Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จักโรคซึมเศร้าในเด็กวัยเรียน และวิธีการรับมือ

Posted By Plook TCAS | 21 มี.ค. 66
2,418 Views

  Favorite

ภาวะซึมเศร้า กลายเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพจิตของเด็กไทย ไม่เว้นแม้แต่เด็กในวัยประถมปลาย และเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสีย และความเจ็บปวดในครอบครัว บทความนี้จึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักโรคซึมเศร้า ไปพร้อมกับวิธีรับมือ ถ้าหากว่าลูกของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้

 

โรคซึมเศร้าคืออะไร

โรคซึมเศร้าหมายถึงภาวการณ์เจ็บป่วยทางอารมณ์ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการสุญเสียผิดหวังการถูกทอดทิ้ง และอาจสามารถเกิดขึ้นเองจากสังคมรอบข้างที่เลวร้ายเช่น เจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เข้ามาอย่างกะทันหัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการหม่นหมอง หงุดหงิดง่าย ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง น้ำหนักลดลงหรือมากขึ้นอย่างรวดเร็วอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง เป็นต้น

 

โรคซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มถดถอยลง เห็นได้จากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีอัตราสูงขึ้น จาก 6.08 รายต่อแสนประชากร ในปี 2556 เพิ่มเป็น 7.37 รายต่อแสนประชากร ในปี 2563 และในปี 2564 ที่มีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มเป็น 7.8 รายต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกราว 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ยังระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยผู้ป่วยจำนวน 100 คน สามารถเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น และทำให้คนไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และที่น่ากลัวคือภาวะซึมเศร้าในเด็กเป็นปัญหาที่สำคัญและพบได้บ่อยแต่หลายคนมองข้าม

 

อาการของโรคซึมเศร้าในเด็กวัยเรียน

         เริ่มต้นจากความสิ้นหวัง เด็กจะไม่มีเรี่ยวแรง คุณสังเกตได้จากการที่ลูกเริ่มนอนมากขึ้นผิดปกติ บางคนมีน้ำหนักลดร่วมด้วย หลายรายพบว่าใช้สารเสพติด และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อารมณ์เศร้ามักเกิดจากภาวะการเรียนตกต่ำ ภาวะครอบครัวแตกแยก หรือการหมกมุ่นกับเหตุการณ์บางอย่างนาน ๆ จนเกิดความวิตกกังวล การถูกเพื่อนกลั่นแกล้งหรือการโดนบูลลี่ ความรู้สึกไม่ชอบ กังวลกับบุคคลรอบข้าง กลัวการแข่งขัน ทะเลาะกับแฟน ทะเลาะกับเพื่อน ขาดความมั่นใจในตนเอง

 

ลูกเศร้าเรารู้

         ลูกจะหงุดหงิด และจะแสดงออกมาทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน บางคนมีอาการถดถอย เช่น กลับมาปัสสาวะรดที่นอน อมนิ้ว กัดเล็บ ส่งผลให้มีปัญหาด้านการแสดงพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว ไม่สนใจเรียน ไม่มีสมาธิ ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากคุยกับใคร หมกตัวอยู่แต่ในห้อง แยกตัวไม่ค่อยเล่นกับเพื่อน ดังนั้นหากลูกคอยบ่นว่า เบื่อ ไม่มีอะไรทำเลย หรือบ่นว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ไม่เก่งเท่าเพื่อน ทำสีหน้าเศร้า ๆ บางคนอ่อนไหวร้องไห้ง่าย (ทั้งที่ไม่ค่อยเป็น) และหากเศร้าหนัก ๆ ก็จะพูดถึงเรื่องความตาย และการไม่อยากมีชีวิตอยู่

 

แยกให้ออก...เศร้ากับซึมเศร้า

         สังเกตดูว่าลูกเคยมีความสุขและเพลิดเพลินกับบางอย่าง แต่ตอนนี้ไม่ชอบแล้ว บางคนนอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือตื่นเร็วกว่าปกติ หรือนอนทั้งวัน ไม่อยากทำอะไร ความจำแย่ลง รู้สึกผิดโทษตัวเอง ใครทำอะไรก็หงุดหงิด ทุกคนดูทำทุกอย่างผิดไปหมด หากแค่เศร้าเฉย ๆ จะไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือถ้ามีก็จะไม่กินระยะเวลานาน อาจจะมีอาการแค่ช่วงที่มีปัจจัยเข้ามากระทบ เมื่อเวลาผ่าน่ไป อาการต่าง ๆ ก็จางหายไป

 

รู้ปัญหาของลูกก่อนใคร

         คุณควรเป็นคนนั้น คนที่รู้ปัญหาของลูกก่อนใคร ๆ และจงเชื่อว่า โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะหายเองไม่ได้ ต้องเข้ารับการรักษา และรับคำแนะนำ เพราะสาเหตุของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน แพทย์จะแก้ไขและวิเคราะห์แนวการรักษาเป็นราย ๆ ไป แต่คุณควรจัดการแก้ไขเบื้องต้นก่อน อย่างแรกคือ ค้นหาว่าบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมอะไรที่เป็นภาวะกดดันจิตใจของลูก และคุณเองนั่นแหละที่สามารถช่วยผ่อนคลาย โยกย้าย ให้ความช่วยเหลือลูกได้ก่อนใคร  

 

ประคับประคอง

         ไหน ๆ คุณเองก็เป็นคนโอบอุ้มลูกมาตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว การที่คุณเองจะเป็นผู้ประคับประคองลูกในยามที่ลูกมีภาวะซึมเศร้าในตอนนี้ก็คงไม่แปลกอะไร การประคับประคองทำได้ง่ายโดยการปรับวิธีการเลี้ยงดูลูก และปรับท่าทีที่แสดงต่อลูก พยายามถ่ายทอดความเข้มแข็งทางอารมณ์ด้วยการโอบกอดเขาและบอกรักเขา ธรรมชาติจะบอกลูกเองว่า ลูกกำลังอยู่กับคนในครอบครัวที่สามารถไว้ใจได้ เมื่อลูกวางใจภาวะความกดดันในจิตใจลูกจะเบาบางลงอย่างแน่นอน

 

ผู้เลี้ยงดูหรือผู้สอนที่อารมณ์ดี

         เด็กบางคนได้รับการถ่ายทอดความกดดันในจิตใจจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือครูบาอาจารย์ ในทางกลับกัน หากผู้เลี้ยงดูหรือผู้สอนที่ใกล้ชิดลูกมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี ไม่เครียด ไม่หงุดหงิดง่าย ลูกก็จะมีอารมณ์ที่ดี คุณลองสังเกตดูว่า ผู้เลี้ยงดูหรือผู้สอนลูกของคุณมีอารมณ์แบบไหน ลูกของคุณก็จะมีอารมณ์แบบเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ คุณต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกต้องใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงดูหรือผู้สอนที่มีอารมณ์ซึมเศร้า เพราะอารมณ์เหล่านี้สามารถสื่อถึงกันได้ เลี่ยงได้ควรเลี่ยง

 

เศร้าเรื้อรัง

         ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปในระยะยาว เพราะลูกของคุณจะกลายเป็นคนที่มีอารมณ์เศร้าเรื้อรัง ขาดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะไม่เคยเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จตามศักยภาพที่มีเลย หากปล่อยไป ลูกอาจได้รับการชักจูงในทางที่ผิดโดยง่าย เช่น การใช้สารเสพติด และที่แย่กว่านั้นคือ การโตไปด้วยภาวะซึมเศร้าเรื้อรังจากวัยเด็ก นำไปสู่การคิดฆ่าตัวตายได้โดยง่าย

 

ช่วยลูกให้หายซึมเศร้า

            หมั่นพูดคุยกับลูก สังเกตพฤติกรรม และสอบถามความรู้สึกเกี่ยวกับความสุขของลูก คุยกับลูกด้วยเหตุผล และขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้คอยสอดส่องดูพฤติกรรมของลูกด้วย บางทีการช่วยกันแลกเปลี่ยนปัญหากับลูกก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง แต่คุณต้องระลึกไว้ว่า หากลูกมีภาวะนี้ คุณเพียงลำพังอาจแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น คนรอบข้างลูก จิตแพทย์ เป็นต้น

 

ปริณุต ไชยนิชย์

 

ที่มาข้อมูล

Rocket Media Lab: สำรวจข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชและบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชของไทย https://www.tcijthai.com/news/2022/10/scoop/12594

เปิดสถิติ โรคซึมเศร้ากับสังคมไทย ภัยเงียบทางอารมณ์ของคนยุคใหม่ https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31459

ภาวะซึมเศร้าของเด็กนักเรียน https://he02.tci-thaijo.org/index.php/VMED/article/download/25041/21310

เด็กเศร้าเรารู้ได้ไง ? https://ycap.go.th/-/305-เด็กเศร้าเรารู้ได้ไง--

ลูกแค่เศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่ https://www.phyathai.com/article_detail/3410/th/ลูกแค่เศร้า_หรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow