกังวลอย่างรุนแรงอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแพนิคได้
4. ความผิดปกติของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้ นอกจากนี้กลุ่มยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคแพนิคได้
5. ความกดดันและความเครียดจากสถานการณ์ชีวิต เช่น การประสบกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด การเปลี่ยนแปลงในชีวิต เป็นต้น
6. ผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสีย ความผิดหวังอย่างรุนแรง
โรคแพนิคเป็นโรคทางจิตเวชที่อาการวิตกกังวลและหวาดกลัวอย่างรุนแรง โดยมีอาการสำคัญของโรคประกอบด้วย
1. กังวลและรู้สึกหวาดกลัวไปหมดทุกอย่าง
2. ใจสั่น แน่นหน้าอก
3. หัวใจเต้นแรง
4. หายใจถี่ หายใจหอบ
5. มือเท้าสั่น
6. เหงื่อออกมาก
7. ตัวสั่น
8. ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ อาการเหมือนจะเป็นไข้
9. วิงเวียนเหมือนจะเป็นลม
10. คลื่นไส้ ปั่นป่วนมวนท้อง
11. ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้
12. มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตาย
ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการหวาดกลัว วิตกกังวล และมีความไม่มั่นคงอย่างไม่คาดคิด ทำให้มักรู้สึกว่าตัวเองเจ็บป่วยร้ายแรงและกำลังจะตาย อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผลชัดเจน ดังนั้นการรับมือผู้ป่วยโรคแพนิคสามารถทำได้คือ
1. ให้ผู้ป่วยค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ
2. ปลอบใจผู้ป่วยว่าอาการแพนิคไม่อันตราย และจะหายไปเอง
3. พยายามให้ผู้ป่วยสงบจิตใจ ให้ฝึกสมาธิหรือฝึกโยคะ
4. พาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษา
แหล่งที่มาข้อมูล
National Institute of Mental Health, Panic Disorder: When Fear Overwhelms, สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.nimh.nih.gov/
SIKARIN, รู้จัก “โรคแพนิค” อาการเป็นอย่างไร?, สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sikarin.com/
Praram 9 Hospital, พญ.พรทิพย์ ศรีโสภิต, โรคแพนิค (Panic Disorder) คืออะไร มีเกณฑ์การวินิจฉัยอย่างไร, สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.praram9.com/