ตั้งแต่ที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา การเลี้ยงดูลูกของมนุษย์พ่อแม่ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เรามีแพลตฟอร์มที่สามารถโพสต์ แชร์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับลูกของเราให้เพื่อน ๆ ในโซเชียลมีเดียได้ชื่นชมโมเมนต์น่าหมั่นเขี้ยวของเจ้าตัวเล็ก ไปจนถึงเปิดเพจให้น้องหนูเสียเลยก็มี แน่นอนว่า ‘รูปภาพ’ ของเด็กที่โพสต์ไปย่อมชุบชูใจให้ผู้ใหญ่ที่ได้เห็นจนต้องกดไลก์กันรัว ๆ เพราะความน่ารักน่าเอ็นดู ซึ่งกระแสการแชร์รูปลูก ๆ ของพ่อแม่บนโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องไวรัลไปทั่วทั้งโลก จน Collins English Dictionary ต้องบัญญัติศัพท์พฤติกรรมการโพสต์รูปลูกบนออนไลน์นี้ด้วยคำว่า Sharenting (n.)
พฤติกรรม Sharenting นี้เองที่อาจส่งผลต่อประเด็น ‘สิทธิของเด็ก’ ตามมา ซึ่ง ‘เด็ก’ ตามคำนิยามตามกฎหมาย หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ซึ่งการ Sharenting โพสต์ + แชร์รูปลูกบนโซเชียลมีเดียของพ่อแม่ที่เข้าใจดีว่าไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไรแอบแฝงหรอก แต่บางครั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กจากพฤติกรรม Sharenting ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่นึกไม่ถึง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน การรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงการละเมิดสิทธิเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวังมาก ๆ
1. ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย
การโพสต์รูปลูกทำให้ลูกเกิดความไม่ปลอดภัยได้หลายมิติมาก หากพ่อแม่โพสต์ให้ข้อมูลส่วนตัว เช็กอินสถานที่ที่ลูกไปเป็นประจำ โพสต์ชื่อจริง ชื่อโรงเรียน ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของเด็ก หากข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือของมิจฉาชีพ ก็อาจนำไปสู่อันตรายต่อตัวเด็กได้ เช่น การสะกดรอยตาม การลักพาตัวเด็ก การเอารูปของเด็กไปปั้นเป็นเรื่องราวขอรับบริจาค หรือการตัดต่อหน้าเด็กเพื่อโฆษณาเพื่อการค้า และที่สำคัญคือการใช้รูปเด็กเพื่อตอบสนองทางเพศของกลุ่มคนที่มีอาการใคร่เด็ก หรือ Pedophile
2. ปิดกั้นพัฒนาการของเด็ก
การโพสต์รูปเด็กอย่างไม่ระวังจะนำไปสู่การเผลอสร้างตัวตนให้เด็กได้ พ่อแม่บางคนอาจเผลอออกแบบตัวตนให้กับลูกตั้งแต่ที่เขายังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ทำให้ในชีวิตจริงเด็ก ๆ หลายคนต้องดูดี ดูน่ารักตลอดเวลา ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กสูญเสียความเป็นเด็ก เพราะในความเป็นจริงแล้วเด็กบางคนอาจต้องการวิ่งเล่น ซุกซนตามวัย ร้องไห้ งอแงตามพัฒนาการของเขา แต่เมื่อผู้ปกครองอยากได้รูปภาพที่เด็กต้องดูน่ารัก นั่นจึงอาจกลายเป็นปัญหาด้านการปิดกั้นพัฒนาการของเด็ก จากปัญหาการดำเนินชีวิตของเด็กที่ไม่เป็นธรรมชาติตามพัฒนาการ
3. เกิด Digital Footprint บนโลกออนไลน์
ทุกครั้งที่มีการโพสต์รูปเด็กลงโซเชียลมีเดียและตั้งโพสต์เป็นสาธารณะ สิ่งที่จะตามมาก็คือ คำวิจารณ์ คอมเมนต์ไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบก็ตาม คอมเมนต์ รูปภาพ กิจกรรมต่าง ๆ ที่พ่อแม่เคยโพสต์เกี่ยวกับลูกโดยสาธารณะเหล่านี้จะกลายเป็น Digital Footprint (ร่องรอยทางดิจิทัล) ที่ไม่สามารถลบได้อีกแล้ว เช่น เด็กอาจถูกขุดคุ้ยภาพในอดีตที่พ่อแม่เคยโพสต์ไว้มาล้อเลียน บูลลี่กันด้วยประโยคที่ว่า ‘ไม่น่าโตเลย’ สร้างแผลทางจิตใจให้กับเด็กคนหนึ่งได้ เป็นต้น
4. เผลอทำร้ายจิตใจเด็กเมื่อโตขึ้น
แม้ว่าจะเป็นการโพสต์เฉพาะเรื่องราวดี ๆ ของลูกเท่านั้น เช่น รูปที่น่ารัก ผลการเรียนที่โดดเด่น เล่นกิจกรรมได้รางวัล ก็อาจล้วนส่งผลต่อการเติบโตของเด็กทั้งสิ้น เด็กที่ถูกโพสต์ถึงแต่เรื่องดี ๆ อาจเกิดการเสพติดตัวตนบนโลกออนไลน์ที่พ่อแม่สร้างขึ้นมา (เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่ที่โตเเล้วก็ยังมีปัญหานี้และจัดการไม่ได้) ในทางกลับกัน หากวันหนึ่งโพสต์รูปเด็กแล้วเด็กได้รับคอมเมนต์แง่ลบเมื่อโตขึ้น เด็กกลับมาเจอโพสต์นี้สิ่งเหล่านี้ก็จะกลับมาทำร้ายจิตใจของเขาโดยที่พ่อแม่ไม่อาจแก้ไขได้แล้ว
ทั้งหมดที่ว่ามา นั่นหมายความว่า พ่อแม่จะโพสต์รูปลูกตัวเองไม่ได้หรือเปล่า ? คำตอบคือ ไม่ใช่เลย พ่อแม่ย่อมโพสต์รูปลูกได้แน่นอนอยู่แล้ว แต่พ่อแม่ไม่ควร ‘Navie’ หรือประเมิน มองการโพสต์รูปเพียงแค่ด้านเดียว และสองการโพสต์รูปเด็กควรมี ‘Consent’ อย่าละเลยความยินยอมของลูก ถ้าวันหนึ่งที่เขาสามารถบอกได้ว่าเขาชอบไหมที่พ่อแม่โพสต์รูปนี้ ให้ถามเขาอย่างจริงใจ เมื่อโพสต์นั้นเด้งแจ้งเตือนทุกปีเมื่อไหร่ ถ้าเด็กเริ่มรู้เรื่อง ให้ถามเขาเสมอว่าแม่/พ่อขอแชร์ได้ไหม ชอบหรือเปล่า แต่ก่อนที่เด็กจะโตพอที่จะประเมินอะไรได้ พ่อแม่ควรระวังความปรารถนาดีที่มีต่อลูก อย่าให้มันไปทำให้เด็กตกอยู่ในอันตราย อึดอัดและละอายจากรูปภาพล่อแหลมบนโลกออนไลน์เมื่อเขาโตขึ้นเพราะเด็กทุกคนมีสิทธิทุกประการเหมือนผู้ใหญ่
ตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมาย PDPA ขึ้นมา หลายคนก็เริ่มตระหนักถึงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวจากการเผยแพร่ภาพถ่ายมากขึ้น แต่ทั้งนี้หากเทียบกับประเทศอื่นแล้ว เรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กในบ้านเราก็ยังไม่ค่อยชัดเจน เป็นหัวข้อที่กว้าง ไม่เข้มแข็งเท่าไหร่นัก ยกตัวอย่างกฎหมายเกี่ยวกับเด็กในประเทศฝรั่งเศสที่ห้ามพ่อแม่โพสต์รูปลูกหากเด็กไม่ยินยอม หากผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการโพสต์รูปลูก ศาลครอบครัวมีสิทธิ์เป็นผู้ตัดสินหรือสั่งห้ามโพสต์ทั้งคู่ การตัดสินใจว่าจะโพสต์ภาพลูกลงในโลกออนไลน์หรือไม่จะต้องให้เด็กมีส่วนร่วมด้วย โดยพิจารณาจากอายุและระดับวุฒิภาวะของเด็กแต่ละคน (เพราะที่ฝรั่งเศสมีเคส ‘Identity Theft’ หรือ ‘การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล’ เกิดขึ้นบ่อยมาก คนฝรั่งเศสจะต้องไปทำใบเกิดใหม่ทุก 3 เดือน)
กลับมาที่ประเทศไทยเราเองก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กอยู่หลายข้อเช่นกัน แต่กฎกติกา มารยาทเหล่านี้ไม่ได้ถูกสอนในระบบการศึกษา ทำให้ผู้ปกครองหลายคนไม่รู้ โดยเด็กมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, สิทธิตาม ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ’ และล่าสุดคือ ‘พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA’ ดังนี้
‘สิทธิของเด็กตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560’
มาตรา 32 “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคล ไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
มาตรา 71 วรรคสาม รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และ ผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว
นอกจากสิทธิเด็กตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ประเทศไทยยังมี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก ที่สำคัญหลายฉบับ ได้แก่
o พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 22 ว่า การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและ มาตรา 27 ห้ามไม่ให้โฆษณาหรือเผยแพร่สื่อที่เจตนาให้เกิดความเสียหายต่อตัวเด็กหรือผู้ปกครอง
o อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ผู้ปกครองต้องให้ความคุ้มครองเด็กจากการถูกละเมิดชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว หรือการดูหมิ่น
o พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA มาตรา 4(1) ที่หากรูปภาพที่เผยแพร่สร้างความเดือดร้อน ความเข้าใจผิด หรือพาดพิงผู้อยู่ในภาพหรือผู้อื่น อาจถูกฟ้องร้องได้
คำแนะนำในการโพสต์รูปเด็ก หากเด็กเริ่มรู้ความหรืออายุ 2-3 ขวบขึ้นไป ควรถามเด็กก่อนโพสต์ว่า ตัวเด็กเองชอบหรือไม่ชอบ เด็กควรมีสิทธิในการอนุญาตก่อนโพสต์
1. หลีกเลี่ยงการโพสต์รูปหน้าตรง หรือรูปที่เห็นใบหน้าชัดเจนของเด็ก ควรเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการถ่ายภาพ เช่น ภาพถ่ายจากมุมที่ไม่เห็นหน้า ไม่ต้องลงรูปหน้าตรง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้อื่นอาจจะนำรูปลูกไปแสวงหาผลประโยชน์ได้
2. ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก อย่าโพสต์ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก ได้แก่ ชื่อ นามสกุล อายุ โรงเรียน ช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะไปรับเด็กที่โรงเรียน ข้อมูลที่สำคัญในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ของเด็กต้องคิดก่อนโพสต์ อย่าลืมว่าสิ่งที่โพสต์จะเป็น Digital Footprint แม้จะลบไปแล้วก็สามารถค้นหาได้เสมอ
3. ไม่โพสต์รูปที่ทำให้เด็กรู้สึกแย่ เช่น ภาพร้องไห้ พุงกะทิ หรือภาพท่าทางตลกที่อาจทำให้เด็กอึดอัดหรืออาย (ยิ่งถ้าเด็กพูดว่าไม่อยากถ่าย งอแงร้องไห้ ผู้ปกครองก็ยิ่งไม่ควรเอามาโพสต์) ก่อนโพสต์รูปอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับตัวเด็กควรคำนึงถึงอนาคตของเด็กด้วย ในเมื่อเด็กยังตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ ผู้ปกครองควรแทนความรู้สึกของตัวเองลงไป ว่าถ้าหากเป็นตัวเองจะชอบโพสต์นั้นหรือไม่เมื่อโตขึ้น แต่ถ้าหากเด็กรู้เรื่องแล้วควรขออนุญาตและความยินยอมจากเด็กก่อนทุกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องราวดี ๆ ก็ควรถามความรู้สึกก่อนเสมอ หากเด็กไม่ยินยอมก็ไม่ควรโพสต์
4. ไม่โพสต์รูปลูกขณะอาบน้ำหรือไม่สวมเสื้อผ้า กำลังเข้าห้องน้ำเพราะเด็กกำลังเปลือย เมื่ออนาคตเด็กโตขึ้น อาจถูกขุดคุ้ยภาพในอดีตที่พ่อแม่เคยโพสต์ไว้มาล้อเลียน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ ป้องกันปัญหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเรา
5. หลีกเลี่ยงการโพสต์รูปที่มีรูปเด็กคนอื่นติดอยู่ในภาพด้วย เพื่อไม่ละเมิดต่อสิทธิเด็กคนอื่นด้วยเช่นกัน เสี่ยงผิดกฎหมาย PDPA เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กบางคนก็ไม่ถ่ายรูปลูกตัวเองลงโซเชียลมีเดีย ดังนั้นจึงต้องระวังไม่ให้ถ่ายติดรูปของเด็กคนอื่นติดเข้ามาในรูปภาพ/วิดีโอของเรา โดยเฉพาะหากรูปนั้นทำไปเพื่อการค้า โฆษณา มีรายได้ต้องปกปิดใบหน้าของเด็กในกรณีที่จำเป็น