Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไม่มีเงินเรียนต่อ ทำยังไงดี ? รู้จักการขอทุน กยศ. ง่ายนิดเดียว

Posted By Plook Magazine | 31 มี.ค. 66
2,738 Views

  Favorite

การศึกษา เป็นพื้นฐานของการสร้างคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวมให้ดีขึ้นในอนาคต แต่ความยากจนกลับกีดกันเยาวชนบางส่วนออกจากระบบการศึกษา เด็กไทยจำนวนไม่น้อยจึงไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ และสูญเสียโอกาสทางการศึกษาไป ดังนั้นการขอทุนเรียนต่อจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยต่ออนาคตให้เยาวชนหลายคนได้มีโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้น ในบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีการขอทุนกยศ. สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับกยศ.ให้มากขึ้นกัน

 

กยศ. คืออะไร ?

 

กยศ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนหมุนเวียนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนและนักศึกษาที่มีความจำเป็น โดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา รวมถึงค่าครองชีพ และไม่คิดค่าดอกเบี้ยระหว่างที่ศึกษาอยู่ แต่ต้องชำระเงินหลังจากจบการศึกษาแล้ว

 

คุณสมบัติของผู้กู้

1. มีสัญชาติไทย
2. ศึกษาในสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนเพียงแห่งเดียวในภาคการศึกษาเดียวกัน
3. มีผลการเรียนดี
4. มีความประพฤติดี

 

ประเภทของการกู้ยืมกยศ.

ประเภทของการกู้ยืมกยศ. แบ่งออกเป็น 4 แบบ ดังนี้

 

แบบที่ 1 : ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์

1. รายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
2. ศึกษาในระดับการศึกษามัธยมปลาย / ปวช. / ปวส. / อนุปริญญาตรี / ปริญญาตรี
3. อายุในขณะที่ขอกู้ยืมเงิน เมื่อนับรวมกันระยะเวลาปลดหนี้ 2 ปี และเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 ปี
4. ทำประโยชน์ต่อสังคม / สาธารณะ

 

แบบที่ 2 : ผู้ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของประเทศ

1. ไม่จำกัดรายได้ แต่ถ้าประสงค์จะกู้ยืมเงินค่าครองชีพ จะต้องมีรายได้ต่อครอบครัว ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
2. ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของประเทศ ในระดับปวส. / อนุปริญญา / ปริญญาตรี
3. อายุไม่เกิน 30 ปี ในปีการศึกษาที่ยื่นขอกู้ยืม
4. ทำประโยชน์ต่อสังคม / สาธารณะ

 

 

แบบที่ 3 : ผู้ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน หรือสาขาที่กองทุนต้องการส่งเสริมเป็นพิเศษ

1. รายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
2. สามารถกู้ยืมค่าครองชีพได้
3. ศึกษาอยู่ในระดับ ปวช. ปวท. / ปวส. และอนุปริญญา / ปริญญาตรี
4. กำหนดชำระเงินคืนภายใน 15 ปี ปลอดหนี้ 2 ปี ภายหลังสำเร็จการศึกษา อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี

 

แบบที่ 4 : ผู้ที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ (ตั้งแต่ระดับปริญญาโทขึ้นไป)

1. รายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
2. ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00
3. กำลังศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือระดับปริญญาโท
4. ศึกษาเพื่อการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศไทย
5. ชำระเงินคืนภายใน 10 ปี (ปลอดหนี้ 1 ปี ภายหลังสำเร็จการศึกษา)
6. อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
7. กู้ยืมค่าครองชีพได้ และได้รับอัตราดอกเบี้ยค่าครองชีพพิเศษ 0.50% ต่อปี

 

วงเงินและขอบเขตการให้กู้ยืม

แบ่งออกตามระดับการศึกษาและสาขาวิชาที่ผู้กู้ศึกษาอยู่ โดยแบ่งออกเป็นวงเงินสำหรับค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ดังตารางต่อไปนี้

หมายเหตุ : รายละเอียดกรอบวงเงินอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายในแต่ละปี

 

ขั้นตอนการกู้กยศ. มีอะไรบ้าง

1. ลงทะเบียนรับรหัสผ่านที่เว็บไซต์ https://www.studentloan.or.th/index.html
2. ผู้กู้ยืมรายใหม่และรายเก่าต้องยื่นใบคำขอกู้ยืมภายในเวลาที่กองทุนกำหนด
3. สถานศึกษาตรวจสอบคุณสมบัติ สัมภาษณ์ คัดเลือก ส่งวงเงินกู้ยืม และประกาศผู้มีสิทธิในระบบ e-Studentloan
4. ผู้กู้ยืมทำสัญญากู้ยืมเงิน ผู้กู้ยืมรายใหม่หรือรายเก่าที่เปลี่ยนระดับหรือเปลี่ยนสถานศึกษา ต้องบันทึกและพิมพ์สัญญากู้ยืมเงินในระบบ e-Studentloan และส่งสัญญาพร้อมเอกสารประกอบที่ได้ลงนามแล้วให้สถานศึกษาตรวจสอบความถูกต้อง

 

การชำระหนี้และดอกเบี้ยกยศ.

การชำระหนี้ทั้งหมดจะเกิดขึ้นหลังจากเรียนจบแล้ว และเลิกศึกษาแล้ว 2 ปี โดยมีระยะเวลาการชำระยาวถึงเวลา 15 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี

 

 

เรื่องอื่น ๆ ที่ควรรู้ ก่อนกู้กยศ.

น้อง ๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อกู้กยศ.มาแล้ว หลังจากที่เราเรียนจบมาแล้ว 2 ปี จะสามารถตรวจสอบยอดหนี้กยศ. และชำระหนี้คืนได้อย่างไร

 

วิธีการตรวจสอบยอดหนี้กยศ. สามารถตรวจสอบได้จากแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ตัวแอปจะสามารถเช็กได้ว่า เราเป็นหนี้กยศ.อยู่เท่าไหร่ จะเริ่มชำระหนี้เมื่อไหร่ จะต้องทำอย่างไรต่อไปบ้าง และนอกจากนี้ยังสามารถชำระผ่านแอปธนาคารในโทรศัพท์ได้เลยโดยไม่มีค่าธรรมเนียม

 

นอกจากนี้ น้อง ๆ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า กยศ.สามารถหักเงินเดือนจากองค์กรนายจ้างได้ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืม เพื่อให้หักเงินเดือนได้ จากนั้นแจ้งสถานะเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อนายจ้างภายใน 30 วัน และต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

 

เป็นยังไงกันบ้างคะน้อง ๆ สำหรับข้อมูลการขอทุนกยศ. รวมไปถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่น้อง ๆ ควรรู้ บอกได้เลยว่าค่อนข้างจะครบถ้วน รับรองว่าไขข้อสงสัยและปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องกยศ. ได้อย่างแน่นอน

 

 

แหล่งข้อมูล

- กยศ. | กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
- เรื่องต้องรู้ ก่อนกู้ กยศ.
- เรื่องควรรู้ก่อนกู้ กยศ.
- รู้จัก กยศ. หมดปัญหาอยากเรียนต่อแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow