Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการปลูกปัญญาให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านเชิงบวก

Posted By Plook TCAS | 03 เม.ย. 66
1,352 Views

  Favorite

            ลูกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านวัยจากเด็กเล็กเป็นเด็กเริ่มโต พัฒนาการต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย จิตใจอารมณ์ สติปัญญา และสังคมจึงมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย สมองมีการรับรู้มากขึ้น นิสัยใจคอและความคิดอาจแปลงผันไป เนื่องจากข้อมูลในยุคดิจิทัลถาโถมเข้ามามากทั้งเชิงบวกและเชิงลบ หากพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยให้ลูกรู้จักการกลั่นกรองข้อมูลในเบื้องต้น จะทำให้ลูกรู้จักการฉลาดคิดและการเรียนรู้เพื่อรู้เท่าทันโลกให้มากขึ้น และตัวช่วยที่ดีที่สุดคือ “การอ่าน”
 

            “นิสัยรักการอ่านเชิงบวก” เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น ฝึกฝน และสั่งสมจนเกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน ตัวเด็กเองเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในกระบวนการนี้ และอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งไม่น้อยไปกว่ากันคือพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยมีบทบาทให้การสนับสนุนและส่งเสริมทุกขั้นตอนของกระบวนการ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเทคนิคการปลูกปัญญาให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านเชิงบวกในช่วงเปลี่ยนผ่านวัยดังนี้คือ

 

แนะนำลูกให้รู้จักวิธีคิดและการใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองข้อมูลที่ได้จากการอ่าน

            พ่อแม่ลูกและสมาชิกคนอื่นในครอบครัวควรมีการพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกันในสิ่งที่อ่านมา รับฟังความคิดของลูก และอธิบายให้เข้าใจอย่างชัดเจนในข้อมูลที่ใช่หรือไม่ใช่ แนะนำให้ลูกรู้จักเลือกอ่านสิ่งที่ใช่ และตัดออกสิ่งที่ไม่ใช่ เพื่อไม่ให้เกิดขยะข้อมูลในสมอง รายการดังทางโทรทัศน์รายการหนึ่งจัดรายการเชิญเด็กมาตอบปัญหา โดยแง้มภาพให้เด็กดูแป๊บเดียว แล้วให้เด็กตอบคำถาม ซึ่งก่อนจะเข้าร่วมรายการ ทางรายการมีหนังสือมากมายให้เด็กอ่านในหัวข้อเรื่องที่ทางรายการกำหนด ปรากฏว่าเด็กชายตัวน้อยจอมอัจฉริยะตอบได้ทุกคำถามจนกรรมการงงไปตาม ๆ กัน เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมจึงฉลาดนัก เด็กน้อยตอบเสียงดังฟังชัดและด้วยความภาคภูมิใจว่า “ผมอ่านหนังสือครับ” นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการมีนิสัยรักการอ่านเชิงบวก ซึ่งนำประโยชน์มาสู่ตนเองและครอบครัว

 

สร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้เหมาะกับการอ่านที่บ้าน

            จัดให้มีมุมอ่านหนังสือที่เอื้อต่อการอ่าน หรือมีตู้ใส่หนังสือ/จัดเป็นห้องสมุดเล็ก ๆ มีหนังสือสนุก ๆ มีสาระน่าอ่านให้เลือกอ่าน หรือจัดบริเวณนอกบ้านเช่นใต้ต้นไม้ ให้ลูกนั่งอ่านหนังสือที่ชื่นชอบในยามว่างได้อย่างมีความสุขเพลิดเพลินท่ามกลางธรรมชาติร่มรื่น พ่อแม่ควรสร้างโอกาสในการอ่านให้ลูกเพื่อให้ลูกอยากอ่านหนังสือทุกครั้งที่มีโอกาส หรือสนับสนุนให้ลูกมีเพื่อนร่วมแก๊งนักอ่าน ให้ลูกชวนเพื่อน ๆ มาเที่ยวที่บ้าน พร้อมกับนำหนังสือดี ๆ สนุก ๆ มีสาระความรู้เชิงบวกที่อ่านแล้วมาเล่าสู่กันฟัง หรือมาเลือกหนังสืออ่านที่บ้านของลูก และทำสมุดบันทึกการอ่าน โดยทำเป็นกิจกรรมช่วยกันออกแบบจัดทำสมุดขึ้นเอง หรือหากต้องการรูปเล่มสมุดบันทึกฯ สำเร็จรูป ก็สามารถซื้อหาได้ พร้อมกับมีขนมอร่อย ๆ จากคุณแม่แถมให้อีก เป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้ลูกในช่วงเปลี่ยนผ่านวัยอย่างมีความสุข

 

ส่งเสริมลูกให้ก้าวไปสู่การเป็นนักอ่านที่พัฒนาตนเองและสังคมได้

            พ่อแม่คือตัวกระตุ้นและต้นแบบนักอ่านของลูก เป็นกระจกเงาสะท้อนความเป็นนักอ่านให้ลูกเห็น เมื่อผู้ใหญ่เป็นนักอ่าน มีหรือที่เด็กจะไม่ทำตาม เพราะเด็กคือผ้าขาวซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวได้ง่ายมาก การส่งเสริมลูกให้เป็น “นักอ่านให้เก่ง” เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากลูกจะ “อ่านเก่ง” แล้ว ลูกยังพัฒนาเป็น “อ่านให้เก่ง” ได้ด้วย เนื่องจากสามารถนำเนื้อหาสาระที่ได้อ่านไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย เป็นการสร้าง “สังคมแห่งปัญญา” การที่พ่อแม่ให้ลูกอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้องฝึกให้ลูกนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการอ่าน ไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย จากการที่ลูกมีโอกาสสั่งสมประสบการณ์การอ่าน พัฒนาทักษะการอ่าน สร้างนิสัยรักการอ่าน และลงมือปฏิบัติตามสิ่งดี ๆ ที่ได้อ่านไว้ตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อลูกเติบโตขึ้น จะเป็นผู้ที่อ่านเก่ง คิดเก่ง และทำงานเก่ง ซึ่งจะทำให้ตนเองและสังคมเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น

 

เปิดโลกแห่งการอ่านให้ลูกได้ “รับรู้” และ “เรียนรู้”

            ในช่วงวันหยุด คุณพ่อคุณแม่มักจะพากันออกไปหาซื้อข้าวของเครื่องใช้จากศูนย์การค้า ก็ชวนลูกแวะร้านหนังสือ ให้ลูกเพลิดเพลินอยู่กับสารพัดสารพันหนังสือในร้าน หรือพาลูกไปขอยืมหนังสือจากห้องสมุดชุมชนใกล้บ้าน หรือไปชมงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ/ กิจกรรมพิเศษที่ร้านหนังสือจัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งสองรายการหลังนี้จะมีการลดราคาหนังสือมากมาย หากลูกอยากได้/ อยากอ่านหนังสือดี ๆ ก็ไม่ต้องเสียดายเงินในการซื้อหา เพราะนั่นหมายถึงว่าพ่อแม่ได้ปลูกฝังให้ลูกได้ “รับรู้” ประโยชน์ของนิสัยรักการอ่าน และได้เปิดโลกแห่งการอ่านให้ลูกได้ “เรียนรู้” ด้วยตนเองแล้ว หนังสือดีมีค่าต่อชีวิตลูกในภายภาคหน้านานัปการ เพราะลูกต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

 

            ลูกน้อยในวัย ป. ปลายต้องการความรัก ความอบอุ่น การยอมรับ คำชื่นชม และการให้กำลังใจจากพ่อแม่ ฉะนั้นหากลูกทำได้ตามเทคนิคการปลูกปัญญาให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านเชิงบวกในช่วงเปลี่ยนผ่านวัย ตามที่พ่อแม่พยายามปลูกฝังแล้ว พ่อแม่จึงควรมอบสิ่งที่ลูกต้องการให้ลูกอย่างสุดหัวใจ และอาจเติมเต็มได้อีกด้วยการมอบรางวัลพิเศษเป็นหนังสือเล่มโปรดของลูก รับรองได้ว่าลูกต้องหลงใหลการอ่านเพื่อประเทืองปัญญาอย่างไม่มีวันเบื่อหน่าย.

 

ณัณท์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow