อากาศที่ร้อนระอุในช่วงฤดูร้อนของปี ทำให้หลายคนทุกข์ทรมานกับความร้อน แม้อยู่ในบ้านของตนเอง เปิดพัดลมแล้ว ก็ยังร้อนไม่หาย นั่นเพราะความร้อนที่แผ่ลงมาจากหลังคา หากติดฉนวนกันความร้อนไว้ใต้หลังคา ก็จะช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านลงได้มากทีเดียว ฉนวนกันความร้อนสำหรับติดตั้งใต้หลังคามีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
1. ฉนวนใยแก้ว
ผลิตขึ้นจากแก้ว มีลักษณะเป็นเส้นใยซ้อนทับกัน ห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งช่วยสะท้อนความร้อนกลับออกไปภายนอกตัวบ้าน ส่วนความร้อนที่ยังหลงเหลืออยู่จะถูกกักเก็บไว้ในเส้นใยแก้ว ฉนวนนี้มีข้อดีคือ ติดตั้งได้ง่ายและไม่ลามไฟ แต่มีอายุการใช้งานสั้น
2. ฉนวนประเภทโฟมโพลีเอทิลีน (PE Foam)
ลักษณะเป็นแผ่นโฟมที่ห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ช่วยสะท้อนความร้อนออกไปนอกตัวบ้าน ส่วนฉนวนโฟมป้องกันความร้อนเข้ามาในตัวบ้าน น้ำหนักเบา ทนทานต่อการกัดกร่อน ในท้องตลาดมีความหนาหลายขนาดให้เลือกใช้ เมื่อถูกความร้อนหรือเปลวไฟ ฉนวนโฟมจะหลอมละลายกลายเป็นหยดไฟ ลามไฟได้
3. ฉนวนประเภทโฟมโพลียูริเทน (PU Foam)
เป็นวัสดุนำความร้อนต่ำ ช่วยป้องกันความร้อนได้ถึง 90% น้ำหนักเบา กันความร้อนได้ดี มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า PE Foam ฉนวนประเภทนี้มักฉีดพ่นบริเวณใต้แผ่นหลังคาเมทัลชีท แต่ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้จะมีควันมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยด้วย
4. แอร์บับเบิลหรือบับเบิลฟอยล์
มีลักษณะคล้ายแผ่นพลาสติกกันกระแทก ที่มีมวลอากาศอยู่ตรงกลาง แต่มีแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ประกบทั้งสองด้าน โดยมวลอากาศทำหน้าที่ป้องกันความร้อน ส่วนอะลูมิเนียมฟอยล์ทำหน้าที่สะท้อนความร้อน หากเกิดประกายไฟอาจทำให้เกิดการลามไฟได้
นอกจากการพิจารณาวัสดุแต่ละประเภทแล้ว การเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแต่ละประเภทยังอาจดูได้จากค่า R (Resistivity) ซึ่งเป็นค่าต้านทานความร้อน และค่า K ซึ่งเป็นค่าการนำความร้อน โดยค่า R ที่สูงและค่า K ที่ต่ำจะช่วยป้องกันความร้อนได้ดี